1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS05 - ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ
  4. “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้า นางสาวสิริมา กะตะศรีลา ประเภทนักศึกษา ปฏิบัติงานประจำพื้นที่ ณ หมู่บ้านหนองสองห้อง  ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (หลักสูตร HS05) การทอผ้าไหมลายขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันในทุกพื้นที่ของประเทศไทย  ทำให้ประชาชนต้องอยู่กันอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น  ประชาชนในหมู่บ้านหนองสองห้อง  ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวนี้  จึงยังคงใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเข้มงวดโดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะและเมื่อต้องพบปะกับบุคคลอื่น   โดยมีทีม อสม. ประจำหมู่บ้านคอยวัดอุณหภูมิและมีการใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในตอนนี้ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถลงพื้นที่สอบถามข้อมูลโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ได้ตามปกติได้  ข้าพเจ้าจึงแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการหาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต  สื่อโซเชียลต่างๆ  และการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ จากข้อมูลที่ได้พบว่าประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาที่สำคัญคือ การขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว  หลายคนตกงานเพราะนายจ้างไม่สามารถจ้างต่อได้  จึงต้องออกมาอยู่บ้านและรอคอยฤดูการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว

        จากการที่ข้าพเจ้าได้ข้อมูลมาจึงทำให้ทราบว่า  มีคนบางส่วนในตำบลเมืองแฝก สามารถสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยการทอผ้าไหมลายขิดยกดอก ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นำเสนอข้อมูลต่อไปนี้

        โดยปกติทางภาคอิสานจะมีความคุ้ยเคยกับผ้าไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนมาก  ซึ่งจะมีลวดลาย และสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมในพื้นถิ่น โดยกรรมวิธีทำให้เกิดลวดลายในผ้าไหมไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ลวดลายจากกรรมวิธีการทอ เช่น จก ยก ขิด ขัด ลวดลายจากกรรมวิธีการเตรียมลวดลายเส้นด้ายก่อนทอ เช่น การมัดหมี่ และลวดลายจากกรรมวิธีการทำลวดลายหลังจากเป็นผืนผ้า

เช่น การย้อม การมัดย้อมและสร้างสรรค์ลวดลายด้วยเทคนิคมัดหมี่ คือ กรรมวิธีในการทอผ้าอย่างหนึ่งที่สร้างลวดลายก่อนย้อม โดยเอาเชือกมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะๆ ตามลาย เมื่อย้อมสีจะไม่ติดส่วนที่มัดไว้ทำให้เกิดลวดลาย ถ้าต้องการให้มีหลายสีก็ต้องย้อมหลายครั้งจนครบสีที่ต้องการ การย้อมทำได้ 2 วิธี คือ การย้อมเส้นยืนตามความยาวของผ้า และการย้อมเส้นพุ่ง ซึ่งสามารถสร้างลายได้ไม่จำกัดความยาวของผ้า การทอผ้ามัดหมี่ต้องทอด้วยกี่พี้นบ้านที่มีเสาสี่เสาและต้องใช้ฟืม ส่วนการย้อมเส้นพุ่งและเส้นยืนเดียวกันยังมีทออยู่บ้าง ซึ่งทอผ้ามัดหมี่ที่ย้อมทั้งด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่งมีคุณภาพดีที่สุด การทอผ้ามัดหมี่ที่ย้อมด้วยเส้นพุ่ง นิยมทอด้วยด้ายที่ทำจากเส้นใยพืชและย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง สีครามจากต้นคราม ปัจจุบันชั่งมัดหมี่นิยมใช้น้ำยากัดสีที่เรียกว่า ฟอกสี คือ เมื่อมัดหมี่ได้สีที่ต้องการแล้ว ใส่น้ำยาฟอกสีลงไปจะทำให้สีจางลง เมื่อนำไปย้อมอีกสีหนึ่ง สีจะสดใส และสามารถย้อมสีได้มากกว่าการมัดหมี่แบบพื้นบ้าน การทอผ้ามัดหมี่ ทอได้ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายซึ่งมีกรรมวิธีคล้ายกัน แต่ส่วนมากนิยมทอไหมมัดหมี่มากกว่า เพราะไหมมีเส้นใยละเอียดและเป็นเงา ทำให้ผ้ามีลวดลายสวยงาม

ผ้าไหมลายขิดยกดอก  

        ผ้าไหมลายขิดยกดอกเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมาจากจังหวัดราชบุรีโดยคุณจักรพงษ์  อัลทะชัย  ซึ่งได้ย้ายมาอาศัยมาอยู่ที่บ้านโคกสว่าง ตำบลเมืองแฝกเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร ด้วยครอบครัวและญาติพี่น้องมีอาชีพหลักคือการทอผ้า  ดังนั้นคุณจักรพงษ์จึงได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ มาจากบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมายาวนาน   เทคนิคที่ใช้ในการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกคือจะทอด้วยเทคนิคยกดอกหรือขิด การขิดเป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสาน หมายถึง สะกิดหรืองัดช้อนขึ้น ดังนั้นการทอผ้าขิดจึงหมายถึงกรรมวิธีการทอที่ผู้ทอใช้ไม้ เรียกว่า “ไม้เก็บขิด” สะกิดหรือช้อนเส้นยืนยกขึ้นเป็นช่วงระยะตามลวดลายตลอดหน้าผ้า แล้วพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนว ทำให้เกิดเป็นลวดลายยกตัวนูนบนผืนผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายซ้ำๆ ตลอดแนวผ้า

         ผ้าขิดมีการทอในหลายพื้นที่ ลวดลาย สีสัน และการใช้งานแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กลุ่มชาวภูไท ไทลาว และไทกูยหรือส่วยเขมร ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มไทยวนและไทลื้อ ในภาคกลาง เช่น กลุ่มไทครั่งหรือลาวครั่ง และในภาคใต้ที่บ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง

         ในชาวอีสานโดยทั่วไป นิยมทอผ้าขิดด้วยฝ้ายเพื่อใช้ทำหมอน โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายหอปราสาทหรือธรรมาสน์ ลายพญานาค ลายช้าง ลายม้า ลายดอกแก้ว เป็นต้น ลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้น นิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง

         ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ มีการทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าฝ้าย

         ข้าพเจ้าคิดว่าการทอผ้าไหมลายขิดเป็นแนวทางที่ทำให้คนในชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนในชุมชนได้ นอกจากนั้นการทอผ้าไหมลายขิดยังเป็นการช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของคนในชุมชนและสามารถสืบทอดให้กับคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และได้ประโยชน์จากการทำผ้าไหมลายขิดเพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนในภายภาคหน้าได้

แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.bongkodsilkshop.com/

https://archive.sacict.or.th/handicraft/

สถานที่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวเมือง โดยครูละมัย โพธิ์ภาษิต ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 35130

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู