HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ประจำเดือนธันวาคม 2564

ข้าพเจ้า นางสาวจรรยา พันธ์โยศรี ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในการปฏิบัติงานเดือนธันวาคมเป็นการปฏิบัติงานเดือนสุดท้ายของโครงการวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564  อาจารย์ประจำหลักสูตรพร้อมด้วยทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่บ้านโคกซาด หมู่ที่1 ที่ศาลากลางหมู่บ้านเข้าร่วมอบรมความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของไม้ไผ่

วิทยากรท่านที่ 1 คุณอริสรา เภสัชชา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมประจำองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน คือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวาย จากฝีมือความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านมีลักษณะรูปทรงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น คำว่า “ จักสาน” คำว่า จัก คือ การทำให้เป็นแฉก เป็นหยักๆ ด้วยฟันเลื่อย หรืออีกวิธีการหนึ่ง การที่ชาวบ้านใช้คมมีดผ่าไม้ไผ่แล้วทำให้เป็นเส้นบางๆ วิธีการอย่างนี้ก็เรียกว่า จัก เช่นกัน ส่วนไม้ไผ่ หรือ หวาย ที่จักออกมาเป็นเส้นบางๆ นั้นเรียกว่า ตอก ถึงตอนนี้การที่ชาวบ้านนำตอกมาขัดกันจนเกิดลวดลายที่ต้องการ เราเรียกว่า สาน ต่อจากนั้นแล้วก็จะเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดรูปทรงต่างๆ จนท้ายที่สุดเป็นภาชนะสามารถนำไปใช้สอยได้ตามต้องการ การที่ตำบลผไทรินทร์นำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนเพราะมีภูมิปัญญาอยู่เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ชาวบ้านทั่วไป รวมทั้งกลุ่มสตรีที่สามารถเชื่อมโยงกันได้

วิทยากรท่านที่ 2 คุณตาสว่าง บึงจันทร์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านหัตกรรม ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ สามารถออกแบบลวดลายได้เองจนที่ยอมรับของชุมชน ได้กล่าวถึงปัญหาในการทำโครงตะกร้าจากไม้ไผ่ดังนี้

– การยิงด้วยปืนลมทำให้ไม้ไผ่แตกได้พยายามหาแนวทางแก้ไขด้วยวิธีต่างๆเช่น การเลือกใช้ปืนลมชนิดขาคู่ ขาเดี่ยว เลือกไม้ไผ่ชนิดต่างๆแต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

– ปัญหามอดเจาะไม้ไผ่ ได้เลือกใช้ไม้ไผ่ที่อายุที่เหมาะกับการใช้งานไม้ไผ่อายุ 2-3 ปีมอดจะชอบเจาะ อายุ3-4 ปีเหมาะในการนำมาใช้จักสานมอดจะไม่ค่อยเจาะ ไม้ไผ่อายุ 5 ปีขึ้นไปมอดไม่เจาะแต่จะแก่เกินไปทำให้ดัดโค้งงอได้ยาก นอกจากนี้อาจารย์ชมพูได้เสนอวิธีการป้องกันมอดเจาะไม้ไผ่ด้วยการทอดด้วยน้ำมันพืชที่ได้แนวคิดมาจากผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์

วิทยากรท่านที่ 3 คุณตาประเสริฐ สุทธิ ได้กล่าวถึงเทคนิคในการจักตอกที่เป็นที่นิยมทำ

  1. การจักตอกปื้น แบ่งม้ไผ่ออกเป็นชิ้นๆตามขนาดที่ต้องการ ใช้มีดจักตอกเอาส่วนในออก (ขี้ตอก)จักในส่วนที่เหลือออกเป็นเส้นบางๆ แล้วหลาวให้เรียบร้อยตากแดดให้แห้ง
  2. การจักตอกตะแคง ใช้วิธีเดียวกันกับการจักตอกปื้นเบื้องต้น แต่การจักให้เป็นเส้นตอกจะทำการจักทางผิวเป็นเส้นเล็กกว่าตอกปื้น แล้วทำการหลาวให้เรียบร้อย
  3. การจักตอกกลม คือการจักตอกให้เป็นสี่เหลี่ยมแล้วเหลาลบเหลี่ยมให้กลม ใช้สำหรับการสานไซดักปลา

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเชิงสหวิทยาการแบบออนไซต์และออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะเดิมเพิ่มเติมทักษะใหม่และรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่บริการวิชาการของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ณ ห้องประชุมมนุษยสังคมวัฒนาอาคาร 25 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รศ.มาลินี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  เป็นประธานเปิดงาน รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวรายงานเกี่ยวกับโครงการการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เป็นไปตามแนวทางการดำเนินการระบบคลังหน่วยกิตตระดับอุดมศึกษา การเรียนการสอนในอนาคตจะมีการจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเก็บสะสมหน่วยกิตแล้วสามารถเทียบโอนในระดับมหาวิทยาลัย ได้เชิญวิทยากรมาร่วมเสวนาในการหาแนวทางการจัดทำหลักสูตร 5 ท่าน

1.คุณสิทธิชัย สุดสวาท ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับฝีมือแรงงาน มาตรฐานของฝีมือแรงงาน ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคน คือปัญหาการสื่อสารระหว่างหน่วยงานและผู้ปฏิบัติ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไข วิธีการ ค่าใช้จ่าย ระยะเวลาในการอบรม และสิ่งสำคัญในการจัดทำหลักสูตรในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปต้องเลือกวิชาที่เหมาะสมการบริหารจัดการบริบทให้ทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและการเลือกวิทยากรให้เหมาะสมกับงาน

2.คุณไขแสง ซอกรัมย์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) โครงสร้างหลักสูตรของกศน.เริ่มจากสำรวจความต้องการเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพ  เป้าหมายหลักคือประชาชนทั่วไปสามารถทำได้จริงและต่อยอดได้ วิทยากรส่วนมากเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ภาคีเครือข่าย ปัญหาและอุปสรรคที่พบเกี่ยวกับช่วงวัยของผู้เรียนและเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้าไปไม่ถึงในพื้นที่ที่ให้บริการ

3.คุณปฐม นิ่มหัตถา วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ การจัดการเรียนการสอนวิเคราะห์จากปัญหาของชุมชนก่อนการพัฒนาเป็นหลักสูตรต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ความสะดวกทั้งในเวลาและสถานที่ทำให้มีแนวคิดทำเป็นหลักสูตร”หนึ่งหลักสูตร หนึ่งฤดูกาล” ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือความเข้าใจกับชุมชนและช่วงวัยของผู้เรียน การแก้ไขด้วยการสานสัมพันธ์อันดีกับชุมชนส่วนมากเน้นในภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี กระบวนการพัฒนาหลักสูตรคือต้องทำให้เร็วและสอดคล้องกับความต้องการ

4.คุณอาทิตย์ จำปาพุฒ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ โครงสร้างหลักสูตรเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก ทฤษฏี 1 ส่วน ปฏิบัติ 2 ส่วน หลักสูตรละ3-30 ชั่วโมง การจัดทำหลักสูตรอบรมมีความหลากหลายจัดตามประเภทการเกษตร เน้นอาชีพของชุมชนนอกระบบที่ยังไม่มีอาชีพ กลุ่มที่มีอาชีพอยู่แล้วอบรมเพื่อพัฒนาต่อยอด ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการจัดทำหลักสูตรคือ คนในองค์กรเพราะภารกิจของวิทยาลัยเกษตรต้องทำตามนโยบายและทำตามภารกิจขององค์กร ในส่วนของชุมชนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อบรรลุถึงความต้องการของชุมชนที่แท้จริง

5.ผศ.ดร.รพีพรรณ พงษ์อินทร์วงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ภารกิจของมหาวิทยาลัยเป็นการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ต่อไปในอนาคตการเรียนการสอนในภาคปกติจะลดน้อยลง มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการศึกษาโดยการจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมในด้านการดำเนินชีวิต เนื้อหาหลักสูตรที่จะนำมาจัดทำจะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ในอนาคตเทคโนโลยีในการศึกษาจะเปลี่ยนไปไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียน inside และ outside สามารถสะสมหน่วยกิตแล้วนำมาเทียบโอนในมหาวิทยาลัยได้ ปัญหาและแนวทางแก้ไข หลักสูตรต้องสอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อบรรจุเป็นหลักสูตรแล้วการอธิบายหลักสูตรต้องสอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเพื่อการเทียบโอนหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยได้ และการแต่งตั้งกรรมการพัฒนาหลักสูตรต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆเพื่อการต่อยอดหลักสูตรนั้นได้

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(1ตำบล 1มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จำนวน 11 ตำบล ตำบลผไทรินทร์ได้นำเสนอโครงการจักสานจากไม้ไผ่เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เข้าร่วมการอบรมหัวข้อ สาธิตการทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ที่ศาลาประชาคมบ้านโคกงิ้ว หมู่16 เป็นการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนการทำตะกร้าหวายเทียมเพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้น ได้จัดแบ่งทีมผู้ปฏิบัติงานเป็น 3 กลุ่มโดยให้แต่ละกลุ่มเขียนรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนและถ่ายเป็นคลิปวิดีโอ

วันที่ 4 ธันวาคม 2564 เข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่เพื่อยกระดับเป็นสินค้าโอทอปและได้รับรองคุณภาพและมาตรฐาน ที่บ้านโคกซาดหมู่ที่ 1 เป็นการสรุปงานตลอดโครงการเพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วงบ่ายเป็นการอบรมการพัฒนาศักภาพของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเพิ่มศักภาพที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการในอนาคต เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางมหาวิทยาลัยได้มีการมอบเงินอุดหนุนโครงการเพื่อจัดซื้อเครื่องดัดโครงตะกร้าให้กับกลุ่มสานตะกร้าหวายเทียมรับมอบโดยคุณอริสสรา เภสัชชา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการและสังคมประจำองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์

สรุปการปฏิบัติงานเดือนธันวาคม 2564 การทำตะกร้าหวายเทียมของตำบลผไทรินทร์มีการรวมกลุ่มของผู้สานตะกร้ามากขึ้นมีการริเริ่มทำโครงตะกร้าเองเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง แต่การดำเนินงานยังไม่บรรลุผลสำเร็จที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริง ต้องมีการพัฒนาในอีกหลายๆส่วนทั้งในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด การบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต การปฏิบัติงานเดือนสุดท้ายของโครงการเป็นการสรุปผลงานตลอด 11 เดือนของการดำเนินโครงการทำให้ทราบถึงปัญหา ความต้องการตลอดจนถึงศักยภาพของคนในชุมชนที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติและเป็นการรากแก้วให้ประเทศเพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ของโคงการ

อื่นๆ

เมนู