ข้าพเจ้า นางสาวสิริมา กะตะศรีลา ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 โครงการส่งเสริมการทอผ้าไหม ขิดยกดอกเพื่อรักษาภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน
ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ข้าพเจ้าเข้าร่วมกิจกรรมและเข้าอบรมตามที่ทางคณาจารย์ได้จัดขึ้นพร้อมกับทีมงาน นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้และศึกษาหาข้อมูลต่างๆ จากช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆไม่ว่าจะเป็น Google, YouTube และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ตนเองและสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้มานำไปเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่นได้นำไปใช้ประโยชน์ได้
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าและทีมงานประจำตำบลเมืองแฝกได้เดินทางไปอบรม เรื่องการส่งเสริมให้ความรู้เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกหลักสุขภาวะตามนโยบาย 6 อ. สำหรับการหนุนเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการดูแลสุขภาพคนในตำบลสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) กัน ณ สถานที่ รพ.สต.บ้านหนองครก ต.เมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ วิทยากรผู้บรรยาย คือ นางสาวณัฐชา ก่อเกียรตินพคุณ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ประจำ รพ.สต.บ้านหนองครก ต.เมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเนื้อหาและสาระสำคัญที่ข้าพเจ้าและทีมงานได้ความจากการอบรมในครั้งนี้ มีดังนี้
สุขอนามัยพื้นฐาน
ได้แก่ รากฐานการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพื่อการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นรากฐานในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุสุขอนามัยพื้นฐานซึ่งแนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมี 10 ข้อ และแนะนำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมี
สุขบัญญัติแห่งชาติ
- ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
- รักษาฟันให้แข็งแรง แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้งเมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆและทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย ล้างมือ 7 ขั้นตอน Wash hands 7 steps.
- กินอาหาร สุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
- งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และสำส่อนทางเพศ
- สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
- ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
- ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
- มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
6อ. ของ สสส.
1อ. อาหาร กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบห้าหมู่
อาหารแบ่งออกเป็น …
อาหารหมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วต่างๆ
อาหารหมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง เผือก มัน และน้ำตาล
อาหารหมู่ที่ 3 ผักต่างๆ
อาหารหมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ
อาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน และน้ำมัน
อาหารหมู่ที่ 1: เนื้อสัตว์ไข่นมและถั่วต่างๆ
อาหารหมู่นี้จะให้โปรตีนที่ทำให้…
– ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อโรค
– ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากบาดแผล อุบัติเหตุ หรือจากการเจ็บป่วย อาหารหมู่นี้จะไปสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ เลือด เม็ดเลือด ผิวหนัง น้ำย่อยฮอร์โมน ตลอดจนภูมิต้านทานเชื้อโรคต่างๆ
– พบมากในอาหารประเภท เนื้อ นม ไข่ ตับ ปลา ไก่ และถั่วต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น
อาหารหมู่ที่ 2: ข้าวแป้งเผือกมันและน้ำตาล
ให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
– ให้พลังงานทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้
– ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
– พลังงานที่ได้จากหมู่นี้ส่วนใหญ่จะใช้ให้หมดไปวันต่อวัน เช่น ใช้ในการเดินทำงานการออกกำลังกายต่างๆ แต่ถ้ากินอาหารหมู่นี้มากจนเกินความต้องการของร่างกาย ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและทำให้เกิดโรคอ้วนได้
– อาหารที่พบมาก ได้แก่ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งเผือก มันต่างๆ น้ำตาลที่ทำมาจากอ้อยและมะพร้าว
อาหารหมู่ที่ 3: ผักต่างๆ
อาหารหมู่นี้จะให้วิตามินและเกลือแร่แก่ร่างกาย
– ช่วยเสริมสร้างทำให้ร่างกายแข็งแรง มีแรงต้านทานเชื้อโรค
– ช่วยให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
– อาหารที่สำคัญของหมู่นี้ คือ ผักต่าง ๆ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาด และผักใบเขียวอื่น ๆ รวมถึงพืชผักอื่น ๆ เช่น มะเขือ ฟักทอง ถั่วฝักยาว เป็นต้น
– อาหารหมู่นี้จะมีกากอาหารที่ถูกขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ ทำให้ลำไส้ทำงานเป็นปกติ
อาหารหมู่ที่ 4: ผลไม้ต่างๆ
อาหารหมู่นี้จะให้วิตามินและเกลือแร่
– ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง มีแรงต้านทานโรค
– มีกากอาหารช่วยทำให้การขับถ่ายของลำไส้เป็นปกติ
– อาหารที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม มังคุด ลำไย เป็นต้น
อาหารหมู่ที่ 5: ไขมันและน้ำมัน
ให้สารอาหารประเภทไขมันมาก
– ให้พลังงานแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและสะสมพลังงานไว้ใต้ผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณสะโพก ต้นขา เป็นต้น
– ไขมันที่สะสมไว้เหล่านี้ จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและให้พลังงานที่สะสมไว้ใช้ในเวลาที่จำเป็นระยะยาว
– อาหารที่สำคัญ ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ไขมันที่ได้จากพืช เช่น กะทิมะพร้าว น้ำมันรำ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ต่างๆ
2อ. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพคืออะไร … ?
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ คือ การเคลื่อนไหวออกแรงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น หรือคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของร่างกายที่จะสามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างแคล่วคล่อง ว่องไว ไม่เหน็ดเหนื่อย
ทำไมต้องออกกำลังกาย?
ออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์
– เพื่อความอดทน แข็งแรงของหัวใจ ปอด และระบบไหลเวียนโลหิต
– เพื่อความแข็งแรง และอดทนของกล้ามเนื้อ
– เพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และข้อต่อ
ประโยชน์ของการออกกำลังสะสม (กิจกรรมที่ทำสม่ำเสมอ)
- ลดน้ำหนักตัว
- กำจัดไขมันส่วนเกิน (เพิ่มความหนักความนาน)
- ลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด
- ลดความดันโลหิตสูง
- ลดระดับ Cholesterol
- ลดอัตราเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- ลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้
- ลดความวิตกกังวล
3อ. อารมณ์ รู้จักควบคุมอารมณ์อย่างเหมาะสม
อารมณ์ หมายถึง การแสดงออกของภาวะจิตใจที่ได้รับการกระทบหรือกระตุ้นให้เกิดมีการแสดงออกต่อสิ่งที่มากระตุ้น อารมณ์สามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
- อารมณ์สุข คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความสบายใจ หรือได้รับความสมหวัง
- อารมณ์ทุกข์ คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สบายใจ หรือได้รับความไม่สมหวัง
ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขความขัดแย้งได้
เข้าใจตนเอง = เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการในชีวิตของตนเอง
เข้าใจผู้อื่น = เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นและสามารถแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม
แก้ไขความขัดแย้ง = เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างเหมาะสมทั้งปัญหาความเครียดในใจหรือปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งกับผู้อื่น
อ. อารมณ์ต้องควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดีอย่าหวาดระแวงหรือมองโลกแง่ร้าย วิตกจริต บอกตัวเองทุกเช้าว่า วันนี้จะเป็นวันที่ดีของเราทำอะไรก็ประสบผลสำเร็จ จะทำให้วันนั้นราบรื่น
4อ. อนามัยสิ่งแวดล้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในบ้านและในชุมชน
เรื่องของสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมนี้ก็เป็นเหมือนกับการดูแลรักษาบ้านให้สะอาด สวยงามอยู่เสมอ ไม่มีฝุ่น ไม่มีมลพิษต่าง ๆ เพราะเราต้องอาศัยอยู่ในนี้เป็นหลัก วันละไม่ต่ำกว่าสิบชั่วโมง ถ้าบ้านเราหรือสภาพแวดล้อมรอบบ้านไม่ดี ย่อมส่งผลให้สุขอนามัยเราแย่ไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องใส่ใจกับสิ่งใกล้ตัวตรงด้วย
5อ. อโรคยาหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ
หมายถึง การไม่มีโรคมาเบียดเบียน ซึ่งหากมีโรคมาเบียดเบียนร่างกายแล้วถือว่าเป็นความทุกข์ของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้นการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้ โดยประชาชนในชุมชนควรร่วมกันรณรงค์เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเสพสารเสพติด การสำส่อนทางเพศ การขับขี่โดยประมาท การรับประทาอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือการเคร่งเครียดจากการทํางานจนขาดการพักผ่อนและออกกำลังกาย
6อ. อบายมุข งดบุหรี่ สุรา ยาเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ
อบายมุขทุกชนิดส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเสพสารเสพติด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา หรือการเล่นการพนัน ดังนั้น ผู้อยู่อาศัยในชุมชนควรดูแลตนเองและบุคคลในครอบครัวไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข รวมทั้งสมาชิกของชุมชนควรดูแลรวมมือกันป้องกันภัยจากอบายมุขต่างๆ ไม่ให้ 2 เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองด้วย
ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2564 องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแฝก น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแฝก ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร ข้าราชการและลูกจ้าง น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ในวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้เดินทางไปฉัดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าเข็มที่2 ณ หอประชุมประจำอำเภอสตึก ตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งชนิดวัคซีนเข็มที่2 ที่ข้าพเจ้าได้ฉีดคือ วัคซีนแอสต้าเซนนิก้า (AstraZeneca )
วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” (AstraZeneca) เป็นวัคซีนแบบเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) ผลิตจากเชื้อไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ ( Adenoviral vector ) พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไปซึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้
- วัคซีนชนิดที่ใช้เทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ ( Adenoviral vector ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะใช้วิธีการเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ โดยนอกจากมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ใช้วิธีนี้แล้ว วัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตด้วยวิธีนี้ยังมี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุกนิก วี
- ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ( AstraZeneca ) สามารถป้องกันการติดเชื้อทุกแบบได้ 63.1% ( 78% หากเว้นระยะห่างระหว่างเข็มมากกว่าหรือเท่ากับ12สัปดาห์ ) ป้องกันโรคแบบแสดงอาการ 70.4% ป้องกันโรครุนแรง-ถึงขั้นเสียชีวิต100% แต่ยังป้องกันโรคแบบไม่มีอาการไม่ได้
- ได้รับการยอมรับจาก WHO
- เมื่อรับการฉีดวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเข้ารับการฉีดจำนวน 2 โดส ที่แขน โดยต้องทิ้งระยะเวลาห่างจากโดสแรก 8-12 สัปดาห์ถึงจะทำการฉีดโดส ที่สองได้
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเหมาะที่จะใช้สำหรับฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ผลข้างเคียงที่มักพบ คือปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- ผลข้างเคียงอื่น ๆที่อาจพบได้ คือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (ในอังกฤษมีรายงาน 1 ใน 50,000 โดส ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี )
ซึ่งหลังจากที่ข้าพเจ้าได้ฉัดวัคซีนเข็มที่2 มาเป็นเวลา 1-2 วัน ข้าพเจ้าก็มีอาการตึงแขนบริเวณที่ฉีด และมีอาการมึนหัวเล็กน้อย และในช่วงเย็นของวันแรกที่ข้าพเจ้าได้รับวัคซีนเข็มที่2 มาแล้ว ข้าพเจ้าก็มีอาการไข้ขึ้นและตัวร้อนเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งอาการเหล่านี้ก็เป็นผลข้างเคียงปกติจากการฉีดวัคซีนมาอยู่แล้ว หลังจากนั้น 2-3 วัน ข้าพเจ้าก็อาการดีขึ้น อาการไข้ก็ลดลง และร่างกายก็ไม่พบความผิดปกติอะไรเลย อีกหนึ่งสิ่งที่ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็น หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 คือข้าพเจ้ารู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงขึ้นและไม่ค่อยเหนื่อยง่ายเหมือนแต่ก่อน.
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.muangfak.go.th/index.php?mod=gallery_update&id_update=64&block=1&path=gallery