หลักสูตร : HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือนธันวาคม 2564 

ข้าพเจ้า นางสาวภัทรนันท์ ทองพา ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตําบลผไทรินทร์ อําเภอลําปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการจักสาน การสานตะกร้าด้วยหวายเทียม การทำโครงตะกร้า การออกแบบลวดลาย การทำขอบปากและหูตะกร้า การทำจูงนางและเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการสานตะกร้า

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ลงพื้นที่บ้านโคกซาด หมู่ที่ 1 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องการจักสาน การทำตะกร้า โครงตะกร้าและวัสดุอุปกรณ์ในการทำ โดยมีวิทยากร 3 ท่าน มีรายละเอียดในการประชุมดังนี้ 1.คุณอริสรา เภสัชชา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ ได้บรรยายเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ในการทำตะกร้า การสั่งซื้อวัสดุอุุปกรณ์ 2.คุณตาสว่าง บึงจันทร์ มีความสามารถด้านงานฝีมือ งานหัตถกรรม เป็นผู้คิดและทำลวดลายของผ้าไหม ชื่อว่าลายซาดในผ้าไหมมัดหมี่ของตำบลผไทรินทร์ ได้บรรยายตั้งแต่เริ่มมาทำตะกร้าจักสาน การจักสานไม้ไผ่ ทำมาเรื่อยๆก่อนจะมาเป็นนักเรียนผู้สูงอายุ โดยทำตะกร้าจากไม้ไผ่ ตะกร้าหวายเทียม กระด้ง ที่ดักปลา ค้อง ไซอันใหญ่ ไซอันเล็ก ชะลอม เป็นต้น ตะกร้าทำขายได้ประมาณ 100 ใบ ใบละ 500 บาท ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ ส่งขายที่กรุงเทพมหานคร ขายทางเพจเฟซบุ๊กของลูกสาว คุณตาสว่าง บึงจันทร์ ได้บอกถึงข้อเสียของไม้ไผ่ ถ้าทำโครงตะกร้าแล้วใช้เครื่องยิงไม้ไผ่จะแตก ไม้ไผ่ที่ใช้ในการจักสานทำตะกร้า คือไม้ไผ่บ้านถ้าถูกความร้อนก็จะแตกเหมือนกัน ต้องตัดมาเลื่อยก่อนเพื่อไม่ให้ไม้ไผ่แห้ง อีกปัญหาหนึ่งคือมอดกันกิน ต้องแช่น้ำ แช่น้ำยาก่อนเพื่อไม่ให้มีมอด ไม้ไผ่มีอายุประมาณ 3-4 ปีถึงจะสามารถนำมาทำตะกร้า ทำโครงตะกร้าได้ 3.คุณตาประเสริฐ สุทธิ มีความสามารถด้านการจักสานทุกรูปแบบ อยู่ในกลุ่มจักสานตำบลผไทรินทร์ ได้บรรยายเรื่องการจักสาน เริ่มทำการจักสานตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้ทำตะกร้า กระด้ง สุ่มขังไก่ ค้อง ไซ เป็นต้น โดยทำจากไม้ไผ่ใช้มือทำ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีเครื่องมือ หวายจะสั่งมาจากภาคเหนือจังหวัดเชียงราย ราคาหวายเส้นละ 7 บาท การย้อมสี 4-5 ครั้ง ถึงจะได้สีตามที่ต้องการและไม้ไผ่ที่ทำตะกร้าได้ดีได้สวยคือ ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่สีทอง หรือเรียกอีกชื่อว่า ไม้ไผ่เหลือง และคุณอริสรา เภสัชชา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าคุณป้าโนนไทย ทองแป้น ก็สามารถสานตะกร้าหวายเทียม ตะกร้าเชือกมัดฟางได้ การทำกระติ๊บข้าว ใช้การเย็บใช้เชือกมัดฟางเย็บขึ้นเป็นลายเย็บเหมือนถัก ทำเป็นลวดลายต่างๆได้ ซึ่งตอนนี้ทำเป็นรูปทรงเลขาคณิต

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ลงพื้นที่ ณ ศาลาประชาคม บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่ที่ 16 ตำบลผไทรินทร์  อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียนรู้การสานตะกร้าในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ขั้นตอนการทำจูงนาง กลุ่มที่ 2 ขั้นตอนการทำปากและหูของตะกร้า กลุ่มที่ 3 ขั้นตอนการทำลวดลายของตะกร้า ข้าพเจ้าอยู่กลุ่มที่ 2 คือการทำปากและหูของตะกร้า การทำปากของตะกร้าเริ่มจากการสานขอบปากตะกร้ามีหลากหลายรูปแบบ คือ 1.พันขอบตะกร้าแบบปกติ 2.ลายตาราง 3.ลายจูงนาง โดยการพันของตะกร้าแบบปกติเริ่มจากเว้นปลายเส้นหวายไว้ประมาณ 3 เซนติเมตร สอดเก็บปลายเส้นหวาย จากนั้นสอดปลายเส้นหวายอีกด้านเข้าซี่แรกสอดซี่ละ 2 รอบ เพื่อปิดไม่ให้เห็นโครงของขอบตะกร้า และสอดเข้าซี่ถัดไป ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆในลักษณะวนขวาหรือวนทางด้านที่ถนัดจนกว่าจะรอบขอบปากตะกร้า เมื่อสิ้นสุดให้สอดเก็บปลายเส้นหวายให้เรียบร้อย วิธีการเก็บปลายเส้นหวายให้ใช้หวายสอดเข้าทับเส้นเดิมซ่อนปลายตามความเหมาะสมของการขึ้นลายนั้นๆ การทำหูตะกร้า เริ่มจากเว้นปลายเส้นหวายไว้ประมาณ 3 เซนติเมตร จากนั้นใช้เส้นหวายพันทับบริเวณโครงของหูตะกร้าจนรอบในลักษณะวนขวาหรือวนทางด้านที่ถนัด เมื่อสิ้นสุดให้สอดเก็บปลายเส้นหวายให้เรียบร้อย วิธีการเก็บเส้นหวายตอนสุดเส้นก็ใช้วิธีเดิมของการซ่อนปลายหวาย

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมที่บ้านของคุณป้าทองนาค ชะนะนาน บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่ที่ 16 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเข้าไปสอบถามเรื่องขั้นตอนการสานขอบปากตะกร้าและหูตะกร้า ขั้นตอนการสานขึ้นลายตะกร้าหวายเทียม ขั้นตอนการทำจูงนางตะกร้าหวายเทียม การทำลวดลายตะกร้าแต่ละลายและวัสดุอุปกรณ์ในการสานตะกร้า

วันที่  4 ธันวาคม 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานเข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่เพื่อยกระดับเป็นสินค้าโอท็อป ที่ศาลาประชาคมบ้านโคกซาด หมู่ที่ 1 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วงบ่ายเป็นการสรุปงานตลอดโครงการเพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ยังได้มอบเงินทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องดัดโครงตะกร้าให้ชาวบ้านสามารถทำโครงตะกร้าเองได้ไม่ต้องไปรับโครงตะกร้ามาจากที่อื่นเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต

สรุปการลงพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ ประจำเดือนธันวาคม ด้านการลงพื้นที่ข้าพเจ้ามีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลขั้นตอนการสานตะกร้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการลงน้ำมันเคลือบเงาและได้ลงมือสานตะกร้าด้วยตนเองโดยมีคุณป้าทองนาค ชะนะนาน เป็นผู้สอนในทุกๆขั้นตอน การอบรมได้ เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม GOOGLE MEET เรื่องการจัดทำรายงานการทำหลักสูตรระยะสั้นโดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตร 2 ท่านให้คำแนะนำ และได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่เพื่อยกระดับเป็นสินค้าโอท็อป ที่ศาลาประชาคมบ้านโคกซาด และเป็นการสรุปงานตลอดโครงการเพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นเอกลักษณ์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

อื่นๆ

เมนู