ข้าพเจ้านางสาวปิยมาภรณ์ โคตุเคน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร: HS07 สร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ
วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ได้มีการนัดหมายและรวมตัวกันจัดเตรียมสถานที่ในการอบรม ณ บ้านสนวนพัฒนา ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 อบรมการท่องเที่ยวชุมชน โดยอาจารย์วันดี เธียรสวัสดิ์กิจ โดยท่านวิทยากรได้ให้ความรู้เรื่องของการจัดทำการท่องเที่ยวชุมชน เริ่มจากการเข้าใจในความหมายของการท่องเที่ยว ความสำคัญ วัตถุประสงค์ ข้อดี ข้อเสียของการท่องเที่ยว จากการอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้และมีความเข้าใจในการทำการท่องเที่ยวเชิงชุมชนมากขึ้น ได้สำรวจจุดเด่นของชุมชนเพื่อนำมาจัดทำการท่องเที่ยวในชุมชน โดยส่วนใหญ่นั้นในแต่ละชุมชนจะมีวิถีชีวิตมีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ มีภูมิปัญญาต่างๆที่เป็นจุดเด่นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวในชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ หรือสิ่งที่มีในท้องถิ่นนั้นๆสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชากรในชุมชน
วันที่ 29 ตุลาคม 2564 กิจกรรมเดินป่าสำรวจสมุนไพร ได้มีการลงพื้นที่สำรวจป่าสมุนไพรในตำบลโคกสะอาด 2 แห่ง แบ่งเป็น ช่วงเช้าเดินสำรวจป่าชุมชนบ้านหนองแสง หมู่ 12 มี พระครูรัตนวนานุรักษ์ และชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองแสง นำทีมเดินสำรวจป่าสมุนไพร และได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรแต่ละชนิด ช่วงบ่ายเดินสำรวจป่าโคกหนองโคงวัวเฉลิมพระเกียรติ มีนายเล แสนสนิท และนายทองมวล โพธิ์นา เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร จากการได้ลงพื้นที่ป่าสำรวจสมุนไพรในครั้งนี้ ทำให้ได้ศึกษาธรรมชาติ พืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นในป่า ได้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร สรรพคุณของแต่ละชนิดนั้นสามารถนำมาเป็นยารักษาโรค บำรุงร่างกาย ซึ่งมีมาช้านานตั้งแต่อดีต ที่ใช้สมุนไพร และภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ ทำให้เห็นคุณค่าของสมุนไพรมากขึ้น เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และมีคุณประโยชน์อย่างมาก เช่น
พญายา หรือ กระแจะ
รูปลักษณะ : พญายา เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร กิ่งก้านมีหนาม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่สลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 2-7 ซม. ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว ผล เป็นผลสด รูปทรงกลม
สรรพคุณของ พญายา : แก่น ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง)
ลำต้น ใช้ต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น แก้อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน
ต้นสะมัด
สรรพคุณ ใช้ ราก ฝนกับน้ำดื่ม แก้โรคงูสวัด ทั้งต้น ต้มน้ำกลั้วปาก แก้ปวดฟัน ตำรายาไทยใช้ ราก มีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณขับเลือด และหนองให้ตก พอกแผล ริดสีดวงและคุดทะราด ขับพยาธิ แก้โรคผิวหนัง แก้แน่น กระจายเลือดลม เปลือกต้น มีกลิ่นหอม รสร้อน มีสรรพคุณแก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย ใช้รมแก้ริดสีดวงจมูก กระพี้และแก่น มีรสร้อน แก้โลหิตในลำไส้ ขับลม ขับพยาธิไส้เดือน ใบ มีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ซ่า มีสรรพคุณแก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย กระจายเลือดลมให้เดินสะดวก แก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดยอก เสียดแทง แก้ไข้ แก้หืดไอ ตำพอกประคบ แก้ผื่นคัน ใช้รมแก้ริดสีดวงจมูก ต้น รสหอมร้อน ขับลมภายใน แก้ไอ ขับพยาธิไส้เดือน ดอก มีรสร้อน มีสรรพคุณแก้เสมหะให้ตก ผล มีรสเปรี้ยวร้อน มีสรรพคุณฆ่าเสียซึ่งพยาธิอันบังเกิดแต่ไส้ด้วน ไส้ลาม เป็นยาถ่าย ในตำรายาไทยเมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” คือสหัสคุณไทย หรือสมัดน้อย และสหัสคุณเทศ หรือสมัดใหญ่ โบราณว่า มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในท้อง แก้ริดสีดวง ผอมแห้ง แก้หืดไอ ขับเลือด และขับหนองให้ตก นอกจากนี้ ลำต้น และใบ นำมาเผารมควันตามเล้าไก่กำจัดไรยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้ ราก แก้ไข้
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ประชุมออนไลน์ผ่าน google meet โดยอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ รายละเอียดการประชุมมีดังนี้
-ทบทวนรายละเอียดกิจกรรมต่างๆที่ได้ปฏิบัติ เช่น การออบรมมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ การอบรมการท่องเที่ยวชุมชน กิจกรรมการเดินป่าสำรวจสมุนไพร
-ชี้แจงการลงข้อมูลในระบบ
-ชี้แจงภาระงานที่ได้หมอบหมาย เช่น การทำแผ่นพับการท่องเที่ยวชุมชน การทำวิดีโอ การทำ Pocket book สมุนไพร
-ชี้แจงรายละเอียดการจัดกิจกรรมการอบรมที่จัดขึ้นในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2564 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 สมาชิกกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 4 นัดหมายกันเพื่อลงข้อมูลสมุนไพรที่ได้เดินป่าสำรวจสมุนไพรเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เนื่องจากกลุ่ม 1 และกลุ่ม 4 ได้เดินสำรวจสมุนไพรกลุ่มเดียวกัน ในการบันทึกข้อมูลสมุนไพรลงในระบบ ข้าพเจ้าได้บันทึกข้อมูลสมุนไพรจำนวน 28 ชนิดลงในระบบ ซึ่งในการบันทึกข้อมูลได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ และเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างดี