ข้าพเจ้านาย นิสิต คำหล้า ประเภทประชาชน HS06 ตำบลแสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานและบริบททั่วไปของหมู่บ้านบุก้านตงพัฒนา ทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน  ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานช่วงกลางเดือนกุมพาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม 2564 โดยมีกระบวนการดำเนินตามแผนการปฏิบัติงานตามลำดับดังนี้คือ ได้มีการประชุมวางแผนงานในเดือนมีนาคม มีการประชุมติดตามผลการปฏิบัติงาน และได้ทำการประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติการในรอบเดือนที่ผ่านมาและได้วางแผนปฏิบัติงานในเดือนเมษายน ในด้านการเก็บข้อมูลภาคสนามได้ทำการเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์ม 01 และ 02 เพื่อทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ทั้งรายงานผลตามแบบฟอร์ม 01 และ 02 สรุปผลจากการสัมภาษณ์คนในชุมชนบุก้านตงพัฒนาพบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นแกนหลัก ร่วมกับการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว เป็ด ไก่ เป็นหลัก ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในชุมชน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นจำนวนมาก มีรายจ่ายมากมายหลายช่องทาง ทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและขาดช่องทางเพื่อเข้าสู่ตลาดที่กว้างขึ้น เข้าไม่ถึงการตลาดใหญ่ๆ ทำให้ไม่มีรายรับในส่วนนี้เท่าที่ควร สำหรับในการสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าคนในชุมชนบางส่วนได้อพยพไปหางานต่างพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและเขตภาคกลาง นอกจากนี้ในแง่มิติทางสังคมจะพบผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน ในขณะที่คนหนุ่มสาวหรือคนวัยแรงงานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน นอกชุมชน หรือบางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่จังหวัดอื่นๆเพื่อหางานทำ หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดโควิดและป้องกันโรค ชุมชนเข้าใจการป้องกันเป็นอย่างดี มีการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคระบาดโควิด 19 ได้อย่างเหมาะสม

            สภาพบริบทและสภาพการผลิตของหมู่บ้านบุก้านตงพัฒนา

ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และเลี้ยงสัตว์ ระบบทรัพยากรเศรษฐกิจเกษตร ในพื้นที่ ต.แสลงพัน ระบบเกษตรเป็นระบบปลูกข้าวเป็นแกนหลักตามด้วยการมีระบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือระบบปลูกพืชผักแบบพึ่งตนเองและมีกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อในชุมชน สัตว์เลี้ยงชุมชนส่วนใหญ่คือ โค กระบือ สุกร ไก่ เป็ดและปลา มีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนกันไปตลอดปี

ระบบการผลิตของหมู่บ้านบุก้านตงพัฒนา เป็นปลูกพืชผักแบบผสมผสานร่วมกับระบบการเลี้ยงสัตว์ พืชที่ปลูกคือปลูกข้าว พืชผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ แตง โหระพา ผักบุ้ง หอม บวบ ฟักแฟง รวมทั้งหญ้าอาหารสัตว์โดยส่วนใหญ่จะมีการปลูกตามสวนใกล้บ้านหรือที่นาใกล้กระท่อมหรือที่พักในหัวไร่ปลายนาของเกษตรกร ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องเก็บฟางที่เหลือจากการเกี่ยวข้าวและมีการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เพื่อให้มั่นใจว่าวัวควายมีอาหารสัตว์พอกินตลอดทั้งปี ในส่วนของพืชไร่ เช่น มันสำปะหลังและอ้อยมีการปลูกที่น้อยมากในชุมชนแห่งนี้ จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามพบว่า ในเขตบ้านบุก้านตงพัฒนา หมู่ที่ 16 และเขตหมู่บ้านข้างเคียง จะมีฟาง เศษใบไม้ เศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์ต่างๆ ที่พอจะมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านการผลิตปุ๋ยจากใบไม้ ปุ๋ยจากวัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ หรือมีศักยภาพในการนำวัตถุดิบอินทรีย์มาผลิตเห็ดชนิดต่างๆหรือการเพิ่มมูลค่าได้ด้านอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการค้าและการบริโภคในครัวเรือน เพื่อที่จะสนับสนุนระบบเกษตรพอเพียงหรือสนับสนุนการทำเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนของชุมชน

อื่นๆ

เมนู