“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการหลักสูตร HS05
การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
บทความประจำเดือนธันวาคม 2564

ข้าพเจ้านางสาวณัฐธิดา เธียรวรรณ ผู้ปฏิบัติงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอกเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมอบรมโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกเพื่อรักษาภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชุมชน ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองแฝก โดย อาจารย์ดร.สินีนาฎ รามฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผ้าไหมลายขิดได้มาบรรยายและให้ความรู้ในการออกแบบ
       ข้าพเจ้าได้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น ขิด เป็นวิธีการทำลวดลายบนผืนผ้าพบได้ทั่วไปในประเทศ ไทย มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยใช้แต่งหน้าหมอน ย่าม ผ้าหลบ ผ้าเช็ด ตุง หัวซิ่น ตีนซิ่น ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าเบี่ยง ต่อมาพัฒนาเป็นผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ เเละหมอนอิง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการทอผ้าขิดมากที่สุดเพราะผ้าขิดมีความสัมพันธ์กับประเพณีและความเชื่อในการดำรงชีวิตของท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าผ้าขิดมีสกุลสูงกว่าผ้าทั่วไปเนื่องจากนิยมใช้ในงานทางศาสนา ผ้าขิดทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษเกี่ยวกับพิธีทางศาสนาและงานมงคล มักใช้เป็นผ้ากราบ ผ้าห่อคัมภีร์ นอกจากนี้ยังใช้ทำหมอนขิดเพื่อเป็นของขวัญของกำนัลในโอกาสที่สำคัญ

    ผ้าขิดเป็นผ้าที่ทอขึ้นและสร้างลายด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ขิด” ที่มาจากคำว่า “สะกิด” หมายถึงการงัดซ้อนขึ้นหรือสะกิดซ้อนขึ้นเพื่อทำลวดลาย การทอผ้าขิดเป็นการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเหมือนการจก แต่ลายขิดทำติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ เรียกว่า “ไม้ค้ำ” และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ ลวดลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า “เขา” โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้ายพิเศษ เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติิ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น

ตัวอย่างภาพสเกตซ์กลุ่มแม่ลายผ้าแพรวาโบราณที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์

ภาพสเกตซ์กลุ่มแม่ลายผ้าไหมแพรวาโบราณที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ จากการสังเกตรูปทรงสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ลายขันหมากเบง ลายขอ ลายขาเข ลายมีดโกน เป็นต้น

ภาพสเกตซ์กลุ่มแม่ลายผ้าแพรวาโบราณที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ลายหอปราสาท ลายดาวและลายดาวน้อย เป็นต้น

ภาพสเกตซ์กลุ่มแม่ลายผ้าแพรวาโบราณที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจจากการสังเกตรูปและพฤติกรรมของสัตว์  เช่น ก. ลายตาบ้ง ข.ลายจุ้มตีนหมา ค.ลายนาค ง.ลายคนขี่ช้าง จ.ลายคนขี่ม้า ฉ.ลายตาบ้งขาแข  ช.ลายคน ซ.ลายกะปูน้อยและ ฌ.ลายงูลอยห้าไม้

การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าแพรวาของสตรีชาวผู้ไทนั้นเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากการสังเกตธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ผสมผสานกับวิถีการดำเนินชีวิตที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ผู้ไทอย่างเหนียวแน่น ทั้งนี้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าแพรวาของสตรีชาวผู้ไทมาจาก 4 แนวคิดด้วยกัน คือ
1) การสร้างสรรค์ลวดลายด้วยแรงบันดาลใจจากการสังเกตรูปพฤกษา อาทิ ลายดอกมะส้าน ลายดอกบัว
ลายดอกช่อต้นสน ลายดอกหมาก ลายช่อดอกไม้ ลายดอกส้มป่อย ลายกาบแบด ลายดอกแก้ว ลายดอกแก้วน้อย ลายผักแว่นขาเข ลายดอกใบบุ่นก้านก่อง ลายกาบแบดตัด ลายดอกจันกิ่ง ลายดอกพันมหา ลายดอกดาวไต่เครือ ฯลฯ
2) การสร้างสรรค์ลวดลายด้วยแรงบันดาลใจจากการสังเกตรูปและพฤติกรรมของคนและสัตว์ อาทิ ลายตาบ้ง
ลายจุ้มตีนหมา ลายนาค ลายคนขี่ช้าง ลายคนขี่ม้า ลายตาบ้งขาแข ลายคน ลายกะปูน้อย ลายงูลอยห้าไม้ฯลฯ
3) การสร้างสรรค์ลวดลายด้วยแรงบันดาลใจจากการสังเกตรูปสิ่งของเครื่องใช้ อาทิ
ลายช่อตีนพาน ลายขาเปีย ลายขาเข ลายกง ลายเบ็ด ฯลฯ
4) การสร้างสรรค์ลวดลายด้วยแรงบันดาลใจจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว อาทิ ลายดาว ลายกระบวน ลายหอผาสาท ลายขอ ลายจะแก ฯลฯ

ลวดลายที่สร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจเหล่านี้ล้วนถูกถ่ายทอดด้วยฝีมือการถักทอ ของสตรีชาวผู้ไท ให้ปรากฏเป็นองค์ประกอบของลวดลายบนผืนผ้าไหม แพรวา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1) ลายหลัก เป็นลวดลายแนวนอนที่ปรากฏบนพื้นที่ส่วนใหญ่ของผืนผ้าแต่ละแถว มีความกว้างประมาณ
8 – 12 เซนติเมตร ลายหลักเกิดจากองค์ประกอบย่อย 3 ส่วน ได้แก่ ลายนอก คือ ส่วนที่มีลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมปรากฏคู่ขนานกับลายในไปตลอด ความกว้างของผืนผ้า ลายใน คือ ส่วนที่อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนซึ่งปรากฏอยู่ ตรงกลางของแถวหลักและลายเครือ เป็นส่วนที่ปรากฏแถวบนของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ในแต่ละแนว โดยจุดกึ่งกลางของลายจะอยู่บริเวณส่วนยอดของลายเครือ ทั้งนี้ผ้าไหมแพรวา แต่ละผืนจะมีลายหลักปรากฏอยู่ประมาณ 13 แถว ตัวอย่างลวดลายที่นิยมนำมาใช้ถักทอ เป็นลายหลัก ได้แก่ ลายนาคสี่แขน ลายพันมหา ลายดอกสา ฯลฯ
2) ดอกอ้อมคั่นลาย หรือลายคั่น เป็น ลวดลายขนาดเล็กที่ปรากฏตามแนวขวางบนผืน ผ้าไหมแพรวา แต่
ละลายมีความกว้างประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร ดอกอ้อมคั่นลาย ทำหน้าที่ เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วง ๆ ตัวอย่างลวดลายที่นิยมนำมาใช้ถักทอเป็นดอกอ้อมคั่นลาย ได้แก่ ลายตาไก่ ลายงูลอย ลายขาเข ฯลฯ
3) ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิงผ้า เป็น ลายต่อจากดอกอ้อมคั่นลาย แต่ละลาย มีความกว้างประมาณ
4 – 10 เซนติเมตร ปรากฏอยู่บริเวณส่วนปลายของผ้าทั้งสองข้าง ทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้าแพรวา ตัวอย่างลวดลายที่นิยมนำมาใช้ถักทอเป็น ลายช่อปลายเชิง ได้แก่ บายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายใบบุ่นน้อย ฯลฯ

ในการอบรมครั้งนี้ข้าพเจ้ายังได้ร่วมทำกิจกรรม Workshop ออกแบบลายผ้าลงในกระดาษโมเสกโดยการนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ในการอบรมมาใช้ในการออกแบบลายผ้า โดยอาจารย์ดร.สินีนาฎ รามฤทธิ์ ได้ให้หัวข้อเกี่ยวกับตำบลเมืองแฝก และให้ผู้ปฏิบัติงานออกแบบเป็นความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง สามารถนำสิ่งของเครื่องใช้ สัตว์เลี้ยง ธรรมชาติหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับประจำตำบลเมืองแฝก มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายผ้าไหมได้อย่างสวยงาม ตรงตามเป้าหมาย

อื่นๆ

เมนู