ข้าพเจ้านาย เจษฎา กุลสุนทรรัตน์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ HS06 ตำบลแสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานและวิเคราะห์หมู่บ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 และวางแผนพัฒนาชุมชน โดยได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พบว่าสภาพของประชาชนในพื้นที่ยังอยู่ในภาวะการเฝ้าระวังเรื่องโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ระลอกที่ 4 ประกอบกับมีการเฝ้าระวังผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยง และเป็นช่วงการเริ่มฤดูแห่งการเพาะปลูกของเกษตรกร ทำให้ชาวบ้านต้องเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าว พืชผัก และหญ้าอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตามทางทีมงานผู้ปฏิบัติงานในด้านการพัฒนาชุมชนของโครงการยังคงดำเนินการต่อไปภายใต้สภาพดังปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานในรอบเดือนดังนี้ 1) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดด้วยการทำสบู่เหลวล้างมือ 2) การอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ดและแนวทางการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด โดยทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมศึกษาและรับการฝึกอบรมกับสมาชิกในกลุ่ม มีรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆในรอบเดือนมีตามลำดับดังนี้
1.) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดด้วยการทำสบู่เหลวล้างมือโดยวิทยากรด้านการผลิตสบู่เหลวคือ คุณภัทรานิษฐ์ กุลพิเชษฐ์วณิช ผู้จัดการบริษัทบ้านเธอแอง กรุ๊ปส์ โดยมีสูตรและองค์ประกอบและขั้นตอนในการทำดังนี้
1.1) สาร AD 25(หัวเชื้อสบู่) จำนวน 600 กรัม
1.2) N70 (สารชำระล้าง) จำนวน 1,000 กรัม
1.3) ผงข้น (Sodium Chloride) จำนวน 350 กรัม
1.4) สาร KD (สารลดแรงตึงผิว) จำนวน 250 กรัม
1.5) น้ำบผสมรวมกับสมุนไพรจำนวน 8000 มิลลิกรัม
1.6) สารกันเสีย จำนวน 1 ออนซ์
1.7) น้ำหอมกลิ่นที่ต้องการ จำนวน 1 ออนซ์
1.8) สีผสมอาหาร จำนวนพอประมาณ
ขั้นตอนทำสบู่ล้างมือ
1) นำน้ำสมุนไพรต้มให้เดือด แล้วกรอกเอากากออก
2) นำสาร AD 25 และ N70 คนผสมให้เข้ากัน
3) นำน้ำสมุนไพรที่เตรียมไว้ใส่ผงข้น แล้วคนให้ละลาย ละเทผสมใส่ในสารที่เตรียมไว้ในข้อที่ 2
4) เติมสาร KD สารกันเสีย สีผสมอาหารและน้ำหอม แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นทำการบรรจุใส่ภาชนะ
จุดสังเกต การเลือกน้ำหอมจะต้องเลือกสีของน้ำหอมให้สอดคล้องกับสีสบู่ที่ทำไว้
ภาพรวมของการฝึกอบรมพบว่าชาวบ้านให้ความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งในระดับตำบลนั้นเป็นภาพรวมของการฝึกอบรมเป็นที่น่าพอใจมาก พบว่าผู้เข้าอบรมมีความสนใจในระดับดีมาก ในแง่การป้องกันหรือเฝ้าระวังเรื่องโรคโควิด-19 ระบาดในชุมชน รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและครอบครัวได้ค่อนข้างดีมากและแจกจ่ายให้กับผู้นำชุมชนเพื่อนำไปใช้ในสถานที่สาธารณะ เช่น วัดและโรงเรียน
2) การสร้างโรงเพาะเห็ดเพื่อสร้างอาชีพและแหล่งเรียนรู้ ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายและในพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีการประสานงานกับผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อขอสถานที่ในการทำโรงเพาะเห็ดบริเวณที่ศาลาอเนกประสงค์กลางหมู่บ้านบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เข้าอบรมทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านบุขี้เหล็ก หมู่ที่ 6 บ้านบุขี้เหล็กใหม่ หมู่ที่11 และบ้านบุขี้เหล็กใหม่พัฒนา หมู่ที่ 17 โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมจำนวน 5 คน จากตัวแทนสมาชิกครัวเรือนของทั้ง 3 หมู่บ้าน ที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมอาชีพจากการเพาะเห็ด โดยมีข้าพเจ้าร่วมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและดูแลโรงเพาะเห็ดในพื้นที่ ผลการอบรมพบว่าผู้เข้าอบรมให้ความสนใจอย่างมาก โดยมีครูภัทร ภูมรา เป็นวิทยากรให้ความรู้การดูแลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
3) ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
3.1) ปัญหาก่อนดำเนินกิจกรรมพร้อมแนวทางแก้ไข
– ปัญหาโรคโควิดระบาด ระลอกที่ 4 แนวทางแก้ไขเพิ่มจุดคัดกรองวัดอุณภูมิและเว้นระยะห่างก่อนการเข้าอบรมและทำกิจกรรม
3.2) ปัญหาระหว่างดำเนินกิจกรรมพร้อมแนวทางแก้ไข
– ปัญหาโรคโควิดระบาด แนวทางแก้ไขทำงานแบ่งกลุ่มการทำงานให้มีขนาดเล็กลง ใช้เครือข่ายสมาชิกชุมชนใกล้เคียงช่วยกันทำงานภาคสนาม
3.3) ปัญหาหลังดำเนินกิจกรรมพร้อมแนวทางแก้ไข
– สภาพการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ค่อนข้างมากเป็นอุปสรรคทั้งในฝึกการอบรมและการลงปฏิบัติการในภาคสนาม แนวทางแก้ไขคือใช้แนวทางจิตอาสา พัฒนาชุมชน
– อยู่ในสภาวะที่ผู้นำชุมชนยังคงกังวลใจในการระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการทำงาน ภาคสนามและจัดกิจกรรม ทางผู้ปฏิบัติงานได้ติดตาม ให้คำแนะนำการปฏิบัติ และการพัฒนากลุ่มสมาชิกเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างสอดประสานในพื้นที่เป้าหมาย แนวทางแก้ไขคือ ขอความร่วมมือและดำเนินการตามแบบเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ตามภาครัฐฯ