กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ข้าวหมาก

ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

 

1.เก็บรวบรวมข้อมูล บันทึกข้อมูล ตามแบบSROI 

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ผู้ปฏิบัติงานตำบลทะเมนชัย ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล SROI ประกอบไปด้วยหัวข้อ 1.ตำบลเป้าหมาย 2.ลูกจ้าง 3.ครอบครัวลูกจ้าง 4.ชุมชนภายใน 5.ชุมชนภายนอก 6.อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ  7.เจ้าหน้าที่โครงการ USI 8.ผู้แทนตำบล 9.หน่วยงานภาครัฐ 10.หน่วยงาน อปท. 11.เอกชนในพื้นที่  โดยข้าพเจ้าได้รับผิดชอบในหัวข้อ ตำบลเป้าหมาย โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับนางทองสา เชือบรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านน้อยพัฒนา กลุ่มตัวแทนชาวบ้านบ้านน้อยพัฒนาได้เข้าร่วมโครงการ U2T โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหัวข้อหน่วยงานภาครัฐ โดยได้สอบถามข้อมูลจาก  นายสุรวุฒิ สุเรรัมย์ ผอ.รพ.สต. บ้านบุแปบ โครงการ U2T ตำบลทะเมนชัยได้รับความอำนวยสะดวกจากเจ้าหน้าที่ อสม.ในพื้นที่ ในการจัดกิจกรรมพัฒนาข้าวหมาก,ข้าวแต๋น และช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 เช่น การรับวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 การสวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงมีมาตรการการเฝ้าระวังตามกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนัก

 

พร้อมทั้งได้เก็บข้อมมูลในหัวข้อเอกชนในพื้นที่ โดยได้สัมภาษณ์ นายประสิทธิ์…. ประธานศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์  บ้านบุลิ้นฟ้า โดยนายประสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการ U2T ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้จากการแปรรูปจากข้าวอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นที่ทำจากข้าวอินทรีย์ ผลตภัณฑ์ข้าวแต๋นที่ทำจากข้าวอินทรีย์ และทีมผู้ปฏิบัติงานโครงการ U2T ยังได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากปกติชาวบ้านจะทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมากขายเฉพาะในพื้นที่ชุมชนของตนเองเท่านั้น เมื่อมีโครงการ U2T ได้เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ การโพสขายสินค้าในระบบออนไลน์ต่างๆ เช่น FACEBOOK ทำให้มีออเดอร์ขายส่งต่างจังหวัดผ่านบริษัทขนส่งต่างๆ จึงทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน และอยากให้มีการพัฒนาแบบนี้ต่อไป

2.จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน

ทีมผู้ปฏิบัติงานทะเมนชัยได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน ข้าพเจ้ารับผิดชอบคือ บ้านใหม่อัมพวัน หมู่17 ประกอบไปด้วยข้อมูล

1.ประวัติทั่วไป เดิมทีบ้านใหม่อัมพวัน ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์   ชื่อหมู่บ้านหนองน้ำขุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2538 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองของหมู่บ้าน โดยได้แยกบ้านใหม่อัมพวันออกเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน คือ บ้านใหม่อัมพวัน หมู่ 17 และมีนายกิตติพงศ์ ชะร่างรัมย์ เป็นผู้นำชุมชนคนปัจจุบัน บ้านใหม่อัมพวันตั้งอยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ  จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากอำเภอลำปลายมาศ 20 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 26 กิโลเมตร  โดย มีประชากรครัวเรือนจำนวน 55 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 255 คน โดยแยกเป็น ชาย 124 คน หญิง 131 คน  ภาษาที่สื่อสารเป็นภาษาอีสานเป็นภาษาท้องถิ่น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร ทำนา เพราะในชุมชนมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำ และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพราะปลูก อาทิ ข้าว อ้อย ผักสวนครัว เพราะสภาพดินในหมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไม่เสื่อมสภาพ และยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบบริเวณหมู่บ้านได้อีกหลายด้าน

2.แผนที่ชุมชน

3.ปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญา ประกอบไปด้วย นายกิตติพงศ์ ชะร่างรัมย์  นายสำรวน นองสิน และนายสุกรี แซกรัมย์

4.เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 40 คน

5.ร้านค้าชุมชนจำนวน 3 ร้าน

6.วัดจำนวน 1 แห่ง

7.อาชีพ ประกอบไปด้วย รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัวและข้าราชการ

8.เส้นทางคมนาคม ได้แก่ สถานีรถไฟทะเมนชัย,ทางบก (ทางรถยนต์,จักรยานยนต์) จากเทศบาลตำบลลำปลายมาศ โดยใช้ถนนหมายเลข 226 เมื่อถึงถนนหลักเมืองให้เบี่ยงซ้าย และเลี้ยวขวาเข้าซอยถนนเทศบาล1

 

3.จัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ช้าวแต๋น,ข้าวหมาก

วันที่ 16 ตุลาคม 2564 คณะอาจารย์ประจำหลักสูตรพร้อมกับทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่พัฒนาหลักสูตร “ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น” ณ ศาลาประชาคมบ้านน้อยพัฒนา หมู่ 16 โดยมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วม ประกอบไปด้วย บ้านใหม่อัมพวัน จำนวน 3 คน บ้านหนองน้ำขุ่น จำนวน 3 คน บ้านหนองตาด จำนวน 3 คน บ้านหนองหญ้าปล้อง จำนวน 3 คน บ้านบุดตาริด จำนวน 3 คน บ้านหนองม่วงจำนวน 3 คน และบ้านน้อยพัฒนาจำนวน 3 คน โดยได้จัดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ได้แนะนำให้กลุ่มตัวแทนของชาวบ้านได้ทดลองทำรสชาติ สี ที่แปลกใหม่และแตกต่างจากท้องตลาด เพื่อให้คุณภาพและสูตรของผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น คงที่ รวมถึงเน้นการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและพกพาสะดวกต่อผู้บริโภค โดยทีมผู้ปฏิบัติงานได้ออกแบบลวดลายสติ๊กเกอร์สำหรับติดบนบรรจุภัณฑ์และรูปแบบของภาชนะสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ให้กลุ่มตัวแทนแต่ละหมู่บ้านเลือกตัวอย่างตามที่กลุ่มตัวแทนของชาวบ้านต้องการใช้

สูตรข้าวแต๋นน้ำแตงโมหน้าธัญพืช

วัตถุดิบที่ใช้

ข้าวสารเหนียวคัดอย่างดี 12,000 กรัม (แช่น้ำอย่างน้อย  3 ชั่วโมง)

น้ำแตงโม 1,000 กรัม

น้ำตาลอ้อย 1,000 กรัม

เกลือป่น 180 กรัม

น้ำสะอาด 6,820 ซีซี

 

ส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น

น้ำอ้อย 500 กรัม

น้ำตาลปี๊บ 2,000 กรัม

เกลือป่น 4.6 กรัม

น้ำสะอาด 13.8 ซีซี

งาขาว 1,000 กรัม

งาดำ 167 กรัม

เม็ดมะม่วงหิมะพาน/เมล็ดทานตะวัน 700 กรัม

ลูกเกด 500 กรัม

 

วิธีทำ

  1. นำข้าวสารที่แช่น้ำแล้ว ล้างให้สะอาด จำนวน 2 ถ้วย นึ่งให้สุกแล้วนำมาผสมน้ำแตงโมที่ปรุงรสเรียบร้อยแล้ว ใช้อัตราส่วน 1 ถ้วย (ถ้วยที่ใช้ตวงข้าว) คนให้เข้ากันดี และนำไปหยอดลงพิมพ์ที่เตรียมไว้
  2. นำข้าวแต๋นตากแดดจัดๆ ประมาณ 3-4 แดด แล้วนำเก็บใส่ภาชนะมีฝาปิดมิดชิดเป็นข้าวแต๋นรอการทอดต่อไป
  3. เตรียมน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟให้ร้อนใส่ใบเตยหั่นไม่ต้องมากนักใส่ลงไปในกระทะแล้วทดลองทอดประมาณ 2-3 ชิ้น เพื่อทดสอบความร้อนของน้ำมัน
  4. ทอดข้าวแต๋นให้มีสีเหลืองนวล (อย่าให้ไหม้) ตักขึ้น รองด้วยกระดาษซับมัน
  5. เตรียมส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น (น้ำอ้อย น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น น้ำ) ลงคนในกระทะตั้งไฟอ่อนๆ ให้ละลายเข้ากันดี
  6. นำข้าวแต๋นที่ทอดแล้ว หยอดหน้า แล้วโรยด้วยธัญพืช งาขาว งาดำ เม็ดมะม่วงหิมะพานและลูกเกด ให้ดูสวยงาม เก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อคงความกรอบ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง

และได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับคณะอาจารย์พร้อมกับกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 คณะอาจารย์ประจำหลักสูตรพร้อมกับทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่พัฒนาหลักสูตร “ผลิตภัณฑ์หมาก” ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบุลิ้นฟ้า  โดยมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วม ประกอบไปด้วย  บ้านหนองตาดจำนวน 3 คน บ้านหนองหญ้าปล้อง จำนวน 3 คน บ้านบุแปบ จำนวน 3 คน บ้านบุลิ้นฟ้าจำนวน 3 คน โดยมีสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก ดังนี้

ส่วนประกอบและอัตราส่วน   : ข้าวเหนียวหอมมะลิ  1 กก.   แป้งข้าวหมาก 2-3  ลูก

วิธีทำ  1.นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาล้างน้ำฝน ประมาณ 3 ครั้ง ใช้มือถูเบาๆ จนข้าวหมดเมือกหรือให้น้ำใส แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

2.นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียด โรยแป้งข้าวหมากบนข้าวเหนียว ใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวเหนียวให้ทั่ว

3.บรรจุข้าวเหนียวที่ได้ใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ 2-3 วัน ก็จะสามารถรับประทานได้

เคล็ดลับวิธีทำ ข้าวหมากหวาน

– ข้าวเหนียวใหม่ คือข้าวเหนียวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวในหนึ่งปี เมื่อนำไปนึ่งข้าวจะนิ่มแฉะกว่าข้าวเหนียวเก่า

– การเตรียมนึ่งข้าว ต้องให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปนึ่ง

– ห้ามล้างข้าวขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ ทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ควรรอให้ข้าวคลายความร้อนก่อนล้าง หากล้างข้าวเหนียวเละ และแฉะ จะมีน้ำอยู่ในข้าวมาก ทำให้ข้าวหมากที่มีรสเปรี้ยวได้

– น้ำต้อยข้าวหมากออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้า เมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากแล้ว ค่อนข้างมีเมล็ดติดกัน น้ำต้อยจะออกมามาก แต่ถ้าเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากค่อนข้างแห้งเมล็ดไม่ติดกันน้ำต้อยจะออกมาพอดี

– ลูกแป้งข้าวหมากต้องไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจตายหรือมีน้อยเกินไป ทำให้ข้าวหมากไม่หวาน- เก็บข้าวหมากที่อยู่ระหว่างการหมักไว้ในพื้นที่ที่สะอาด

4.ติดต่อประสานงานกับกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น  พร้อมให้คำเเนะนำ สมาชิกเป้าหมายบ้านใหม่อัมพวัน จำนวน 5 คน ประกอบไปด้วย

  1. นางสาวจันทพร แก้วกล้า
  2. นางสมจิตร ดารสรัมย์
  3. นางทองยุ่น นองศิลป์
  4. นางละมุน ดีรับรัมย์
  5.   นางแดน แซโสม

เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตฑ์ข้าวแต๋นบ้านใหม่อัมพวัน หมู่ 17 ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

5.ปฏิบัติงานในฐานะ ประธานทีมผู้จ้างงาน ทำหน้าที่ในการประสานงานสมาชิกให้ความร่วมมือจากงานมอบหมายของมหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรและหน่วยงานประสานงาน (กบค.)

6.ติดตามและให้คำแนะนำ  การแปรรูปและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นบ้านใหม่อัมพวัน หมู่ 17   ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยกลุ่มตัวแทนชาวบ้านแจ้งว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนจึงป็นอุปสรรคต่อการตากข้าวสำหรับการทำข้าวแต๋น แต่ใช้วิธีการเป่าพัดลมแทน เพื่อจะได้ทดลองให้สูตรและรสชาติคงที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู