โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
บ้านแสลงพันพัฒนา ตำบลแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ประจำเดือน พฤศจิกายน 2564
หลักสูตร HS06- การสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
โดยนางสาว ศิรินันท์ ฝาสูงเนิน ประเภท บัณฑิตจบใหม่ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำตำบลแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่รับผิดชอบ หมู่ 14 บ้านแสลงพันพัฒนา ตำบลแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
ในเดือนพฤศจิกายน ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานทุกท่านพร้อมด้วยคณาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการร่วมประชุมวางแผนงานในการดำเนินงานลงปฏิบัติงานกัน ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 และ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อวางแผนจัดการงานในส่วนต่างๆ เช่น การนัดทำกิจกรรมลงพื้นที่การพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพการกรอกข้อมูลตามแบบ 01 02 06 แอปพลิเคชั่น U2tให้แล้วเสร็จ ติดตามการปลูกผักอินทรีย์ แจกเมล็ดพันธ์ผักสวนครัวและการติดตามการทำน้ำหมักชีวภาพของแต่ละชุมชนที่ตนได้รับผิดชอบและการพัฒนาการทำตลาดออนไลน์ของคนแสลงพัน
กิจกรรมที่ดำเนินการปฏิบัติประจำเดือนพฤศจิกายน มีดังนี้
1)การติดตามการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพและสารปรับปรุงดิน และการปลูกผักสวนครัวเพื่อลดค่าใช้จ่าย บนฐานคิดเกี่ยวกับการนำเศษวัสดุเหลือใช้
กิจกรรมการติดตามการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพและสารปรับปรุงดิน ในวันที่ 27-28 ตุลาคม 2564 โดยอบรมการทำน้ำหมักสูตรต่างๆ บรรจุภัณฑ์น้ำหมักใส่ขวดแจกให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมอบรมฝึกปฏิบัติ และใส่ถังให้กับชาวบ้านนำไปใช้พร้อมกับต้นกล้าพันธุ์ผักชนิดต่างๆแจกเมล็ดพันธุ์ผัก ต้นกล้าผักชนิดต่างๆ และดินปลูกพร้อมถุงดำให้กับชาวบ้านที่เข้าอบรมในครั้งนี้นำไปปฏิบัติปลูกหน้าบ้านของตน มี 4 กลุ่ม รวม 17 หมู่บ้านดังนี้
เช้าของวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00-10.30 น. ณ ศาลาประชาคมบ้านแสลงพัน หมู่ 7 มีสมาชิกเข้าร่วม 5 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านหนองตาดตามุ่ง หมู่ 5 บ้านแสลงพันหมู่ 7 บ้านแสลงพันพัฒนา หมู่ 14 บ้านบุก้านตง หมู่12และบ้านบุก้านตงพัฒนา หมู่ 16
บ่ายของวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00-14.30 น. ณ วัดบ้านโคกใหม่ มีสมาชิกเข้าร่วม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโคกใหม่ หมู่ 1 บ้านหนองสรวง หมู่ 3 และบ้านโคกใหม่พัฒนา หมู่ 15
เช้าของวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00-10.30 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลแสลงพัน มีสมาชิกเข้าร่วม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองผักโพด หมู่ 4 บ้านสี่เหลี่ยมน้อย หมู่ 9 บ้านสี่เหลี่ยมเจริญ หมู่ 10 และบ้านสามเขย หมู่ 13
บ่ายของวันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00-10.30 น. ณ ศาลาประชาคมบ้านบุขี้เหล็กใหม่ มีสมาชิกเข้าร่วม 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองระนาม หมู่ 2 บ้านบุขี้เหล็ก หมู่ 6 บ้านหนองตาหล่า หมู่ 8 บ้านบุขี้เหล็กใหม่ หมู่ 11 และบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ 17
การติดตามการปลูกผักสวนครัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่บ้านแสลงพันพัฒนา หมู่ 14
สูตรน้ำหมักชีวภาพ
1.ฮอร์โมนไข่
ส่วนผสม
1.นมเปรี้ยวขนาด 1 ขวด (หรือจุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร)
2.ไข่ไก่ หรือไข่เป็ด 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 15 ฟอง (ไข่ไก่เบอร์ 1)
3.กากน้ำตาล 1 ลิตร
4.น้ำมะพร้าวอ่อน 2 ลูก
5.ลูกแป้ง 1 ลูก
6.เครื่องปั่น
วิธีทำ
1.ตอกไข่ให้แตก ปั่นทั้งเปลือก
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมกันในถังหมัก
2.หมักทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วนำมากรองเอาแต่น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวฉีดอุดตัน
วิธีใช้
1.เวลานำมาใช้ ให้ผสมฮอร์โมนไข่ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดรดต้นไม้ตอนที่ยังไม่ออกดอก 1 ครั้งต่อสัปดาห์
2.หากต้นไม้เริ่มออกดอกแล้ว แนะนำว่าควรลดปริมาณฮอร์โมนไข่ลงเหลือเพียง 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 5 ลิตร หากใช้มากเกินไปจะทำให้ดอกร่วงได้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์
3.ส่วนเปลือกไข่ที่เหลือ แนะนำ ไปใส่ต้นไม้จะช่วยเพิ่มแคลเซียมให้พืชได้อย่างดี
ประโยชน์
ฮอร์โมนไข่นี้เหมาะสำหรับการบำรุงใบและต้น เร่งดอก ให้ติดดอกได้เร็วและดี เพิ่มผลผลิต
2.สูตรขยายน้ำหมัก EM
ส่วนผสม
1.หัวเชื้อEM จำนวน 1-2 ช้อนโต๊ะ
2.กากน้ำตาล จำนวน 1-2 ช้อนโต๊ะ
3.น้ำเปล่า จำนวน 1-1.5 ลิตร บรรจุขวดเรียบร้อยแล้ว
4.แก้วเปล่าสำหรับผสม
วิธีทำ
1.ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์อีเอ็ม + กากน้ำตาล แล้วคนให้เข้ากันเพื่อให้กากน้ำตาลละลายเต็มที่ ใส่ในแก้วที่เตรียมไว้
2.จากนั้นเทน้ำจุลินทรีย์ที่ผสมแล้ว ลงไปในขวดน้ำ 1 ลิตร ที่เตรียมไว้ แล้วเขย่าให้เข้ากัน
3.ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม 7 วัน ให้เปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อน จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่า “น้ำหมักจุลินทรีย์อีเอ็มสูตรขยาย”
วิธีใช้
1.ใช้กับพืช น้ำหมัก EM 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ราด รด หรือฉีดพ่น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
2.ใช้กับสัตว์ น้ำหมัก EM 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยบัดบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงปลา
ประโยชน์หัวเชื้อจุลินทรีย์ EM
1.ใช้รดโคนต้นไม้ และแปลงผัก ชึ่งจะช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้ปลดปล่อยแร่ธาตุออกมาให้แก่พืชได้เร็วขึ้น จึงช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้เร็ว และเพิ่มผลิต
2.ช่วยบำบัดน้ำเสีย และกำจัดกลิ่นน้ำเสีย ทั้งในห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัว ท่อระบายน้ำ รางระบายน้ำ ถังบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน
3.ผสมน้ำในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร เพื่อหมักหญ้าแห้ง ฟางแห้ง เป็นอาหารสัตว์
4.ใส่ห้องน้ำห้องส้วมและในโถส้วมทุกวัน วันละ 1 ช้อนโต๊ะ (หรือ สัปดาห์ละ 1/2 แก้ว) ช่วยให้เกิดการย่อยสลาย ไม่มีกาก ทำให้ส้วมไม่เต็ม และกำจัดกลิ่น
3.น้ำหมักน้ำซาวข้าว
ส่วนผสม
1.น้ำซาวข้าว 1 ลิตร
2. EM 2 ช้อนแกง
3.กากน้ำตาล 2 ช้อนแกง
วิธีทำ
เทน้ำซาวข้าวลงในภาชนะ เติม EM และกากน้ำตาลผสมคนให้เข้ากัน บรรจุในขวดพลาสติก ให้เต็มพอดี ถ้าไม่เต็ม เติมน้ำสะอาดให้เต็ม ปิดฝาเขย่าขวดแล้วคลายฝาออก หมักไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน จึงจะสามารถนำไปใช้ได้
วิธีใช้ : 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้รด ราด ลงแปลงผักและโคนต้นไม้ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
ประโยชน์: ช่วยเร่งราก เร่งการเจริญเติบโต บำรุงต้นและใบเป็นอย่างดี
4.ปุ๋ยหมักในกระสอบ
วัสดุ
1.ขี้วัว 1 กระสอบ
2.รำหยาบ 1 กระสอบ
3.น้าหมัก (จุลินทรีย์น้ำซาวข้าว , จุลินทรีย์หน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่ อย่างใดอย่างหนึ่ง 1 ขัน
4.บัวรดน้ำขนาด 5 ลิตร
5.น้ำเปล่า ประมาณ 25 ลิตร
วิธีทำ
1. เทน้ำหมักผสมในน้ำที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากัน
2.เทขี้วัวกับรำหยาบลงในกะละมังผสมปูน
3.รดน้ำลงไป 1 บัว แล้วใช้จอบคลุกเคล้าให้ส่วนผสมให้เข้ากัน . ทำ (นับรอบที่ 1) คลุกเคล้าดินอีก 3รอบ โดยแต่ละรอบให้รดน้ำ 1 บัวต่อรอบ เมื่อคลุกเคล้าเสร็จในรอบที่ 4 ให้ลองกำส่วนผสมดูก่อนว่าส่วนผสมมีความชื้นหรือยัง ถ้ายังให้รดน้ำรอบที่ 5 แล้วคลุกส่วนผสมให้เข้ากัน
5.ตักใส่กระสอบปุ๋ยครึ่งกระสอบ แล้วมัดด้วยเชือกเอาไปตั้งไว้ในที่ร่ม หมักไว้ 45-60 วัน
วิธีใช้ : ใช้รองหลุมปลูกพืชผักทุกชนิด และใส่พืชผักแทนปุ๋ยได้เลย
ประโยชน์ : ปุ๋ยหมักสูตรนี้มีไนโตรเจนสูง ปลูกผักงามไว ปลูกอะไรก็เขียว เพิ่มผลผลิต
5.น้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร
อุปกรณ์
1.ถังหมักมีฝา 1 ถัง
2.น้ำสะอาด 3 ลิตร
3.เศษผัก ผลไม้ เศษอาหาร 3 กิโลกรัม
4.EM แบบขยาย 100 ซีซี
5.ไม้คน
6. จุลินทรีย์หน่อยกล้วย 100 ซีซี
(ไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำ
1.เทน้ำ 3 ลงถัง
2.เทน้ำตาลทรายลงถัง คนให้น้ำตาลละลาย จากนั้นเทEM และ จุลินทรีย์หน่อยกล้วยลงในถัง คนให้เข้ากัน
3.เทเศษผัก ผลไม้ และเศษอาหาร ลงไปในถังแล้วกดให้ท่วม
4.เศษอาหารได้มาจากการการเทใส่ตระกร้าสะสมไว้ตอนเช้าถึงตอนเย็น ล้างน้ำให้สะอาดปล่อยให้สะเด็ดน้ำ สามารถเทเศษอาหารได้ทุกวัน เทไปเรื่อย ๆจนพอใจ แล้วหมักไว้ 20-30 วัน กรองน้ำหมักเอาใส่ขวดออกมาไว้ใช้ กรณีเศษอาหารเยอะน้ำหมักจะข้นเหลวสามารถตักน้ำหมักผสมน้ำรดราดพืชได้เลย (ไม่ต้องกรอง)
วิธีใช้
1.น้ำหมัก 5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร
2.รดพืชผักอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
3.น้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นทางใบอาทิตย์ละครั้ง
4.ข้อควรระวัง หากการหมักยังไม่สมบูรณ์ ปริมาณกรดและน้ำตาลยังสูงอยู่ จะส่งผลเป็นพิษต่อพืช
ประโยชน์
1.ช่วยให้ดินร่วนซุย
2.ช่วยกระต้นการเกิดรากและช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี
3.ป้องกันแมลงและศัตรูพืช
ข้อแนะนำ : หากผสมสมุนไพร เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ดีปลี หรือพริกขี้หนู โดยใส่ผงสมุนไพร 2 – 5 ช้อนโต๊ะลงไปในส่วนผสมของขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์น้ำแต่แรก จะสามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วยไม่ควรเก็บปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ในที่ที่โดนแดด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 20 – 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน
6.การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารแบบฝังดิน
วัสดุอุปกรณ์
1.ถุงผ้าแยงเขียว 1 ใบ
2.เศษอาหารที่สะสมไว้หลายวัน 1 ถัง
3.น้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย 500 ซีซี
4.น้ำหมัก EM 500 ซีซี
วิธีทำ
1.ขุดดินเป็นหลุมลึกพอประมาณกับถุงที่ใส่เศษอาหาร
2.หย่อนก้นถุงผ้าแยงลงไปในหลุมแล้วเทเศษอาหารลงไปให้เต็ม
3.เทน้ำหมักทั้งสองอย่างราดให้ทั่วและมัดปากถุงผ้าแยงให้แน่น แล้ววางถุงลงแนวนอน (ถ้ามีเศษใบไม้สามารถใส่รวมในถุงได้)
4.เอาดินกลบให้ทั่วถึง ไม่ต้องกลบแน่น หาป้ายเขียนวันหมักไว้เพื่อกันลืม หมักไว้ประมาณ 30 วันก็ขุดเอามาใช้ประโยชน์ได้
2) การเข้าร่วมการอบรมการพัฒนาตลาดออนไลน์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ณ ตึกคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้อบรมด้วยกัน 2 ตำบลคือ ตำบลแสลงพันและตำบลทะเมนชัย วิทยากรคือคุณปัณณทัต สระอุบล นักการตลาดออนไลน์ (Digital Marteter) ให้ความรู้ในการทำการตลาดออนไลน์ เขียนคอนเทนส์ การจัดทำเพจเฟสบุ๊คและการทำโลโก้ให้สวยงามในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเห็ดและเพิ่มยอดขายการตลาดทางออนไลน์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
3) ได้ร่วมกันกับทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ทำการจัดเก็บข้อมูล BCG รายตำบล และพัฒนา plan point กรอกข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ตามหมู่บ้านต่างๆในตำบลแสลงพัน
4) การทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายอื่น ๆ เช่น งานประชุม โดยได้เข้าร่วมการประชุมกับทีมงานเพื่อ ปรึกษาหาแนวทางในการลงพื้นที่พัฒนาชุมชน ให้ชุมชนมีความ เข้มแข็งและประสานงานชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านในการลงพื้นที่เข้าไปจัดกิจกรรมอบรมน้ำหมักอินทรีย์
5) อุปสรรคและข้อเสนอแนะ
1.รับฟังคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากสมาชิกในทีม
2.ควรติดตาม ให้คำแนะนำการปฏิบัติ และการพัฒนากลุ่มสมาชิกเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
3.บางคนยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมในกิจกรรมมากนัก
4.สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกในหมู่บ้านว่าจะทำโครงการได้สำเร็จ