“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”

โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

หลักสูตร HS05การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน ธันวาคม 2564

 

สวัสดีครับ กระผมนายพงศธร ประสีระเตสัง ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานประจำตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตร HS05 : การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) บัดนี้กระผมขออนุญาตรายงานการปฏิบัติงานประจำเดือน ธันวาคม 2564 นี้ ให้ทราบโดยทั่วกัน

เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากในขณะนี้ทางภาครัฐได้มีมาตรการปลดล็อค ผ่อนคลายกิจกรรมบางกิจกรรมทางสังคมแล้วในบางกิจกรรม รวมถึงการเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ แต่ยังคงอยู่ในมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดเช่นเดิม จึงทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมามีผลเป็นรูปธรรม การรายงานผลการปฏิบัติงานในครั้งนี้กระผมขออนุญาตกล่าวผลของการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงช่วงปัจจุบันว่าได้มีการดำเนินงานไปในลักษณะใด มีผลการดำเนินงานอย่างไร เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลาการดำเนินงานของกระผมและผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลเมืองแฝก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติงานโดยการลงพื้นที่เพื่อกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์ม 01, 02 และ 06 ตามพื้นที่ที่ได้รับผิดชอบของแต่บุคคลเพื่อที่จะได้เก็บข้อมูลให้ได้ตามเป้าหมายโดยแบบฟอร์ม 01 คือ แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน แบบฟอร์ม 02 คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และแบบฟอร์ม 06 คือ แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่รบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ การลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน เพราะการที่เราจะเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ผู้ปฏิบัติงานต้องมีทักษะ มีไหวพริบ รวมถึงท่วงทีวาจาที่จะเข้าถึงบุคคลเหล่านั้นให้ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะบางพื้นที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นคนต่างถิ่นต่างหมู่บ้านทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในระยะแรก ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก่อนเข้าพื้นที่ผู้ปฏิบัติงานก็จะต้องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนก่อน เพื่อที่จะได้แจ้งให้คนในชุมชนทราบก่อนที่จะลงพื้นที่ แต่คนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

แบบฟอร์ม 01 คือ แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลดังกล่าว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ทำนา ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ทำสวนยางพารา เป็นต้น การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน (01) ทำให้ทราบถึงปัญหา ความต้องการ และผลกระทบของชุมชนที่ประชาชนต้องการให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนและทำการแก้ไขอย่างจริงจัง

แบบฟอร์ม 02 คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันมากเท่าไหร่นัก การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น การเดินทางไปต่างจังหวัด การจับจ่ายใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภค การเดินทางเข้ารับการรักษา การบริการด้านสาธารณสุข อาจมีผลกระทบเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่ใช้บริการจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (อนามัย) และคลินิกในตัวเมือง จากผลกระทบและโรคภัยที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่

แบบฟอร์ม 06 คือ แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่รบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ซึ่งประกอบด้วยแบบสำรวจ 4 ชุดคือ ชุดที่ 1 สำหรับที่พักอาศัย ตำบลเมืองแฝกมีหมู่บ้านทั้งหมด 17 หมู่บ้าน ประชากรซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รับจ้าง ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจบางส่วน ชุดที่ 2 สำหรับตลาด ตำบลเมืองแฝกนั้นมีตลาดอยู่ 2 แห่งด้วยกันคือ สถานที่ที่คล้ายตลาดเนื่องจากมีซุปเปอร์มาเก็ตและการเปิดร้านขายสินค้าต่าง ๆ และแผงอาหารสดอยู่จำนวนหนึ่งเป็นประจำที่บริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแฝก และอีกจุดหนึ่งคือตลาดนัดคลองถมบ้านหนองเก้าข่าที่เปิดทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีแต่ในปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการเนื่องจากโควิด-19 ชุดที่ 3 สำหรับศาสนสถาน ตำบลเมืองแฝกมีวัดจำนวน 9 วัด และสำนักสงฆ์จำนวน 5 แห่ง และชุดที่ 4 สำหรับโรงเรียน ตำบลเมืองแฝกมีโรงเรียนในเขตพื้นที่การปกครองทั้งหมด 9 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 1 แห่ง

ผ้าทอลายขิด เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลางของไทย นับว่าเป็นศิลปะพื้นฐานที่สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ ลวดลาย และวิวัฒนาการของท้องถิ่นเดิมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ ชาวอีสานถือกันว่าในกระบวนการทอผ้านั้นการทอผ้าขิดต้องอาศัยความชำนาญและมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอื่นๆ เพราะทอยากและมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากกว่าการทอผ้าธรรมดาทั่วไป ผ้าลายขิดในภาคอีสานนอกจากทอในกลุ่มภูไทและไทลาวอื่นๆ แล้ว ยังทอในกลุ่มไทกูยหรือส่วย เขมร ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และที่น่าสนใจคือผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด ซึ่งมีลักษณะการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าใช้เส้นฝ้ายทอเหมือนกลุ่มอื่นๆ ปัจจุบันยังคงมีการทอผ้าขาวม้าเชิงขิดในกลุ่มวัฒนธรรมไทกูยหรือส่วย เขมร ที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

   

ผ้าไหมขิดยกดอก เดิมทีเรียกว่า “ผ้าตีนจกหรือผ้าซิ่นตีนจก” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นสินค้า OTOP ประจำจังหวัดราชบุรี การทอผ้าชนิดนี้มีลักษณะเด่นกว่าผ้าทอมือทั่วไปคือ เป็นผ้าทอด้วยมือทั้งการทอให้เป็นผืนและการจกลายต่างๆ ที่จกลายด้วยขนเม่นหรือแท่งเหล็กคล้ายตะเกียบซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและพิถีพิถันในการทอเป็นอย่างมาก ผ้าตีนจกเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและสวยสดงดงามเนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่อมาชาวบ้านโคกสว่าง หมู่ 16 ที่ได้ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการในการทอผ้าตีนจกจนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่นได้ ได้นำเอาผ้าตีนจกนี้กลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดของตนอีกทั้งมียังมีผู้คนให้ความสนใจในการทอผ้าชนิดนี้อยู่มาก จึงได้ทำการจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “ผ้าไหมขิดยกดอก” การแปรรูปผ้าไหมลายขิดยกดอก เช่น การนำลวดลายของผ้าไหมลายขิดยกดอกไปประกอบเข้ากับสิ่งของเครื่องใช้ชนิดต่างๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ต้องการของท้องตลาดมากกว่าปัจจุบัน

องค์ประกอบของการทอผ้าขึ้นอยู่กับลักษณะและรูปแบบของการทอผ้าชนิดต่างๆ แต่ยังมีส่วนของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทอผ้าคล้ายกันอยู่และมีขนาดที่แตกต่างกันไปตามขนาดของผ้าที่จะทอ เช่น ขนาดและลักษณะของกี่ทอผ้า ขนาดของฟืม เส้นไหมที่ใช้ทอผ้า และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เป็นต้น จากการสอบถามข้อมูลจากผู้ทอผ้าไหมลายขิดยกดอกแต่ละคนจะมีวัสดุอุปกรณ์ และองค์ประกอบของการทอผ้าที่แตกต่างกันไปตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

1.กี่ทอผ้า

2.ฟืม

3.ตะกอ

4.กระสวย

5.ไหม เส้นไหม

6.เข็มทอ

7.ไม้ผัง

8.ไม้เหยียบ

9.เขาฟืม เขาตะกอ

10.เครือ

11.ฉโนดทอผ้าหรือแบบทอ

12.ไม้คัดตะกอ

13.ที่วางไหม

14.ไม้ไคว้

15.แปรงหวีไหม

16.เหล็กล็อกไม้กำปั้น

17.กรรไกร

การศึกษาองค์ประกอบของการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกจากการศึกษาพบว่าในผ้าซิ่นหนึ่งผืนนั้นประกอบไปด้วยผ้า 3 ส่วน คือ ส่วนหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น เมื่อนำทั้ง 3 ส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็จะกลายเป็นผ้าซิ่น 1 ผืน ซึ่งลวดลายที่ทอนั้นจะอยู่ในส่วนของตีนซิ่นเป็นส่วนใหญ่ ในการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกนั้นคล้ายกันกับการทอผ้าซิ่นธรรมดาทั่วไป เพียงแต่มีวัสดุ อุปกรณ์บางชนิดที่แตกต่างกันออกไปรวมถึงขนาดของสิ่งที่ใช้ทอ การทอผ้าชนิดนี้ผู้ทอจำเป็นต้องมีประสบการณ์และมีความปราณีตสูงเนื่องจากชิ้นงานการทอมีความละเอียดและมีราคาสูง

ทั้งนี้ นอกจากการอบรมหลักสูตรการทอผ้าไหมลายขิดยกดอกแล้ว กระผมยังได้เข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จัดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้และสร้างความสามัคคีให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น โครงการปลูกป่า การรณรงค์และเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 (Covid Week) การอบรมการตลาดออนไลน์ การแปรรูปสินค้าและการสร้างมูลค่าเพิ่ม การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เป็นต้น

อื่นๆ

เมนู