หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือน กรกฎาคม 2564

ข้าพเจ้า นางสาวขนิษฐา วังหิน ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้ดำเนินการทำคลิปวิดีโอแข่งขันในโครงการ U2T Hackathon 2021 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมประชุมช่องทางออนไลน์ เพื่อเตรียมข้อมูลและวางแผนการถ่ายทำวิดีโอ และ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ U2T Hackathon 2021 ได้ร่วมกันถ่ายทำวิดีโอเพื่อส่งเข้าแข่งขัน โดยใช้ชื่อทีมว่า Phathairin Move Forward (PMF) ซึ่งมีความหมายว่า การขับเคลื่อนตำบลผไทรินทร์ให้ก้าวหน้า เพราะเราจะร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนตำบลผไทรินทร์ เพื่อให้ตำบลผไทรินทร์ของเราเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต ซึ่งตำบลผไทรินทร์เป็นอีกหนึ่งตำบลของอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการทำเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ โดยอาศัยไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียงกว่า100ชนิดแต่ที่นิยมนำมาจักสานได้แก่ ไม้ไผ่ใหญ่ ที่นิยมปลูกไว้รอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อใช้หน่อไม้เป็นอาหารและใช้ลำต้นมาดัดแปลงทำเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า กระด้ง ลอบตักปลา ไซ กระติบข้าว เป็นต้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ได้มองเห็นความสามารถและภูมิปัญญาชาวบ้านจึงได้จัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความรู้ทางด้านจักสานมาถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป และนอกจากนี้ยังมีการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่และหวายเทียม เพื่อยกระดับเป็นสินค้า OTOP และสร้างรายได้ให้ชุมชนอันเป็นการพัฒนาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชน ชาวตำบลผไทรินทร์

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ทีมผู้ปฏิบัติงาน อาจารย์ประจำหลักสูตร และกลุ่มตัวแทนที่ทำผลิตภัณฑ์จักสานตำบลผไทรินทร์ ได้เข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ เรื่องการส่งเสริมการจักสาน การติดตามผลการออกแบบเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่นให้กับผลิตภัณฑ์ตะกร้าหวายเทียม โดยมี คุณอริสรา เภสัชชา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมประจำองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ เป็นผู้ดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน โดยการทำตะกร้าหวายเทียม จะต้องมีการทำโครงที่แข็งแรง ไม่แตกหักง่าย ซึ่งจะทำจากหวายหรือไม้ไผ่ ส่วนในด้านของการสาน การออกแบบลวดลาย เริ่มจะไปในแนวทางที่ดี เนื่องจากมีการทดลองการนำวัสดุต่าง ๆ มาสาน เช่น หวายเทียม ตอกไม้ไผ่ ต้นไหล ที่ได้มีการดัดแปลงวิธีการ เพื่อที่จะสามารถนำมาทำได้ง่ายขึ้นรวดเร็วและสวยงามตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค

ข้าพเจ้าได้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหวายเทียม หวายเทียม (Resin Wicker) เป็นเส้นงานสานสังเคราะห์ PE (พลาสติกประเภทหนึ่ง) ที่เหมาะกับสภาพอากาศทุกประเภท (all-weather wicker) เส้นหวายเทียมได้รับการออกแบบ พัฒนา ด้วยเทคโนโลยี ที่ให้ดูเสมือนหวายแท้หรือหวายธรรมชาติ โดยใช้วัสดุสังเคราะห์ (Synthetic Material) อาทิ โพลิเอททาลีน (ประเภทหนึ่งของพลาสติก) ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยเส้นสังเคราะห์นี้จึงมีความคงทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ และไม่เสื่อมสลายได้ง่ายๆ เหมือนวัสดุธรรมชาติ เหตุผลที่หวายเทียมถูกเรียกว่าเป็นเส้นหวายสำหรับทุกสภาพอากาศเพราะว่าเป็นเส้นที่กันน้ำ (water resistant) ทนต่อสภาพอากาศชื้นและในหน้าฝน นอกจากนี้สีของเส้นหวายเทียม (Resin Wicker) ไม่หลุดลอกเหมือนกับสีที่ใช้ทาบนหวายธรรมชาติ เนื่องด้วยสีถูกย้อมไปกับเส้นหวายระหว่างการผลิตเส้น

นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่อง การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ภายใต้ชื่อโครงการ ประชาสัมพันธ์การณรงค์โควิด-19 ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด มีวิทยากรคือ คุณฉัตรติญา จำปาทิพย์ พยาบาลวิชาชีพให้ความรู้ในด้านสุขภาพการดูแลตนเองในช่วงการแพรระบาดโรคโควิด-19 และได้มีการแนะนำเชิญชวนชาวบ้านให้มาฉีดวัคซีน ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้ร่วมทำกิจกรรม “คลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้ายสร้างความปลอดภัยในชุมชน” ลงพื้นที่ทำความสะอาดบริเวณวัดสีชวา เป็นวัดประจำหมู่บ้านสีชวา ตำบลผไทรินทร์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีประชาชนเข้ามาทำกิจกรรมเป็นจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสและการกระจายของเชื้อโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้าน พืชในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น ของหมู่บ้านในตำบลผไทรินทร์ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายในการลงพื้นที่ บ้านหนองมะค่า หมู่ 8 ต.ผไทรินทร์อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูล โดยได้ทำการประสานงานไปยังผู้ใหญ่บ้านเพื่อขออนุญาตในการลงพื้นที่เพื่อดำเนินงาน และได้รับความอนุเคราะห์จากผู้นำชุมชนรวมถึงชาวบ้านเป็นอย่างดี

จากการเข้าร่วมทำกิจกรรมข้าพเจ้าได้มองเห็นถึงความสามารถและความพยายามของกลุ่มชาวบ้านในการทำการจักสานตะกร้า ให้มีลวดลายใหม่ๆที่น่าสนใจ การแก้ไขปัญหาระหว่างการจักสานเพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาขายได้ มีการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพแก่บุคคลที่ว่างงาน ส่วนเรื่องการเข้าร่วมประชาสัมพันธ์การณรงค์โควิด-19 ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด ทางตำบลผไทรินทร์ได้มีผู้นำที่สามารถมาให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นพยาบาลหรือกลุ่ม อสม.ประจำหมู่บ้าน ให้ความรู้ในด้านสุขภาพการดูแลตนเองในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และชาวตำบลผไทรินทร์ก็ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองเป็นอย่างดี

ภาพรวมการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

วิดีโอการจัดกิจกรรม  ต.ผไทรินทร์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ประจำเดือนกรกฎาคม

อื่นๆ

เมนู