“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”

หลักสูตร HS05 การทอผ้าไหมขิดยกดอก เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

สวัสดีค่ะ  ดิฉันนางสาวโสรญา หนองหารเป็นผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน ประจำตำบลเมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร HS05: การทอผ้าไหมขิดยกดอกเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับผ้าไหมขิดยกดอกเรามารู้จักความเป็นมาของผ้าไหมและประเภทผ้าไหมที่มีในประเทศไทยกันก่อนนะคะ

ความเป็นมาของผ้าไหม

ผ้าไหมมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและประเทศอินเดีย การทอผ้าไหมมีขึ้นราว 2,640 ปี ก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้เผยแพร่ผ้าไหมสู่พื้นที่อื่นในแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทย นักโบราณคดีพบหลักฐานที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเมื่อ 3,000 ปีก่อนการทอผ้าไหมในประเทศไทยในอดีตมีการทำกันในครัวเรือนเพื่อใช้เอง หรือทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธี เช่น งานบุญ งานแต่งงาน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ได้ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ผ้าไหม ส่วนการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น แต่การดำเนินงานของโครงการก็ทำได้เพียงระยะหนึ่งมีอันต้องหยุดไป เนื่องจากเกษตรกรไทยยังคงทำในลักษณะแบบดั้งเดิมเพราะความเคยชิน ไม่ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่แบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากความช่วยเหลือของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผ้าไหมไทยขึ้น โดย เจมส์แฮร์ริสัน วิสสัน ทอมป์สัน ชาวสหรัฐอเมริกาหรือที่คนไทยรู้จักในนามว่า จิมทอมป์สัน ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจผลงานด้านศิลปะ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งลาว และเขมร จิม ทอมป์สัน ได้ซื้อผ้าไหมไทยลวดลายต่างๆ เก็บสะสมไว้ และทำการศึกษาลวดลายผ้าไหมในหมู่บ้านที่เป็นแหล่งการผลิตผ้าไหม พร้อมกับเสาะแสวงหาช่างทอผ้าไหมฝีมือดี ในที่สุดได้พบช่างมีฝีมือถูกใจที่กรุงเทพมหานคร บริเวณชุมชนบ้านครัว (หลังโรงแรมเอเชีย เขตราชเทวีในปัจจุบัน)

ชุมชนแห่งนี้เดิมเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายเขมร อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความชำนาญในการทอผ้าไหม ซึ่ง จิมทอมป์สัน ได้เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนทอผ้าไหม สามารถสร้างรายให้ชาวบ้านมากขึ้น หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงผ้าไหมไทยโดยใช้หลักการตลาด การผลิต เพื่อขยายตลาด และทำการบุกเบิกผ้าไหมของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และแพร่เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของชาติตะวันตก และละครบรอดเวย์ในปี .. 2502 นักออกแบบชาวฝรั่งเศสได้ใช้ผ้าไหมไทยทำการออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสผ้าไหมของไทยสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเป็นทางการ

พอทราบความเป็นมาของผ้าไหมแล้วเรามารู้จักประเภทของผ้าไหมที่มีในประเทศไทยกันค่ะประเภทไหมไทย

ผ้าไหมไทยนับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ ลวดลาย และสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมในพื้นถิ่น โดยกรรมวิธีทำให้เกิดลวดลายในผ้าไหมไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ลวดลายจากกรรมวิธีการทอ เช่น จก ยก ขิด ขัด ลวดลายจากกรรมวิธีการเตรียมลวดลายเส้นด้ายก่อนทอ เช่น การมัดหมี่ และลวดลายจากกรรมวิธีการทำลวดลายหลังจากเป็นผืนผ้า เช่น การย้อม การมัดย้อม อย่างไรก็ตามหากเราจำแนกผ้าไหมไทยตามกรรมวิธีเทคนิคการทอสามารถจำแนกได้โดยสังเขป ได้แก่การทอขัดการมัดหมี่การจก  การยก  การควบเส้น  และการขิด ซึ่งการทอผ้าไหมแบบต่าง ๆ ล้วนมีความสวยงามและมีลวดลายเฉพาะตามประเภทของลักษณะการทอนั้น ๆ แต่ในที่นี้ดิฉันจะขอกล่าวถึง การทอผ้าแบบการขิดเป็นหลัก  เพราะโครงการ HS 05 ของตำบลเมืองแฝก ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมลายขิด  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั่นเอง
การขิด

การขิดเป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสาน หมายถึง สะกิดหรืองัดช้อนขึ้น ดังนั้นการทอผ้าขิดจึงหมายถึงกรรมวิธีการทอที่ผู้ทอใช้ไม้ เรียกว่า “ไม้เก็บขิด” สะกิดหรือช้อนเส้นยืนยกขึ้นเป็นช่วงระยะตามลวดลายตลอดหน้าผ้า แล้วพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนว ทำให้เกิดเป็นลวดลายยกตัวนูนบนผืนผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายซ้ำๆ ตลอดแนวผ้า โดยสีของลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นสีของด้ายพุ่งพิเศษ
ผ้าขิดมีการทอในหลายพื้นที่ ลวดลาย สีสัน และการใช้งานแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กลุ่มชาวภูไท ไทลาว และไทกูยหรือส่วยเขมร ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มไทยวนและไทลื้อ ในภาคกลาง เช่น กลุ่มไทครั่งหรือลาวครั่ง และในภาคใต้ที่บ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง
ในชาวอีสานโดยทั่วไป นิยมทอผ้าขิดด้วยฝ้ายเพื่อใช้ทำหมอน โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายหอปราสาทหรือธรรมาสน์ ลายพญานาค ลายช้าง ลายม้า ลายดอกแก้ว เป็นต้น ลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้น นิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง
ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มีการทอทั้งหมอนขิดขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าฝ้ายเพราะมีมูลค่าในการจำหน่ายที่สูงกว่า  ผ้าไหมลายขิดในเขตตำบลเมืองแฝกได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณจักรพงษ์อัลทะชัย  ซึ่งได้เรียนรู้การทอผ้าแบบขิดมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่อายุ 10 ปี ครั้นพอเติบโตขึ้นและได้แต่งงานกับภรรยาชาวบ้านหนองเก้าข่า ตำบลเมืองแฝก  เมื่อคุณจักรพงษ์ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหนองเก้าข่า  ก็ได้ชักชวนให้ภรรยาและเพื่อนบ้านคนอื่นมาทอผ้าไหมลายขิดยกดอกกัน  ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนก็มาเรียนรู้กับคุณจักรพงษ์และภรรยาแต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก  ทั้ง ๆ ที่การทอผ้าไหมลายขิดยกดอกสามารถนำรายได้พิเศษมาให้ครอบครัวได้อย่างยั่งยืน  มีตลาดรองรับที่แน่นอน  ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนรู้จักกับการทอผ้าไหมลายขิดยกดอก  จะทำให้พวกเขาทั้งหลายสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้และจะส่งเสริมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

 

 

 

อื่นๆ

เมนู