“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”
หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ข้าพเจ้า นายสุรศักดิ์ โต่นวุธ ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ด้วยวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมลายขิดยกดอก เพื่อรักษาภูมิปัญญา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมทานตะวัน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ด้วยการระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ปฏิบัติงาน การจัดอบรมรอบนี้จึงเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของวิทยากรในการประกอบอาชีพทอผ้าไหมขิดยกดอก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ปฏิบัติงานได้สัมผัสกับผ้าไหมขิดของจริง จึงเกิดความสนใจและได้หาข้อมูลเรื่องผ้าไหมลายขิดที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านดังต่อไปนี้
ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพลักษณะ ลวดลายและวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาแต่โบราณ ชาวอีสานถือว่าในกระบวนการทอผ้าด้วยกันแล้ว การทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญและมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่นๆ เพราะทอยากมากมีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดา
การทอผ้าลายขิด คือ การทอผ้าที่ทอแบบ “เก็บขิด” หรือ “เก็บดอก” เหมือนผ้าที่มีการปักดอกการทอผ้าดอกนี้ชาวอีสานเรียกว่า “การทอผ้าเก็บขิด”
ลวดลายของขิดแต่ละลายจะมีรูปแบบที่สวยงาม มีความมันวาว นูนลายออกมาบนผืนผ้า ชาวอีสาน โดยทั่วไปนิยมทอผ้าขิดเพื่อทำเป็นหมอน สังเกตว่าลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้นนิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ลวดลายหมอนขิดส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่ผู้ทอได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความเชื่อ เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมมาสน์ เป็นต้น แต่เดิมชาวภาคอีสานนิยมทอลวดลายขิดด้วยเส้นใยฝ้ายสีคราม ส่วนปัจจุบันนิยมใช้สีสันสดใส และพัฒนาการย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ใบไม้ เป็นต้น
ผ้าลายขิดในภาคอีสาน นอกจากทอในกลุ่มภูไทหรือผู้ไทยและไทลาวอื่นๆแล้วยังทอในกลุ่มไทกูยหรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกันโดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจคือผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด มีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือนิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าการใช้เส้นฝ้ายทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ
ปัจจุบันยังคงมีการทอผ้าขาวม้าเชิงขิด ในกลุ่มวัฒนธรรมไทกูยหรือส่วย เขมรที่อยู่จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสระเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์
เทคนิคการขิด
การทอผ้าขิด เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คนไทยได้สืบทอดกันมานานและแพร่หลายในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานซึ่งทอผ้าขิดมากกว่าท้องถิ่นอื่นๆ
คำว่า ขิด เป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสานมาจากคำว่า สะกิดหมายถึงการงัดช้อนขึ้น การสะกิดขึ้นคำว่า ผ้าขิด จึงเป็นการเรียกขานชื่อผ้าตามกระบวนการทอ คือผู้ทอใช้ไม้เก็บขิดสะกิดช้อนเครือเส้นยืนขึ้นเป็นจังหวะตามลวดลายตลอดหน้าผ้าและพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุงเข้าไปตลอดแนวเครือเส้นยืน ที่ถูกงัดช้อนขึ้นนั้น ช่วงจังหวะของความถี่ห่างที่เครือเส้นยืนถูกกำหนดไว้ด้วยไม้เก็บขิดจึงเกิดเป็นลวดลายขิดขึ้น วิธีการทอผ้าแบบ ขิดจึงเป็นรูปแบบการทอผ้าที่สร้างลวดลายขณะทอผ้าบนกี่(หูก)
กรรมวิธีในการทอผ้าลายขิด
วิธีทอผ้าเก็บขิดหรือเก็บดอก นี้ ชาวพื้นเมือง เรียกว่า ” การทอผ้าเก็บขิด ” การทอผ้าขิดเก็บดอกเช่นนี้ ต้องมีไม้ค้ำอันหนึ่งกว้างประมาณ 4 นิ้ว ยาวขนาด 2 ศอก เป็นไม้บาง ๆ และมีไม้ขนาดเล็ก ๆ เป็นไม้สอดใช้สำหรับเก็บขิดให้เป็นลายต่าง ๆ ในบางครั้งก็อาจใช้ไม้เก็บขิดนี้ 30-40 อันก็มี แล้วแต่ความยากง่ายของลาย ฉะนั้นถ้าหากว่าใช้ไม้เก็บขิดจำนวนมากจะทำให้ทอได้ช้ามาก เพราะต้องเก็บดอกทีละเส้น ๆ จนหมดตามลวดลายที่กำหนดไว้
วิธีการเก็บขิดเพื่อสร้างลวดลายในประเทศไทยมี 3 วิธี คือ
- คัดไม้ขิดโดยไม่มีการเก็บตะกอ วิธีการเก็บขิดแบบนี้เหมาะสำหรับการทอลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมาก และต้องการเปลี่ยนลวดลายบ่อย ๆ ไม้ขิดที่เก็บลวดลายจะเรียงกันไปตามลำดับบนเครือเส้นยืนซึ่งอยู่ด้านหลังฟืม
- เก็บขิดเป็นตะกอลอย การเก็บขิดวิธีนี้ ต้องผ่านการคัดไม้ขิดแบบแรกเสียก่อน เสร็จแล้วใช้ด้ายเก็บลายตามไม้ขิดที่คัดไว้ทุกเส้น เรียกว่า เก็บตะกอลอย วิธีนี้สะดวกกว่าวิธีแรกคือไม่ต้องเก็บ ขิดทุกครั้งในเวลาทอ แต่ใช้วิธียกตะกอลอยไล่ไปแต่ละไม้จนครบ วิธีการนี้ทำให้ทอลวดลายซ้ำ ๆ กันได้ โดยไม่ต้องเก็บลายใหม่ทุก ๆ ครั้งเหมือนวิธีแรก แต่ถ้ามีจำนวนตะกอมาก ๆ ก็ไม่เหมาะสมกับวิธีการนี้เช่นกัน
- เก็บตะกอแนวตั้ง การเก็บตะกอแนวตั้ง พัฒนาจากแบบการเก็บขิดดั้งเดิมให้ทอได้สะดวกรวดเร็วขึ้นสามารถทำลวดลายที่ซับซ้อนและมีจำนวนตะกอมากๆได้
แหล่งข้อมูลจาก https://www.qsds.go.th/silkcotton/k26.php
https://www.bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter
https://www.openbase.in.th/node/5631
ด้วยสถานการณ์โลกยุคปัจจุบันการประกอบอาชีพแบบ Work from home น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี การทอผ้าไหมขิด อาจมีขั้นตอนวิธีการทอที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าไหมธรรมดา แต่จากที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับฟังการบรรยาย อาชีพนี้นับเป็นอาชีพที่น่าสนใจอย่างมาก และการเข้ามาส่งเสริมของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมขิดในอนาคตได้อีกด้วย
วิดีโอประกอบการปฏิบัติงาน