หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือน กรกฎาคม 2564
ดิฉัน นางสาวสุจรรยา พวกขุนทด ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน ดำเนินงานในพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ได้ลงพื้นที่ และเข้าร่วมประชุมโดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานของตำบลผไทรินทร์,ตัวแทนจากกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์เข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามผลการออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่นประจำตำบล ผไทรินทร์ โดยมีคุณอิสรา เภสัชชา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมประจำองค์กรการบริหารส่วนตำบล ผไทรินทร์ เป็นผู้ดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ได้มอบหมายให้ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตตะกร้าหวายเทียมจำนวนทั้งหมด 8 ท่าน มีรายชื่อ 1.คุณละออ บึงจันทร์ บ้านโคกซาด 2.คุณทองนาค ชนะนาญ บ้านโคกงิ้วใหม่ 3. คุณสุวรรณี วิจิตศักดิ์ บ้านผไทรินทร์ 4.คุณต้อย แสนชูปา บ้าน โคกซาด 5.คุณมลไพร ทองแป้น บ้านโคกซาด 6.คุณเสน่ห์ นาคพิพัฒน์ บ้าน โคกสว่าง 7.คุณเรียม สาโรจน์ บ้านโคกงิ้วใหม่ 8.คุณอำภา เมืองกลาง บ้านสีชวา ได้ทดลองออกแบบท่านละ 1 ใบ โดยการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาสานประกอบเข้าไปเป็นใบตะกร้าร่วมกับหวายเทียม ได้ลวดลายจากการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตแต่ละท่าน
เมื่อวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2564 ดิฉันได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลวิธิการทำผลิตภัณฑ์จักสานเพิ่มเติม ณ บ้านเลขที่ 43 บ้านโคกซาด หมู่ที่ 1 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์หมู่บ้าน โดยได้สอบถามข้อมูลจากคุณละออ บึงจันทร์ อายุ 67 ปี และนายสว่าง บึงจันทร์ เป็นผู้ออกแบบตะกร้าหวายลายดอกโคกซาด ที่เป็นเอกลักษณ์มาจาก ต้นไม้ ที่มีนามเรียกต้นซาด และเป็นต้นไม้ประจำหมู่บ้าน ดิฉันได้ขอเรียนรู้วิธีการทำ กระด้งจักสารไม้ไผ่ จากคุณตาสว่าง บึงจันทร์ โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำดังนี้
- 1. มีดโต้เอาไว้ตัดหรือผ่าไม้
- มีดตอกเอาไว้จักและเหลาไม้
- เลื่อยลันดาเอาไว้ตัดไม้
- ค้อนไม้เอาไว้ตีทุบมีดเวลาผ่าไม้
- เหล็กในหรือเหล็กแหลมเอาไว้เจาะนำตอกหรือลวดมัด
- เศษผ้าเอาไว้สำหรับพันนิ้วเมื่อเวลาเหลาไม้
วัสดุที่ใช้
- ไม้ไผ่ 2. ลวดหรือหวายเส้นเล็กมีไว้มัดขอบปาก
รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน มี 8 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเลือกไม้ไผ่
ที่จะนำมาจักสานถ้าจะให้ดีพอเหมาะแก่การใช้งานแล้วควรจะเป็นไม้ที่เจริญเติบโตตามปกติไม่แคะ แกรน ไม่บิดงอ ไม่เป็นมอดแมง ผิวไม่ถลอก มีระยะของปล้องระหว่าง 35-40 เซนติเมตร และมีอายุระหว่าง 1-2 ปี จะใช้สานได้ดี เพราะไม้ในช่วงอายุดังกล่าวจะผ่า จัก เหลา และสานได้ง่าย ดัดโค้งได้ไม่แตกหัก หากไม้แก่เกินไปจะทำให้ยุ่งยาก เหลายาก เปราะแข็งเกินไป ลำบากในการนำมาสาน หากไม้อ่อนไปก็เสาะ หักง่าย บวม สานได้ไม่ค่อยแน่น ไม่ควรใช้ไม้ไผ่ที่มีสีต่างกัน ไม้ไผ่ที่ตากแห้งมานาน เป็นรา และไม้ไผ่ที่ถูกไฟไหม้กอ เมื่อตัดไม้มาจากกอแล้วก็จะมาแบ่งไม้ทั้งลำออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. ส่วนโคนต้นจะเลือกเอาไว้ทำไม้ขัดก้น หรือทำตังมัง เพราะส่วนนี้ไม้จะแข็งดี 2.ส่วนต่อจากโคนจะเลือกเอาไว้ทำตอกตั้ง ปกติแล้วจะตัดเป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละ 2 ปล้องประมาณ 80 เซนติเมตร 3.ส่วนที่ 3 ส่วนนี้จะตัดไว้ยาวหน่อยเพื่อทำตอกเวียนหรือตอกสานซึ่งจะตัดแต่ละท่อนยาวประมาณ 4-6 ปล้อง แล้วแต่ไม้จะอำนวย 4. ส่วนปลาย เลือกเอาไว้สำหรับขอบปาก เพราะส่วนปลายยังอ่อนอยู่สามารถดัดแต่งโค้งได้ง่ายกว่าส่วนโคน
ขั้นตอนที่ 2 การผ่า
เมื่อได้ไม้มาและตัดแบ่งเป็นส่วน ๆ แล้ว จะนำมาผ่าและจัก การผ่าจะผ่าจากปลายลงมาหาโคน และผ่าทแยงให้เฉียดตาทั้ง 2 ข้าง การผ่าและจักนี้นิยมผ่าและจักทีละท่อน ไม่นิยมผ่าทิ้งไว้ ทั้งนี้เพราะถ้าจักไม่ทันแล้วจะทำให้เหนียวจักยาก ลำบากในการจักและเหลา การผ่านิยมผ่ากลางก่อนแล้วจึงผ่าซอยออกเป็นซี่ ๆ ตามขนาดความกว้างของตอกที่จะสาน ปกติการสานกระเชอ (กระบุง) นั้นจะผ่าแต่ละซี่ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร
ขั้นตอนที่ 3 การจักตอก
การจักตอกนั้นเมื่อผ่าออกมาเป็นซี่ ๆ แล้วก็จะทำการผ่าไส้ในออก(เยื่อไม้) ส่วนผิวนอกก็จะขูดแต่งให้เรียบร้อย ตอกมี 1 ชนิด คือ ตอกปื้น (จักตามผิว) และตอกตะแคง (จักขวางผิว) การสานกระเชอนิยมจักตามผิว สำหรับตอกตั้งนั้นตรงกลางที่จะสานเป็นก้นของกระเชอ ต้องเสี้ยมตอกให้เรียบก่อนแล้วจึงจัก ทั้งนี้เพราะส่วนก้นของกระเชอจะแคบกว่าส่วนปากตอกแต่ละเส้นจะจักให้มีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร เท่านั้น ทั้งเส้นสานและเส้นยืนส่วนตอกเส้นสานที่ใช้สำหรับสานไพรนั้นจะจักและเหลาเป็นเส้นเล็ก ๆ กลม ๆ ขนาดหน้าตัดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีความยาวเท่ากับตอกสานโดยทั่วไป
ขั้นตอนที่ 4 การเหลา
เมื่อจักเรียบร้อยแล้วก็จะเหลา (จะจักและเหลาให้เสร็จเป็นท่อน ๆ ) การเหลานั้นปกติจะใช้ผ้าพันนิ้วมือที่รองตอกก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้มีดหรือคมไม้บาดมือได้ในการเหลาตอกสำหรับสานไพร ช่างบางคนจะเหลาทีละ 4-5 เส้น พร้อมกัน โดยการจับรวบกันเหลา ถ้าเหลาที่ละเส้นจะทำให้ช้า
ขั้นตอนที่ 5 การก่อก้น
เมื่อเตรียมตอกเรียบร้อยแล้วก็จะก่อก้นจำนวนเส้นที่ใช้ก่ออาจเป็นเส้นคู่หรือคี่ เช่น 26 เส้น, 27เส้น หรือ 32 เส้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเราจะสานกระด้ง (กระบุง) ขนาดเท่าใด และการก่อก้นนี้ช่างนิยมนำเอาตอกส่วนที่ติดผิวไว้ตรงกลาง 2-3 คู่ ที่เหลือจึงจะเป็นตอกส่วนใน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและสวยงามและต้องแบ่งตอกแต่ละข้างออกเท่า ๆ กัน ทั้งนี้เพื่อตอกจะได้เสมอเวลาขึ้นรูปแล้ว
ขั้นตอนที่ 6 การสานใช้ไม้ขัดก้น
เมื่อก่อแล้วก็จะสานก้นให้เรียบร้อย การสานก้นนี้จะต้องให้ตอก 2 ข้างห่างเท่า ๆ กันจะต้องเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่า พร้อมนี้ก็ต้องจัดตอกส่วนที่ยื่นออกไปทั้ง 4 ด้านให้เท่า ๆ กันด้วย เมื่อสานก้นเรียบร้อยแล้วก็จะหาไม้ 2 อันมาขัดกัน โดยการขัดไขว้กัน 2 อัน เพื่อให้แข็งแรงก่อนที่จะขึ้นรูปต่อไป
ขั้นตอนที่ 7 การสานขึ้นรูป และสานไพร
เมื่อขัดก้นเรียบร้อยแล้วก็จะใช้ตอกเวียนหรือตอกสานมาสานขึ้นรูป การขึ้นรูปนี้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่ง หากช่างที่สานไม่ชำนาญอาจจะทำให้กระเชอที่สานบิดเบี้ยวได้ การขึ้นรูปนี้จะทำการหักมุมตอกยืน โดยใช้ดันกับหัวเข่า และจะต้องดึงแต่ละมุมให้เท่า ๆ กันอีกด้วย การสานนั้นปกติทำกันอยู่ 2 ลาย คือ ลาย 2 ขัดดี และลายดอกจันทน์ การสานไพรเมื่อทำการสานเป็นรูปทรงแล้วก่อนจะหมดตอกตั้งประมาณ 10 เซนติเมตร จะใช้ตอกเส้นเล็กทำการสานไพร การสานไพรนี้ก็เพื่อช่วยให้การเชอมั่นคงแข็งแรงนั้นเอง
ขั้นตอนสุดท้าย การตัดแต่งปากและการเข้าขอบ
เมื่อสานไพรเรียบร้อยแล้วก็จะทำการตัดปลายตอกตั้งให้เสมอกัน ก่อนที่จะทำการใส่ขอบปากต่อไปการเข้าขอบกระเชอจะทำจากไม้ 2 วง คือวงนอกและวงในโดยทำการขดให้กลมและมัดตากแดดทิ้งเอาไว้ให้แห้งได้ขนาดตามที่ต้องการ เสร็จแล้วก็นำไม้ขอบมาแกะมัดออกจากกัน โดยให้วงหนึ่งอยู่ด้านในอีกวงหนึ่งอยู่ด้านนอกของปากกระเชอ ระหว่างกลางขอบทั้งสองจะใส่ไม้มอมปากเข้าไป 3 เส้น โดยใช้วิธีพันไขว้กันแล้วใช้เหล็กแหลมแทงนำก่อนที่จะใช้ตอกเส้นเล็กมัดตรึงให้ติดกัน และแต่งให้กลมก่อนที่จะใช้ลวดหรือหวายมามัดแต่งให้เรียบร้อยอีกทีหนึ่งเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
สรุปผลการปฏิบัติงานเดือน กรกฎาคม 2564 ในด้านกิจกรรม การลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้วิธีการทำจักสานไม้ไผ่จากชุมชน แบบเจาะลึกและได้ทดลองปฏิบัติติจริงพร้อมเรียนรู้ ทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาของชาวบ้าน ความรู้แบบการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ดัดแปลงเป็นสิ่งของเครื่องใช้ และผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถทำเป็นอาชีพส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย