HS:04 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

 ข้าพเจ้านางสาวนัยนา หอกระโทก ผู้ปฏิบัติงานประเภท นักศึกษา ประจำตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เวลา 9.00 น.ข้าพเจ้าได้ เข้าร่วมประชุมผ่าน Google Meet โดยมีท่านอาจารย์ ดร สินีนาฎ รามฤทธิ์ และคุณอริสรา เภสัชชา ได้ชี้แจงเป้าหมายหลักการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรตะกร้าจากไม้ไผ่และการออกแบบลวดลายของตะกร้าหวายเทียม ซึ่งจะเป็นการจัดทำกระบวนขั้นตอนวิธีการการทำไว้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์เพื่อให้ประชาชนที่มีความสนใจสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

รวมถึงการจัดหางบประมาณในการจัดอบรมสัมมนาในการซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ในโครงการ ให้มีความคืบหน้าและสามารถวัดผลได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้การผลิตยังใช้อุปกรณ์และภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมในการผลิต ปัจจุบันก็ยังอยู่ระหว่างจัดหาอุปกรณ์เพื่อนำมาใช้ในการผลิตด้านการออกแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของตำบลผไทรินทร์ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทธรรมะศาลา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีรูปร่างของตัวปราสาทที่แท้จริงและมีเพียงแต่รูปตามจินตนาการของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน จากที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมอบรม ท่านอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานไปหาลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ตามที่ชุมชนต้องการ เพื่อเพิ่มจุดเด่นในผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นจุดที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นผลิตภัณฑ์ของตำบลผไทรินทร์

ข้าพเจ้าได้ทำการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ. ศ. 2564 ซึ่งสืบเนื่องจากที่ได้เข้าร่วมอบรมและรับมอบหมายงานจากอาจารย์ประจำหลักสูตร ข้าพเจ้าได้ทำการลงพื้นที่ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานเพื่อเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ณ. บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่ที่ 16 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์  โดยเข้าไปสอบถามข้อมูลด้านการออกแบบลวดลายจากคุณป้าทองนาค ชนะหาญ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตตะกร้าหวายเทียมของตำบลผไทรินทร์ ท่านได้ให้ข้อมูลว่ายังไม่ได้ออกแบบลวดลายใหม่ส่วนใหญ่จะทำจากตัวอย่างที่มีอยู่ทั่วไป ลวดลายที่มีอยู่ทั่วไปก็จะเป็นลายไทยที่แสดงถึงความเป็นไทยซึ่งสามารถพบเห็นได้มากในสังคมปัจจุบัน และในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คุณป้าทองนาค ชนะหาญ ได้สอนให้ทีมผู้ปฏิบัติงานลงมือจริง ซึ่งจากที่ข้าพเจ้าได้ลงมือทดลองทำตะกร้าหวายเทียมแล้ว จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการทำนั้นไม่ยากและไม่ซับซ้อน แต่การสานตะกร้าต้องใช้การเรียนรู้และความเข้าใจในการสาน ซึ่งอาจใช้เวลานานพอสมควร เช่นในการสานลายของตะกร้าหากผิด 1 ช่องต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด การทำตะกร้าจะต้องใช้สมาธิที่มากพอสมควร 

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงปัญหาข้างต้นของการทำตะกร้าหวายเทียม ซึ่งจะต้องใช้วัสดุที่ไม่ได้มีอยู่ในชุมชนจะต้องสั่งผ่านระบบออนไลน์ทำให้ต้นทุนสูงและมีกำไรน้อย การออกแบบลวดลายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ที่จะบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นของตำบลผไทรินทร์ ในการนี้ข้าพเจ้าได้เสนอการเพิ่มลวดลายบนตะกร้าหวายเพื่อเป็นแนวทางและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ให้กลุ่มผลิตภัณฑ์มีแนวคิดเกี่ยวกับลวดลายใหม่ๆข้าพเจ้าจะติดตามการออกแบบลวดลายของตะกร้าหวายเทียมสืบไป

          การลงพื้นที่ประจำเดือนกันยายน จากสถานการณ์การแพ่ระบาดของโรค โควิด-19 ส่งผลต่อการลงพื้นที่ของทีมผู้ปฏิบัติงานอย่างมากซึ่งไม่สามารถทำให้ทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ โดยทางอาจารย์ประจำหลักสูตรพร้อมทีมผู้ปฏิบัติงานปรึกษาเกี่ยวกับการลงพื้นที่โดยจะหมุนเวียนกันไปเพื่อปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขและชุมชนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับความรู้จากการลงพื้นที่เกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการทำตะกร้าหวาย จากคุณป้าทองนาค ชนะหาญ ตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ประจำตำบลผไทรินทร์ และทราบถึงปัญหาการทำตะกร้าหวายของชุมชนพร้อมกับตั้งคำถามแลกเปลี่ยนเสนอแนะข้อคิดเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นแนวทางในการเพิ่มลวดลายของตะกร้าหวายเทียมข้าพเจ้าจะติดตามผลิตภัณฑ์ประจำตำบลผไทรินทร์ตามที่อาจารย์ประจำหลักสูตรมอบหมายให้สืบไป

อื่นๆ

เมนู