โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”
หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ข้าพเจ้า นางสาวชนิสรา สาวิสัย ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา ปฏิบัติงานประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 : การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ บัดนี้ข้าพเจ้าขออนุญาตรายงานการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม 2564 นี้ ให้ทราบโดยทั่วกัน
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 08.00 น.-17.00 น.ข้าพเจ้าและผู้ร่วมปฏิบัติงานตำบลเมืองแฝกได้เข้าร่วมโครงการเชิงปฏิบัติการ “กิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกหลักสุขภาวะตามนโยบาย 6 อ. สำหรับการหนุนเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการดูแลสุขภาพคนในตำบล เมืองแฝกแจ่มใส อนามัยดี มีน้ำใจ พัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน” ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแฝก ตั้งอยู่ที่บ้านหนองครก ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในการจัดโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ตัวผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจ ทราบถึงความสำคัญและวิธีการดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเอง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวณัฐชา ก่อเกียรตินพกุล พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแฝก เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และหลัก 6 อ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สุขอนามัยพื้นฐาน
สุขบัญญัติ 10 ประการ คือ ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามสุขบัญญัติ 10 ประการ จะเป็นคนมีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง มีสมรรถภาพในการเรียน การทำงาน และสุขบัญญัติ 10 ประการยังช่วยให้มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ สุขบัญญัติ 10 ประการ ได้แก่
- การดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด
การอาบน้ำให้สะอาดทุกวัน วันละ 1 ครั้ง สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้ความอบอุ่นพียงพอ จัดเก็บและทำความสะอาดของใช้ให้เป็นระเบียบ
- รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า และก่อนนอน เลือกใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรค์ หลีกเลี่ยงการอมลูกอม หรือรับประทานขนมหวานเพื่อลดโอกาสของการเกิดฟันผุ ไม่ใช้ฟันกัด ขบของแข็ง ตรวจสุขภาพในช่องปากปีละ 1 ครั้ง และแปรงฟันอย่างถูกวิธี มีขั้นตอนดังนี้
- การจับแปรง เวลาจะแปรงฟันบน จับแปรงหงายขึ้น เวลาจะแปรงฟันล่าง จับแปรงคว่ำลง
- วิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธี
– วางขนแปรงแนบกับของเหงือก โดยเอียงขนแปรงเป็นมุม 45 องศา กับตัวฟัน
– ขยับแปรงไป-มาเล็กน้อย
– หมุนข้อมือปัดขนแปรงจากเหงือก ผ่านตัวฟันโดยตลอด
– ถ้าเป็นฟันบน ปัดลงล่าง ฟันล่างปัดขึ้นบน
– แปรงให้ทั่วทุกที่ ทั้งด้านนอก ด้านในของฟันบนและฟันล่างให้สะอาด
– ส่วนด้านบดเคี้ยวถูไปมาตามแนวฟันทั้งซ้าย-ขวา จนสะอาด แต่ละครั้งควรใช้เวลาแปรงฟันประมาณ 2-3 นาที
- ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
การล้างมือที่ถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยง และแพร่กระจายของโรคติดต่อหลายโรค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องล้างมืออย่างถูกวิธี ทุกคนควรหันมาใส่ใจกับการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ทั้งก่อน – หลัง ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เตรียมอาหาร หรือปอกผลไม้ หลังการใช้ห้องน้ำ หลังการไอ จาม หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือล้างมือหลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค และยังเป็นการรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีในการล้างมือ เพียงเท่านี้เราก็สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ลดเสี่ยงการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้แล้ว วิธีการล้างมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่ถูกต้องควรล้างมือให้ครบ 7 ขั้นตอน และควรใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ฝ่ามือถูฝ่ามือ ล้างมือด้วยน้ำสะอาด ถูสบู่จนขึ้นฟอง หลังจากนั้นนำฝ่ามือทั้งสองข้างประกบกัน และถูวนให้ทั่ว
ขั้นตอนที่ 2 ถูหลังมือและซอกนิ้ว เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณมือและซอกนิ้วด้านหลัง โดยใช้ฝ่ามือถูบริเวณหลังมือ และซอกนิ้วสลับไปมาทั้งสองข้าง
ขั้นตอนที่ 3 ถูฝ่ามือและซอกนิ้ว นำมือทั้งสองข้างมาประกบกัน ถูฝ่ามือและซอกนิ้วด้านหน้าให้สะอาด
ขั้นตอนที่ 4 หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ ให้นิ้วมือทั้งสองข้างงอเกี่ยวกัน ถูวนไปมา
ขั้นตอนที่ 5 ถูนิ้วและโคนนิ้วหัวแม่มือ กางนิ้วหัวแม่มือแยกออกมา ใช้ฝ่ามืออีกข้างกำรอบนิ้วหัวแม่มือ แล้วถูหมุนไปรอบ ๆ ทำสลับกันทั้งสองข้าง
ขั้นตอนที่ 6 ถูปลายนิ้วมือบนฝ่ามือ ให้แบมือแล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างถูวนเป็นวงกลม จากนั้นสลับข้างทำแบบเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 7 ถูรอบข้อมือ กำมือรอบข้อมือข้างหนึ่ง ถูวนจนกว่าจะสะอาด หลังจากนั้นให้เปลี่ยนข้างทำแบบเดียวกับมือข้างแรก
4.กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลียงอาหารรสจัดสีฉูดฉาด
การเลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงถึงประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัด ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะและใช้เครื่องปรุงที่ถูกต้องโดยคำนึงถึงสงวนคุณค่าเสมอ สะอาดปลอดภัย กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและถูกหลักโภชนาการทุกวัน ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารรสจัด ของหมักดอง หรืออาหารใส่สีฉูดฉาด และควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
5. งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
ควรงดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เสพสารเสพติด งดเล่นการพนัน งดการสำส่อนทางเพศ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หากจะมีเพศสัมพันธ์ควรรู้จักป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี เช่น การสวมถุงยางอนามัย
6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานบ้าน ปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เผื่อแผ่น้ำใจให้กันและกัน ทำบุญ และทำกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การออกไปพักผ่อนกับครอบครัวในวันหยุด การเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ
7. ป้องกันอุบัติเหตุด้วยความไม่ประมาท
ระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้า เตาแก๊ส ของมีคม จุดธูปเทียนบูชาพระ เป็นต้น และระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติภัยในที่าธารณะ เช่น ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัย จากการจราจรทางบก ทางน้ำ หลีกเลี่ยงการชุมนุม ห้อมล้อมในขณะเกิดอุบัติเหตุ
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพ และวัยของตน และตรวจสุขภาพประจำปี
9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
พักผ่อน และนอนหลับให้เพียงพอ จัดสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน ที่ทำงานให้น่าอยู่ หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและสะดวก มองโลกในแง่ดี ให้อภัย และยอมรับในข้อบกพร่องของคนอื่น เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจควรหาทางผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นกีฬา
10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
มีการกำจัดขยะในบ้าน และทิ้งขยะไว้ในที่รองรับ หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟมพลาสติก มีส้วมและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือน และโรงเรียนที่ถูกต้อง ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ขุมชน ป่า น้ำ สัตว์ป่า เป็นต้น
หลัก 6 อ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หลัก 6 อ สร้างสุขภาพคนไทย
สุขภาพ กายที่ดี หมายถึงกายที่ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราสามารถดูแลสุขภาพได้ดีตลอดไปได้ด้วยตนเองและสามารถป้องกันการเจ็บป่ายที่ เกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติตัวตามแนวทางสู่การมีสุขภาพดีเมื่อถึงเวลาเจ็บไข้ เราก็ต้องดูแลตนเองให้ดีเพื่อให้หายป่วยเร็วขึ้น หรือเพื่อบรรเทาอาการที่เป็นอยู่และลดอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนการมีสุขภาพจิตที่ดีก็ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่แข็งแรง หายจากการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้นได้เช่นกัน การมีสุขภาพที่ดี ตามหลัก 6 อ.สร้างสุขภาพคนไทย ต้องปฏิบัติดังนี้
1.อาหาร
กินอาหารโดยยึดหลักการกินให้หลากหลายชนิดมากที่สุด ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันและแป้งในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวานได้ ควรเน้นอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้น
อาหารหลัก 5 หมู่ ประกอบด้วย
หมู่ 1 โปรตีน ( เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว )
อาหารหลักหมู่ที่ 1 คือ อาหารประเภทโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแระ ถั่วดำ ถั่วลิสง ผลิตผลที่ได้จากถั่ว เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ซึ่งโปรตีนที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายช่วยการเจริญเติบโตของร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ
หมู่ 2 คาร์โบไฮเดรต ( ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน )
อาหารหลักหมู่ที่ 2 คือ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก มันเทศ ข้าวกล้อง เป็นแหล่งพลังงานหลักของระบบประสาทและสมอง เมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตจะแบ่งเป็นน้ำตาลขนาดเล็ก คือ กลูโคส และฟรุกโตสที่ลำไส้เล็กสามารถดูดซึมไปใช้ได้ ซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดไปยังตับ ตับจะเปลี่ยนน้ำตาลทั้งหมดเป็นกลูโคส ซึ่งไหลผ่านกระแสเลือดพร้อมกับอินซูลิน และแปลงเป็นพลังงานสำหรับการทำงานของร่างกายช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมู่ 3 เกลือแร่หรือแร่ธาตุ ( พืชผัก )
อาหารหลักหมู่ที่ 3 ที่ได้จากผักใบสีเขียว ผักสีเหลืองเป็นแหล่งรวมเกลือแร่และแร่ธาตุแก่ร่างกาย เช่น ฟักทอง มันเทศสีเหลือง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ตำลึง แครอท คะน้า แตงกวา บวบ ฟักเขียว ผักกาดขาว ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย ป้องกันการบาดเจ็บของร่างกาย ช่วยปกป้องกระดูกแตกหัก และช่วยป้องกันฟันผุ
หมู่ 4 วิตามิน ( ผลไม้ )
อาหารหลักหมู่ที่ 4 ที่ได้จากผลไม้ชนิดต่าง ๆ อุดมไปด้วยวิตามินที่สำคัญช่วยป้องกันโรค ลดคอเลสเตอรอล ช่วยในระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ส้มโอ ลูกพีช องุ่น เสาวรส มะละกอ กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
หมู่ 5 ไขมัน ( ไขมันจากพืชและสัตว์ )
อาหารหลักหมู่ที่ 5 โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว ส่วนใหญ่ไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่ น้ำมันจากวัว ครีม เนย ชีส และไขมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย สามารถช่วยในการดูดซึมของวิตามินบางชนิด ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของอวัยวะภายในร่างกาย ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ช่วยป้องกันเส้นประสาท
2.ออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ
3.อารมณ์
อารมณ์มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์มีผลต่อร่างกาย อารมณ์ดีส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น เมื่อมีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟิน ส่งผลให้ร่างกายต้องตื่นตัวกระชุ่มกระชวย ผ่อนคลายการทำงานของสมองจะดี หายป่วยเร็วขึ้น อายุยืนมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ไม่ดีจะส่งผลทำลายสุขภาพทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลง กินอาหารได้น้อย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด ก้าวร้าว ความดันโลหิตสูง ดังนั้น การรู้จักควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม มีผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจทำให้การดำรงชีวิตประจำวันมีความสุข
4.อนามัยสิ่งแวดล้อม
สภาพแวดล้อมในบ้านที่ดีเอื้อต่อการมีสุขภาพดีของคนในครอบครัว ขณะเดียวกันก็ควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชนด้วย
5.อโรคยา
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง ลดการกินอาหารรสจัด ไม่กินอาหารที่สุก ๆดิบๆ หรืออาหารที่มีสารปนเปื้อน การจัดการกับความเครียด โดยทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่มอเตอร์ไซค์
6.อบายมุข
งดเว้นบุหรี่ สุรา ยาเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจ
การสร้างสุขภาพและอนามัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวของเราเอง โดยเริ่มจากการมีวินัย และการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ข้อ และ หลัก 6 อ.ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและโรคภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราได้ และยังช่วยให้มีสุภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี สามรถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
แหล่งที่มา
สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=812
ขั้นตอนการแปรงฟันให้ถูกวิธี https://www.thaihealth.or.th/Content/42805-%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5.html
วิธีล้างมือ 7 ขั้นตอน https://www.nestle.co.th/th/nhw/nutrition/immunity/wash-hand-hygiene
หลัก 6 อ.- http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=2654.0
อาหารหลัก 5 หมู่ https://amprohealth.com/nutrition/main-meal-5-groups/