ข้าพเจ้านางสาวโสรญา หนองหาญ ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลาย-มาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอกเพื่อรักษาภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน

เมื่อวันที่ 2-5 เดือนมิถุนายน 2564 ข้าพเจ้าได้ลงสำรวจพื้นที่บ้านหนองไผ่ล้อม และได้สังเกตเห็นว่าในชุมชนมีพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ คือ พืชอ้อย ซึ่งข้าพเจ้าได้สนใจ จึงได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพืชอ้อย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
อ้อยเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาในแง่ของผลผลิตเพราะอ้อยสามารถใช้ปัจจัยสำหรับการเจริญเติบโต เช่น แสงแดด น้ำ อากาศ และธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อ้อยยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง อ้อยชอบอากาศร้อนและชุ่มชื้น ดังนั้น ประเทศที่ปลูกอ้อย ซึ่งมีประมาณ 70 ประเทศจึงอยู่ในแถบร้อนและชุ่มชื้นในระหว่างเส้นรุ้งที่ 35 องศาเหนือ และ 35 องศาใต้ ประเทศที่ปลูกอ้อยที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล คิวบา อินเดีย ดังนั้น เรามาดูวิธีการปลูกอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีกันค่ะ

ขั้นตอนการปลูกอ้อย

เทคโนโลยีการปลูก
การเลือกทำเลพื้นที่ปลูก
1. ควรเลือกที่ดอน น้ำไม่ขัง ดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์ดี หน้าดินลึกอย่างน้อย 20 นิ้ว pH 5-7.7 แสงแดดจัด ปริมาณน้ำฝนควรมากกว่าปีละ 1,500 มิลลิเมตร และมีการกระจายของฝนสม่ำเสมอ ถ้าฝนน้อยกว่านี้ควรจะมีการชลประทานช่วย การคมนาคมสะดวก และอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50 กิโลเมตร
2. ควรปรับระดับพื้นที่และแบ่งแปลงปลูกอ้อย เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องจักรในการเตรียมดินปลูก และเก็บเกี่ยว ตลอดจนการระบายน้ำ
3. การไถ ควรไถอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือมากกว่า ความลึกอย่างน้อย 20 นิ้ว หรือ มากกว่า เพราะอ้อยมีระบบรากยาว ประมาณ 2-3 เมตร และทำร่องปลูก
การเตรียมท่อนพันธุ์ ปัจจุบันพันธุ์อ้อยมีหลายพันธุ์ ควรเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูงและมีความหวานสูงด้วย โดยพิจารณาจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
3.1 พันธุ์อ้อยมีความสมบูรณ์ตรงตามพันธุ์ อายุประมาณ 8-10 เดือน ควรเป็นอ้อยปลูกใหม่ มีการเจริญเติบโตดีปราศจากโรคและแมลง
3.2 ตาอ้อยต้องสมบูรณ์ ควรมีกาบใบหุ้มเพื่อป้องกันการชำรุดของตาและเมื่อจะปลูกจึงค่อยลอกออก
3.3 ขนาดท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรมีตา 2-3 ตา หรือจะวางทั้งลำก็ได้

วิธีการปลูก
1. ปลูกด้วยแรงคน คือหลังจากเตรียมดินยกร่อง ระยะระหว่างร่อง 1-1.5 เมตร แล้ว นำท่อนพันธุ์มาวางแบบเรียงเดี่ยวหรือคู่ ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกโดยวางอ้อยทั้งลำเหลื่อมกันลงในร่อง เสร็จแล้วกลบดินให้หนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร ถ้าปลูกปลายฤดูฝนควรกลบดินให้หนาเป็น 2 เท่าของการปลูกต้นฤดูฝน
2. การปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องปลูก จะช่วยประหยัดแรงงานและเวลา เพราะจะใช้แรงงานเพียง 3 คนเท่านั้น คือคนขับ คนป้อนพันธุ์อ้อย และคนเตรียมอุปกรณ์อย่างอื่นถ้าเป็นเครื่องปลูกแถวเดียว แต่ถ้าเป็นเครื่องปลูกแบบ 2 แถว ก็ต้องเพิ่มคนขึ้นอีก 1 คน โดยจะรวมแรงงานตั้งแต่ยกร่อง สับท่อนพันธุ์ ใส่ปุ๋ย และกลบร่อง มารวมในครั้งเดียว ซึ่งเกษตรกรสามารถปลูกอ้อยได้วันละ 8-10 ไร่ แต่จะต้องมีการปรับระดับพื้นที่และเตรียมดินเป็นอย่างดีด้วย
การใส่ปุ๋ยอ้อย เป็นสิ่งจำเป็น ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสดร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดิน ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ควรดูตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการเจริญเติบโตของอ้อย ถ้ามีการวิเคราะห์ดินด้วยยิ่งดี ปุ๋ยเคมีที่ใส่ควรมีธาตุอาหารครบทั้ง 3 อย่าง คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซียม (เอ็น พี เค) ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ
1. ใส่ปุ๋ยรองพื้น ใส่ก่อนปลูกหรือพร้อมปลูก ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหาร เอ็น พี เค ทั้ง 3 ตัว เช่น 15-15-15, 16-16-16 หรือ 12-10-18 อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่
2. ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า อ้อยอายุไม่เกิน 3 – 4 เดือน ควรเป็นปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว เช่น 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่
การกำจัดวัชพืช การกำจัดวัชพืชสำหรับอ้อยเป็นสิ่งจำเป็นในช่วง 4-5 เดือนแรก อาจใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ หรือสารเคมีกำจัดวัชพืชก็ได้ เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ดังนี้
1. ยาคุม ใช่เมื่อปลูกอ้อยใหม่ ๆ ก่อนหญ้าและอ้อยงอก ได้แก่ อาทราซีนอมีทรีน และเมทริบิวซีน อัตราตามคำแนะนำที่สลาก
2. ยาฆ่าและคุม อ้อยและหญ้างอกอายุไม่เกิน 5 สัปดาห์ ได้แก่ อมีทรีนอมีทรีนผสมอาทราซีน และเมทริบิวซีนผสมกับ 2,4-ดี อัตราตามคำแนะนำที่สลาก
การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชให้มีประสิทธิภาพ เกษตรกรต้องรู้จักวิธีใช้ให้ถูกต้อง ฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืชในขณะที่ดินมีความชื้น หัวฉีดควรเป็นรูปพัด นอกจากนี้สามารถคุมวัชพืชโดยปลูกพืชอายุสั้นระหว่างแถวอ้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว และถั่วเหลือง เป็นต้น นอกจากจะช่วยคุมวัชพืชแล้ว อาจเพิ่มรายได้และช่วยบำรุงดินด้วยการตัดและขนส่งอ้อย เกษตรกรจะต้องปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด
ซึ่งเกษตรกรจะต้องรู้ว่าอ้อยของตัวเองแก่หรือยัง โดยดูจากอายุ ปริมาณ น้ำตาลในต้นอ้อย และวางแผนการตัดอ้อยร่วมกับโรงงาน ควรตัดอ้อยให้ชิดดินเพื่อให้เกิดลำต้นใหม่จากใต้ดิน ซึ่งจะแข็งแรงกว่าต้นที่เกิดจากตาบนดิน

การบำรุงตออ้อย
1. ทำการตัดแต่งตออ้อยหลังจากตัดทันที หรือเสร็จภายใน 15 วัน ถ้าตัดอ้อยชิดดิน ก็ไม่ต้องตัดแต่งตออ้อย ทำให้ประหยัดเงินและเวลา
2. ใช้พรวนเอนกประสงค์ 1-2 ครั้ง ระหว่างแถวอ้อยเพื่อตัดและคลุกใบ หรือใช้คราดคราดใบอ้อยจาก 3แถวมารวมไว้แถวเดียว เพื่อพรวนดินได้สะดวก
3. ใช้ริปเปอร์หรือไถสิ่วลงระหว่างแถวอ้อย เพื่อระเบิดดินดาน ต้องระมัดระวังในเรื่องความชื้นในดินด้วย
4. การใส่ปุ๋ย ควรใส่มากกว่าอ้อยปลูก ใช้สูตรเช่นเดียวกับอ้อยปลูก
5. ในแปลงที่ไม่เผาใบอ้อยและตัดอ้อยชิดดิน ก็จะปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ และเริ่มดายหญ้าใส่ปุ๋ยเมื่อเข้าฤดูฝน
6. การไว้ตออ้อยได้นานแค่ไหนขึ้นกับหลุมตายของอ้อยว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้ามีหลุมตายมากก็จะรื้อปลูกใหม่
ชาวบ้านในชุมชนเมืองแฝกนั้น ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัดมหาชน โดยได้เข้ามาส่งเสริมชาวบ้าน ทั้งอุปกรณ์ และเงินทุน จนกระทั่งการขาย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้และมีทางเลือกมากกว่าการปลูกข้าว ซึ่งมีราคาตกต่ำ ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนรู้จักกับการปลูกอ้อยให้ถูกวิธี เป็นการช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกอ้อย และทำให้เกษตรกรในชุมชนสามารถมีรายได้จุนเจือครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตามลำดับ

https://drive.google.com/file/d/13uYK0-LGP17unNJ3QIdrjFi4XywTBoCR/view

อื่นๆ

เมนู