หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล
1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือน ตุลาคม 2564

          ข้าพเจ้า นายนราวิชญ์ สุขใส ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้ลงพื้นที่พร้อมทีมผู้ปฏิบัติงานเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการจักสาน การสานตะกร้าด้วยหวายเทียม การออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสร้างมูลค่าให้เกิดรายได้และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมาย

          วันที่ 3 ตุลาคม 2564 และวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่ ณ บ้านเลขที่ 103 บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่ที่ 16 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสอบถามข้อมูลและความคืบหน้าในการออกแบบลวดลายของตะกร้าจาก คุณป้าทองนาค ชนะนาญ ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตตะกร้าหวายเทียมของตำบลผไทรินทร์ โดย คุณป้าทองนาค ชนะนาญ ได้ให้ข้อมูลว่ายังไม่ได้ออกแบบลวดลายใหม่ๆที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตำบล อีกทั้งยังพูดถึงปัญหาการผลิตโครงตะกร้าเองแทนการสั่งซื้อ ซึ่งการผลิตโครงตะกร้าเองนั้นค่อนข้างยากและใช้เวลาพอสมควร เนื่องด้วยกลุ่มผู้ผลิตไม่มีประสบการณ์โดยตรงในการผลิตโครงตะกร้า ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้นำสำเนาเอกสารแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตะกร้าจักสาน ที่ได้จากการประชุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นำไปมอบให้กับท่านไว้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้มีการระดมความคิดร่วมกันและเห็นชอบตรงกันว่า เราควรขยายช่องทางการค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ผู้คนและพบเจอได้ง่าย โดยการเผยแพร่สินค้าและผลิตภัณฑ์ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งสามารถกระจายข้อมูลสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่กลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานยังได้ลงมือทดลองสานตะกร้าจากหวายเทียมด้วยตนเอง ซึ่งการสานตะกร้าต้องอาศัยการเรียนรู้, ความเข้าใจ, และความอดทน เพราะหากเราสานหวายเทียมผิดวิธีจะทำให้ลวดลายในการสานนั้นไม่ตรงรูปแบบที่เราเลือกและจะต้องรื้อหวายเทียมออกจากโครงตะกร้าแล้วสานใหม่ เพื่อให้ถูกต้องตามลวดลายที่เลือก คุณป้าทองนาค ชนะนาญ กล่าวว่าหากเราเลือกลวดลายและสีของหวายเทียมให้โดดเด่นและเข้ากันจะยิ่งเพิ่มความสวยงามและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้

          สรุปผลการลงพื้นที่ ตำบลผไทรินทร์ ประจำเดือนตุลาคม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่ของผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก ไม่สามารถลงพื้นที่พร้อมกันเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันโดยจะลงพื้นที่คราวละไม่เกิน 5 คนหมุนเวียนกันไปและต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขและชุมชนโดยเคร่งครัด ในส่วนของการประชุมทีมผู้ปฏิบัติงานร่วมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตะกร้าจักสานนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาอาชีพและสร้างอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนในชุมชน ได้เข้าใจวิธีคิดและแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้เรียนรู้วิธีการสานตะกร้าในรูปแบบลวดลายที่มีความยากง่ายที่แตกต่างและเกิดการวางแผนที่จะขยายการค้าขายในท้องถิ่นไปสู่การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ในอนาคตเพื่อเป็นช่องทางการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ภาพรวมการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

 

วิดีโอการจัดกิจกรรม  ต.ผไทรินทร์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ประจำเดือนตุลาคม

อื่นๆ

เมนู