โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”
หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ข้าพเจ้า นางสาวชนิสรา สาวิสัย ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 : การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ ข้าพเจ้าขอรายงานการปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีรายละเอียดในการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08:00น. ข้าพเจ้าและผู้ร่วมปฏิบัติงานได้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อเรื่อง “การออกแบบลายขิต” การอบรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแฝก ตั้งอยู่ที่บ้านหนองครก ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ดร. สินีนาฎ รามฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายขิด มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้ อีกทั้งตัวข้าพเจ้าเองยังได้สืบค้นความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจที่มากขึ้น
ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพ ลักษณะ ลวดลาย และวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้าด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญ และมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่น ๆ เพราะทอยากมาก มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา เพราะต้องใช้เวลา ความอดทน และความละเอียด ลออ มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากทอได้ช้า และผู้ทอต้องมีประสบการณ์และพรสวรรค์ในการทอ
การทอผ้าลายขิด คือ การทอผ้าที่ทอแบบ “เก็บขิด” หรือ “เก็บดอก” เหมือนผ้าที่มีการปักดอกการทอผ้าดอกนี้ชาวอีสานเรียกกันว่า ” การทอผ้าเก็บขิด” ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมันวาว นูนลอยออกมาบนผืนผ้า ชาวอีสานโดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่าลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้นนิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่ เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมาสน์ เป็นต้น แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใส และพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ใบไม้
ผ้าลายขิดในภาคอีสาน นอกจากทอในกลุ่มภูไทหรือผู้ไทยและไทลาวอื่น ๆ แล้ว ยังทอในกลุ่มไทกูยหรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจคือ ผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด มีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือนิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าการใช้เส้นฝ้ายทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ ปัจจุบันยังคงมีการทอผ้าขาวม้าเชิงขิด ในกลุ่มวัฒนธรรมไทกูยหรือส่วย เขมร ที่อยู่จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสระเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์
ลายขิด ประกอบไปด้วย ลายหลัก กับ ลายรอง
ลายหลัก มีลักษณะ เป็นลวดลายที่มีขนาดใหญ่กว่า มีสีที่โดดเด่นกว่าลายรอง
ลายรอง มีลักษณะเป็นลายที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ลายหลักสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ประเภทลายผ้าขิด มี 3 ลาย
1. ลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า ชนิดของสัตว์ ช้าง ม้า วัว ควาย นก
2. ลายสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ตั่งนั่ง พาน เกรียน
3. ความเชื่อทางศาสนา เช่น สัตว์ชั้นสูง พญานาค สิง พญาครุฑ นางในวรรณคดี
การอบรมครั้งนี้วิทยากร ได้ให้ผู้ปฏิบัติทุกคนออกแบบลายผ้า ลงในกระดาษโมเสก โดยให้แต่ละคนสร้างสรรค์ออกแบบตามจินตนาการของตนเอง โดยผสมผสานกับถ่ายทอดเรื่องราวในท้องถิ่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตำบลเมืองแฝกลงบนลาย
แหล่งที่มา https://qsds.go.th/silkcotton/k_26.php