ข้าพเจ้านาย นิสิต คำหล้า ประเภทประชาชน HS06 ตำบลแสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานและวิเคราะห์หมู่บ้านบุก้านตงพัฒนา ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยมีกระบวนการดำเนินตามแผนการปฏิบัติงานตามลำดับดังนี้คือ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ดฟางและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวและเปลือกมันสำปะหลัง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมศึกษาและรับการฝึกอบรมกับสมาชิกในกลุ่ม ในด้านการเก็บข้อมูลภาคสนามได้ทำการกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์ม 01, 02 และ 06 เพื่อทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลชุมชน สรุปผลจากการสัมภาษณ์คนในชุมชนบุก้านตงพัฒนาพบว่า คนในกลุ่มเป้าหมายสนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในการปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตรตน ในด้านการจัดการป้องกันโรคโควิด-19 ชาวบ้านค่อนข้างมีการระมัดระวังป้องกันโรคเป็นอย่างดี
จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามพบว่า ในเขตบ้านบุก้านตงพัฒนา หมู่ที่ 16 และเขตหมู่บ้านข้างเคียง มีฟาง เศษใบไม้ การมันสำปะหลัง และเศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์ต่างๆ ที่พอจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านการผลิตปุ๋ยจากใบไม้ ปุ๋ยจากวัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ หรือมีศักยภาพในการนำวัตถุดิบอินทรีย์มาผลิตเห็ดชนิดต่างๆหรือการเพิ่มมูลค่าได้ด้านอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการค้าและการบริโภคในครัวเรือน เพื่อที่จะสนับสนุนระบบเกษตรพอเพียงหรือสนับสนุนการทำเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของชุมชน โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมจำนวน 5 คน จากตัวแทนสมาชิกครัวเรือน ที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ดฟางและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวและเปลือกมันสำปะหลัง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมศึกษาและรับการฝึกอบรมร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม 5 คนดังนี้
๑. นางเภา เสือซ่อนโพรง บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑๖
๒. นางเสาร์ จันโสดา บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑๖
๓. นางสาวพัชรีพร ภาคะ บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑๖
๔. นางอัมพร โพนรัตน์ บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑๖
๕. นางสาวพรจันทร์ บุญทอง บ้านเลขที่ หมู่ที่ ๑๖
กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ดฟางและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวและเปลือกมันสำปะหลังมีกิจกรรมต่างๆดังนี้
- แนะนำและเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ดฟางและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวและเปลือกมันสำปะหลังโดยคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์
- การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่างๆจากฟางข้าวและเปลือกมันสำปะหลัง และการผลิตเห็ดฟาง
โดยมีสูตรที่อบรมดังนี้
2.1 สูตรไตรโครเดอร์มาและวิธีการทำ
นำน้ำจำนวน 20 ลิตรใส่ภาชนะ จากนั้นใส่น้ำตาลแดงลงไป 2 กิโลกรัม นำเชื้อไตรโครเดอร์มา 2 ช้อนแกงมาเทใส่ถัง ผสมให้เข้ากันในทิศทางเดียวกัน ให้น้ำตาลละลาย จากนั้นทำการหมักไว้ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันก็สามารถนำออกไปใช้ได้เลย โดยอัตราส่วนผสมคือ 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร โดยสูตรนี้สามารถนำไปใช้ป้องกันเชื้อรา แก้โรครากเน่า โคเน่า และโรคแคงเกอร์
2.1 สูตรฮอร์โมนกล้วยและวิธีการทำ
นำน้ำจำนวน 20 ลิตรใส่ภาชนะ ทำการสับหน่อกล้วยให้ละเอียด ผสมให้เข้ากันกับกากน้ำตาลสัดส่วน กล้วย 3 ส่วน น้ำตาล 1 ส่วน จากนั้นทำการหมักไว้ 7 วันก็สามารถนำออกไปใช้ได้เลย โดยอัตราส่วนการผสมคือ 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้เพื่อเร่งดอก บำรุงใบ เร่งผลผลิต
2.1 สูตรฮอร์โมนไข่และวิธีการทำ
นำน้ำจำนวน 20 ลิตรใส่ภาชนะ ทำการใส่ไข่ไก่ปั่น 6 ฟอง ผสมให้เข้ากันกับกากน้ำตาล 6 กิโลกรัม ผสมแป้งข้าวหมาก 1 ก้อน ใส่ยาคูลย์หรือนมเปรี้ยว 1 ขวด นำไปคนให้เข้ากันห้ามสลับทาง ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเท จากนั้นทำการหมักไว้ 14 วันก็สามารถนำออกไปใช้ได้เลย โดยผสมใช้ในอัตราส่วน 2-5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้เพื่อเร่งดอก บำรุงใบ เร่งผลผลิต
- การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
ซึ่งมีขั้นตอนการเพาะดังนี้
3.1. การทุบก้อนเชื้อให้แตกพอประมาณผสมแป้งสาลี
3.2. การใส่ฟางที่แช่น้ำ 1 คืนลงในตะกร้า
3.3 โรยอาหารเสริมลงไป เช่น รำ หรือผักตบชวาหั่น
3.4 โรยเชื้อเห็ดฟางบนอาหารเสริม
3.5 ทำชั้นที่ 2 หรือ 3 ด้วยวิธีการเดิมสลับกันไป
3.6 นำตะกร้าไปวางบนที่จัดเตรียม
3.7 นำสุ่มไก่หรือโครงไม้ไผ่มาครอบตะกร้า
3.8 นำพลาสติกมาคลุมโครงไม้ไผ่หรือสุ่มไก่ให้มิดชิดเพื่อไม่ให้แสงเข้า
- แผนปฏิบัติงานในเดือนถัดไป (มิถุนายน)
4.1 จัดเก็บและบันทึกแหล่งข้อมูลสำคัญในพื้นที่ให้ครบ 100%
4.2 จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นและเลือกต้นแบบในการพัฒนาและสร้างเครือข่าย
4.3 ติดตาม ให้คำแนะนำการปฏิบัติ และการพัฒนากลุ่มสมาชิกเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างสอดประสานในพื้นที่เป้าหมาย
- ปัญหาและอุปสรรค
5.1 สภาพการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ค่อนข้างมากเป็นอุปสรรคทั้งในฝึกการอบรมและการลงปฏิบัติการในภาคสนาม
5.2 เกษตรกรและผู้นำชุมชนยังคงกังวลใจในการระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการทำงาน