ข้าพเจ้านางสาวเจนสุฎารัตน์ สาวิสัย ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 : การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ข้าพเจ้าขออนุญาตรายงานการปฏิบัติงานประจำเดือน กรกฎาคม 2564 นี้ ให้ทราบโดยทั่วกัน ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 20 – 24 เดือน มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าและทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันโครงการ Hackathon 2021 ประจำตำบลเมืองแฝก ชื่อทีม SMF (Silk Muang Fak) SMF คืออะไร เรามาทำความรู้จักกันเลยค่ะ
S = Silk คือ ไหม
MF = Muang Fak ชื่อตำบลเมืองแฝก เมื่อเรานำคำว่า SMF มารวมกันแล้ว ก็จะหมายถึง ไหมเมืองแฝก ซึ่งมีสมาชิกในทีมทั้งหมด 6 คน คือ 1.นายพงศธร ประสีระเตสัง, 2.นายสุรศักดิ์ โต่นวุธ, 3.นางสาวเจนสุฎารัตน์ สาวิสัย, 4.นางสาวเจนจิรา โจนประโคน, 5.นางสาวสุภารัตน์ สุรพัฒน์พิศิษฐ์, และ 6.นายวิษณุกรณ์ บุ้งทอง ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยทางทีมผู้เข้าแข่งขันอยากสื่อให้เห็นถึงการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมขิดยกดอกให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม ต่อจากนี้มาทราบถึงบริบทโดยทั่วไปของตำบลเมืองแฝกค่ะ ตำบลเมืองแฝก ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา เช่น ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ยางพาราง มันสำปะหลัง และทำปศุสัตว์ แต่รายได้ที่ได้มาจากการเกษตรยังไม่พอกับรายจ่ายของคนในครอบครัว เนื่องจากการทำการเกษตรนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการเพาะปลูก พืชบางชนิด 1 ปี เก็บเกี่ยวได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้คนส่วนมากต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด เพื่อหารายได้เพิ่มและแลกกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ค้าขาย แม้กระทั่งกรรมกรแบกหาม ตำบลเมืองแฝกของเรายังมีอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้ามาสู่ครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น นั่นก็คือ การทอผ้าไหมลายขิดยกดอก ที่แตกต่างจากการทอผ้าไหมธรรมดา อีกทั้งยังมีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของท้องตลาด แถมยังได้ทำงานที่บ้าน ห่างไกลมลพิษ และที่สำคัญได้อยู่ดูแลครอบครัวที่ตนรัก การทอผ้าไหมขิดยกดอกนี้ เป็นอีกหนึ่งในอาชีพที่คนในพื้นที่ ๆ สามารถทำได้ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นคนในพื้นที่ ๆ จะช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชน การประกอบอาชีพนี้จะสามารถทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข มีรายได้ที่มั่นคง
จากสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019, COVID-2019) แพร่ระบาดไปหลายพื้นที่ในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยตั้งแต่เดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม มียอดผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งรายงานล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งไปที่ 10082 ราย ยอดผู้เสียอยู่ที่ 141ราย ซึ่งส่งผลกระทบไปในหลายๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แรงงาน และการศึกษา
ทางโครงการ U2T ได้มอบหมายภารกิจพิเศษจัดกิจกรรม “Covid-19 Week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด” สำหรับทีมตำบลเมืองแฝกได้ออกปฏิบัติหน้าที่ไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเเฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.00 น. ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางจุฑามาศ ซารัมย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแฝก เป็นประธานในพิธี ในการร่วมกิจกรรมได้มีอาสาสมัครประจำชุมชนทั้ง 17 หมู่บ้านในตำบลเมืองแฝก โดยได้มีการเชิญบุคลากรทางการแพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และการดูแลตัวเองในช่วงโควิด-19 การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือให้บ่อยครั้งด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อโรคจากการหยิบหรือสัมผัสสิ่งของต่างๆมากที่สุด
วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น
- ล้างมือก่อนสวมใส่หน้ากากอนามัยให้สะอาดทุกครั้ง
- ใช้มือจับที่สายคล้องหูทั้ง 2 ข้าง โดยหันด้านสีเข้ม (เช่น สีฟ้า สีเขียว) ออกด้านนอก ให้ด้านสีจางชิดจมูก ขอบลวดต้องอยู่ด้านบน และรอยจีบพับต้องคว่ำลง
- ใส่หน้ากากอนามัย โดยดึงที่สายคล้องที่หู แล้วมัดหน้ากากให้กระชับ แนบหน้าที่สุด
- ดัดแถบเหล็ก หรือโครงลวดให้แนบชิดสันจมูกมากที่สุด
- ขยับหน้ากากอนามัย ให้คลุมทับทั้งจมูก ปาก และคาง โดยจัดทรงหน้ากากอนามัยให้กระชับกับใบหน้า แนบสนิทกับผิวมากที่สุด ถ้าหากสายหรือตัวหน้ากากอนามัยหย่อนยาน ไม่แนบผิว ให้เปลี่ยนหน้ากาก
วิธีล้างมือ 7 ขั้นตอน เพื่อสุขอนามัยที่ดี
การป้องกันโรคติดต่อที่ง่าย และประหยัดที่สุด คงจะไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่า ‘การล้างมือ’ เพราะ ‘มือ’ เป็นอวัยวะสำคัญที่เราใช้สัมผัสผู้อื่น ใช้จับสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ มากที่สุด จึงเสมือนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ตัวเรา และเชื้อโรคจากร่างกายเราไปสู่ผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน การหมั่นล้างมือด้วยสบู่จึงเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ทั้งสะดวก ประหยัด สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการล้างมือของคนทั่วไป มักจะล้างไม่สะอาดและไม่ทั่วถึง เพราะมักจะเคยชินกับการรีบล้างแค่ฝ่ามือ ไม่ได้ล้างในส่วนของปลายนิ้ว อันเป็นที่เป็นส่วนที่นำเชื้อโรคได้ดีที่สุด ดังนั้น จากคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆ วิธีการล้างมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่ถูกต้องควรล้างมือให้ครบ 7 ขั้นตอน และควรใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ฝ่ามือถูฝ่ามือ ล้างมือด้วยน้ำสะอาด ถูสบู่จนขึ้นฟอง หลังจากนั้นนำฝ่ามือทั้งสองข้างประกบกัน และถูวนให้ทั่ว
ขั้นตอนที่ 2 ถูหลังมือและซอกนิ้ว เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณมือและซอกนิ้วด้านหลัง โดยใช้ฝ่ามือถูบริเวณหลังมือ และซอกนิ้วสลับไปมาทั้งสองข้าง
ขั้นตอนที่ 3 ถูฝ่ามือและซอกนิ้ว นำมือทั้งสองข้างมาประกบกัน ถูฝ่ามือและซอกนิ้วด้านหน้าให้สะอาด
ขั้นตอนที่ 4 หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ ให้นิ้วมือทั้งสองข้างงอเกี่ยวกัน ถูวนไปมา
ขั้นตอนที่ 5 ถูนิ้วและโคนนิ้วหัวแม่มือ กางนิ้วหัวแม่มือแยกออกมา ใช้ฝ่ามืออีกข้างกำรอบนิ้วหัวแม่มือ แล้วถูหมุนไปรอบ ๆ ทำสลับกันทั้งสองข้าง
ขั้นตอนที่ 6 ถูปลายนิ้วมือบนฝ่ามือ ให้แบมือแล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างถูวนเป็นวงกลม จากนั้นสลับข้างทำแบบเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 7 ถูรอบข้อมือ กำมือรอบข้อมือข้างหนึ่ง ถูวนจนกว่าจะสะอาด หลังจากนั้นให้เปลี่ยนข้างทำแบบเดียวกับมือข้างแรก
ระยะเวลาทำความสะอาด ควรใช้เวลาล้างมือทั้ง 7 ขั้นตอนรวมกันไม่น้อยกว่า 20 วินาที หรือร้องเพลง Happy Birthday ไปด้วย ล้างไปด้วยได้ให้ครบ 2 รอบ นอกจากนี้การทำให้มือแห้ง ควรใช้กระดาษเช็ดมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดมือร่วมกันหลายคน และหลังเช็ดมือแล้ว ให้ปิดก๊อกน้ำโดยสัมผัสผ่านกระดาษเช็ดมือ ไม่ควรใช้มือสัมผัสที่ก๊อกโดยตรง
เพราะการล้างมือที่ถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยง และแพร่กระจายของโรคติดต่อหลายโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องล้างมืออย่างถูกวิธี ทุกคนควรหันมาใส่ใจกับการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ทั้งก่อน – หลัง ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เตรียมอาหาร หรือปอกผลไม้ หลังการใช้ห้องน้ำ หลังการไอ จาม หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือล้างมือหลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค และยังเป็นการรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีในการล้างมือ เพียงเท่านี้เราก็สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ลดเสี่ยงการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้แล้ว
กิจกรรมต่อมาคือ การผลิตสเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน มีการแจกหน้ากากอนามัยให้กับทั้ง 17 หมู่บ้าน แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) และ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิดเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียได้ แอลกอฮอล์จัดเป็นสารฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแต่ฤทธิ์ในการทำลายเชื้อของแอลกอฮอล์จะลดลงมากหากความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดต่ำลง
7 ขั้นตอนการทำสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค
- เทเอทิลแอลกอฮอล์ 95% ลงภาชนะ ปริมาณ 85 มิลลิลิตร
- เติมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% ปริมาณ 5 มิลลิลิตร ตามลงไป
- เติมกลีเซอรีน 98% ปริมาณ 3 มิลลิลิตร ตามลงไป
- เติมน้ำมันหอมระเหย / สารแต่งกลิ่น 2-3 หยด
- เติมน้ำกลั่นหรือน้ำ RO ลงไปให้ครบ 100 มิลลิลิตร พอดี
- คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- บรรจุใส่ขวดสเปรย์
ข้อแนะนำในการเลือกใช้และเก็บรักษา
- สำหรับประเทศไทย กำหนดให้แอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโควิด 19 ต้องมีส่วนผสมของ แอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 70 โดยปริมาตร
- เลือกใช้เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีฉลากติดไว้ชัดเจน ไม่หมดอายุ เมื่อเปิดใช้มีกลิ่นเฉพาะของ แอลกอฮอล์
- ควรบีบเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ลงในฝ่ามือ แล้วลูบให้ทั่วฝ่ามือหลังมือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์ระเหยแห้ง
- เก็บรักษาเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ ไว้ในอุณหภูมิปกติ โดยปิดฝาภาชนะให้สนิท เพื่อป้องกัน แอลกอฮอล์ระเหย
หลังจากผลิตสเปรย์แอลกอฮอล์เสร็จเรียบร้อย ทางทีมได้มีการเดินรณรงค์ในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์มีการเปิดฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในจังหวัด สามารถลงทะเบียนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งทางแอพลิเคชั่น BURIRAM IC ลงทะเบียนผ่านอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม) เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำการเดินรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนในพื้นตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนกับชาวบ้าน ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค COVID-19 สร้างความมั่นใจในการเข้ารับวัคซีน การลงพื้นที่ปฏิบัติงานกิจกรรม “Covid-19 Week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด”สำเร็จลุล่วงไปด้วยด้วยดีเพราะการร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งคุณหมอจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแฝก อาสาสมัครประจำแต่ละหมู่บ้าน และทีมผู้ปฏิบัติงาน
https://www.nestle.co.th/th/nhw/nutrition/immunity/wash-hand-hygiene