HS04 ลงพื้นที่ปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม 2564 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย

จากมหาวิทยาลัยสู้ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

            ข้าพเจ้านางสาวศศิวรรณ นาคศรี ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2564 จึงเป็นเดือนของการสรุปผลการดำเนินงานของตำบลผไทรินทร์ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการทำตะกร้าหวาย เพื่อสรุปภาพรวมของการทำกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดทั้งปี และปัญหา อุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาที่เราจะทำในปีหน้า

            เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เวลา 19:40 – 20:40 น. โดยประมาณ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานทุกท่านพร้อมด้วยอาจารย์ประจำตำบลผไทรินทร์ จัดการประชุมวางแผนการเตรียมเล่มหลักสูตรระยะสั้น ผ่านทางระบบออนไลน์ในรูปแบบ Google Meet โดยการประชุมในครั้งนี้แบ่งหน้าที่เป็น 4 กลุ่มย่อย กลุ่มที่ 1 ได้รับหน้าที่เก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาของตะกร้าหวายในตำบลผไทรินทร์ กลุ่มที่ 2 ได้รับหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลขั้นตอนการทำตะกร้าอย่างละเอียด กลุ่มที่ 3 ได้รับหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลลายตะกร้าในตำบลผไทรินทร์เพื่อนำไปพัฒนาลวดลายเพิ่มเติมในปีงบประมาณหน้า และกลุ่มที่ 4 รับผิดชอบตัดต่อวีดีโอนำเสนอหลักสูตรระยะสั้นของตำบลผไทรินทร์เพื่อเผยแพร่ใน BRU MOOC ต่อไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่รับผิดชอบตัดต่อวีดีโอ

            วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าได้อบรมทักษะด้านดิจิตอล ผ่านระบบออนไลน์ lms.thaimooc.org ในรายวิชาไมโครซอฟท์ เพาเวอร์พอยต์ (โปรแกรมนำเสนอชิ้นงาน) Microsoft PowerPoint รหัสวิชา MICROSOFT004 จำนวน 2 ชั่วโมง และด้านสังคม ในรายวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น “ว่าวเบอร์อามัส” Local Wisdom of Kite “BERAMAS” รหัสวิชา PNCC001 จำนวน 5 ชั่วโมง ซึ่งการอบรมทั้ง 2 ด้านที่กล่าวมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินกิจกรรมติดตามผลการสานตะกร้าได้ ทั้งด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำมาออกแบบลวดลายให้ชาวบ้านได้เรียนรู้จากสื่อและการทำว่าวสามารถประยุกต์ไม้ไผ่เพื่อทำการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่น่าสนใจ ซึ่งข้าพเจ้าอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

            วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานพร้อมด้วยอาจารย์ประจำตำบลผไทรินทร์ ร่วมประชุมชี้แจ้งการจัดการข้อมูล PBM CBD และ TSI เวลา 13.30 -14.30 น. ผ่านทางระบบออนไลน์ในรูปแบบ Google Meet โดยการประชุมในครั้งนี้ทางผู้ดูแลระบบ CBD อาจารย์ ดร. ชาติวุฒิ ธนาจิรันธร ได้ชี้แจงให้อาจารย์ประจำตำบลตรวจสอบการลงข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานเรื่องการปักหมุดตาม GPS ให้ถูกต้อง และหากมีการปักหมุดผิดพลาดให้เร่งดำเนินการแก้ไข และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดพร้อมทั้งให้ดำเนินการย้ายข้อมูล CBD เดิม สำหรับผู้ที่เคยใช้บัญชีเบอร์โทรศัพท์ (OTP)  มาบัญชีอีเมล์ของตนเอง เพื่อสถิติและประโยชน์ในการแก้ไขตรวจสอบข้อมูลในอนาคต

            วันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 9:00 – 15:00 น. ณ ศาลาประชาคม หมู่ 1 บ้านโคกซาด ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพร้อมด้วยอาจารย์ประจำตำบลผไทรินทร์ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อสรุปภาพรวมของการทำกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดทั้งปี และปัญหา อุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมา โดยมีคุณอริสรา เภสัชชา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมประจำตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มาให้ความรู้ด้านการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านในชุมชนให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินโครงการ และคุณพ่อสว่าง บึงจันทร์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสานในตำบลผไทรินทร์ มาให้ความรู้ด้านการจักสานทั้งประวัติความเป็นมา ขั้นตอน และลายตะกร้า และผู้ปฏิบัติงานทุกท่านร่วมกันดำเนินการจัดทำรูปเล่มหลักสูตรระยะสั้นโดยการเก็บข้อมูลจากการอบรมในครั้งนี้

            และวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ข้าพเจ้าลงพื้นที่เก็บข้อมูล CBD เพิ่มเติมเพื่อกรอกลงเว็บไซต์ cbd.u2t.ac.th ซึ่งข้าพเจ้ารับผิดชอบลงพื้นที่หมู่ 15 บ้านสำโรงใหม่ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกข้าวเป็นหลักและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งข้าพเจ้าเก็บข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังนี้ 1. พืชในท้องถิ่นจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ มะเขือ ต้นข้าว ต้นมะขาม ต้นพะยูง ต้นประดู่ ต้นไทร ต้นไหล และ 2. สัตว์ในท้องถิ่นจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ควาย และห่าน และได้กรอกข้อมูลลงเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อย

            การปฏิบัติงานในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและดำเนินการส่งเสริมชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้เสริมทั้งยังช่วยผลักดันให้เป็นตำบลที่โดดเด่นในด้านการจักสานยิ่งขึ้น และที่สำคัญการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้นำ ชาวบ้าน และผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ทั้งนี้ข้าพเจ้าสรุปภาพรวมของการทำกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดทั้งปี และปัญหา อุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาที่เราจะทำในปีหน้าต่อไป

อื่นๆ

เมนู