สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวจิราลักษณ์ แก้วกล้า ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ หลักสูตร HS05 : การทอผ้าไหมขิดยกดอกเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ปฏิบัติงานประจำพื้นที่หมู่บ้านโคกสว่าง หมู่ที่16 ต.เมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ดิฉันได้เข้าร่วมอบรม“โครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมลายขิดยกดอก เพื่อรักษาภูมิปัญญา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน”และสำรวจข้อมูลพื้นฐานในชุมชนตั้งแต่วันที่ 1-16 พฤษภาคม พ.ศ.2564  แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทราบโดยทั่วกัน

24 เมษายน 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณาจารย์ประจำหลักสูตรตำบลเมืองแฝก  ได้จัดอบรม “โครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมลายขิดยกดอก เพื่อรักษาภูมิปัญญา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน” การอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรสองท่านคือคุณมัลลิกา ชัญถาวร และคุณจักรพงษ์ อัลทชัย ท่านทั้งสองเป็นผู้ประกอบอาชีพการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกซึ่งมีความชำนาญและเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง

ประวัติการทอผ้าจกหรือผ้าขิดยกดอก  เป็นการทอและทำให้เกิดลวดลายผ้าไปพร้อมๆ กัน การจกหรือการขิดคือการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า การจกหรือการขิด จะใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกขึ้นจก (ควัก) เส้นด้ายสีสันต่างๆ ขึ้นมาบนเส้นยืนให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ การทอผ้าจกหรือผ้าขิดในประเทศไทยมีอยู่หลากหลายพื้นที่  เช่น การทอผ้าจกในภาคเหนือและภาคกลางรูปแบบ ลวดลาย สีสัน ของผ้าจก จะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นหรือเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่าพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษผ้าจกของไทย หากแบ่งตามชนเผ่า จะพบว่ามีการทอผ้าจกหรือผ้าขิดตามชนเผ่าใหญ่ๆ ดังนี้  1) ผ้าขิดไท-ยวน  2) ผ้าขิดไท-พวน (ลาวพวน) 3) ผ้าขิดไท-ลื้อ  4) ผ้าขิดลาวครั่ง

ขิด เป็นวิธีการทำลวดลายบนผืนผ้าพบได้ทั่วไปในประเทศ ไทย มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยใช้แต่งหน้าหมอน ย่าม ผ้าหลบ ผ้าเช็ด ตุง หัวซิ่น ตีนซิ่น ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าเบี่ยง ต่อมาพัฒนาเป็นผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ เเละหมอนอิง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการทอผ้าขิดมากที่สุดเพราะผ้าขิดมีความสัมพันธ์กับประเพณีและความเชื่อในการดำรงชีวิตของท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าผ้าขิดมีสกุลสูงกว่าผ้าทั่วไปเนื่องจากนิยมใช้ในงานทางศาสนา ผ้าขิดทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษเกี่ยวกับพิธีทางศาสนาและงานมงคล มักใช้เป็นผ้ากราบ ผ้าห่อคัมภีร์ นอกจากนี้ยังใช้ทำหมอนขิดเพื่อเป็นของขวัญของกำนัลในโอกาสที่สำคัญ รองลงมาจะใช้ทำผ้าคลุมไหล่และผ้าโพกผมเป็นของขวัญของกำนัลให้แก่กันด้วยว่าเป็นของดีเเละมีคุณค่า เนื่องจากสร้างด้วยศรัทธาในศาสนาจึงมักใช้เส้นฝ้ายในการทอผ้าขิดเพราะไม่ปรารถนาจะฆ่าตัวไหมในรังเพื่อมาทำเส้นไหมทอผ้า

ผ้าขิดเป็นผ้าที่ทอขึ้นและสร้างลายด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ขิด” ที่มาจากคำว่า “สะกิด” หมายถึงการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย การทอผ้าขิดเป็นการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ เรียกว่า “ไม้ค้ำ” และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ ลวดลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า “เขา” โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้ายพิเศษ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติิ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น

 

ประเภทของผ้าไหมขิด

ประเภทของผ้าไหมลายขิดที่ทอ มีหลายประเภท ได้แก่

  1. ผ้าไหมลายขิดพื้นสีเดียว คือ ในผ้าผืนเดียวกันนั้นจะมีเพียงลายเดียว และสีเดียวตลอดทั้งผืน

ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา

  1. ผ้าไหมลายขิดมีเชิง คือ ทอแบบประเภทที่ 1 แล้วมาเพิ่มเชิงผ้าในผืนเดียวกันด้วยการทอลวดลายอื่นเข้าไป ส่วนมากจะเป็นสีเดียวกัน
  2. ผ้าไหมขิด-หมี่ คือ การทอผ้าไหมลายขิด ผสม กับผ้าไหมมัดหมี่ทอสลับกันเป็นช่วง ๆ ในผ้าผืนเดียวกันนั้น สีของผ้ามักจะเป็นสีเดียวกัน แต่เล่นระดับของ สีเข้ม-อ่อน สลับกันไปเป็นช่วง ๆ บางทีมีสีอื่น ๆ สลับลงไปด้วย แต่มักอยู่ในเฉดที่ใกล้เคียงกัน

 

นอกจากการได้รับความรู้จากท่านวิทยากรด้านการทอผ้าไหมลายขิดแล้ว  ดิฉันก็ยังได้ปฏิบัติงานโดยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564  ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลรูปภาพเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่ทางโครงการกำหนดรูปแบบมา การลงพื้นที่ในครั้งนี้จะเป็นการลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูลลงระบบ U2T ซึ่งระบบการจัดเก็บข้อมูล U2T จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูลที่มีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละพื้นที่หรือแต่ละสาขา โดยเน้นความยืดหยุ่นและความสะดวกต่อการลงพื้นที่ให้มากที่สุด

นอกจากนี้แล้ว ดิฉันได้ทำการสำรวจแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น ซึ่งแต่ละสถานที่ที่ทำการลงสำรวจ จะเกิดความยากง่ายแตกต่างกันไป เนื่องจากภาวะของโรคระบาดโคโรน่าไวรัสยังมีการแพร่ระบาดอยู่ทั่วประเทศ   ดังนั้นการปฏิบัติงานประจำวันส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานแบบ work from home  ก่อนจะออกปฏิบัติงานในพื้นที่

ที่มา: www.bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter/BOTMuseum/Northern/Pages/textile01.aspx

อื่นๆ

เมนู