หลักสูตร: HS06 รายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร เมื่อวันที่ 10 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแสงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประชุมและวางแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
สภาพโดยทั่วไปของตำบลแสงพันนั้นเป็นที่ราบโล่ง ดินร่วนปนทราย มีหนองน้ำสาธารณะในแหล่งชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกพืชไร่ แตงโม ข้าวโพด ปลูกผัก และประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น ค้าขาย รับจ้าง มีหมู่บ้านทั้งหมด17หมู่บ้าน
เมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 9.00 น. ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่หมู่บ้านที่รับผิดชอบ ได้แก่ บ้านบุขี้เหล็ก บ้านบุขี้เหล็กพัฒนา และบ้านบุขี้เหล็กใหม่เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน เพื่อศึกษาสภาพบริบททั่วไปของชุมชนว่ามีประวัติเป็นมาอย่างไร ชุมชนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดด้านต่างๆได้ บ้านบุขี้เหล็กใหม่หมู่ที่11นั้นมีผู้ใหญ่สมพงษ์ เชียงรัมย์ เป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านนั้นมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปศุสัตว์ เลี้ยงวัวควาย เลี้ยงไก่เลี้ยงหมู และยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เช่น บุญเดือนสาม บุญกระยาสาท บุญบั้งไฟ เป็นต้น ข้าพเจ้านั้นได้นำแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคลครัวเรือนและชุมชนตามแบบฟอร์ม01และแบบฟอร์ม02 เพื่อเป็นการประเมินข้อมูลเบื้องต้นทำให้ได้ทราบความต้องการของชุมชนในการพัฒนาอาชีพหลังการเก็บเกี่ยว และได้ทราบว่าในชุมชนนั้นมีภูมิปัญญาในด้านต่างๆ มีการทำเครื่องจักสาน การทอผ้าไหม การทอเสื่อจากต้นกก ภายในชุมชนนั้นยังมีหนองน้ำขนาดใหญ่ใช้ผลิตน้ำปะปาเพื่ออุปโภคบริโภค และยังมีวัดเป็นศาสนสถานไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
สำหรับแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านนั้นประชาชนให้ข้อแนะนำควรที่จะมีการส่งเสริมอาชีพอย่างจริงจังในโครงการต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่ทำแล้วสามารถขายได้มีตลาดรองรับ และมีหน่วยงานราชการมาฝึกอบรม พัฒนาอาชีพและสามารถต่อยอดได้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน