บทความประจำเดือนตุลาคม2564
นางสาวณัฐนิภรณ์ วิราช กลุ่มบัณฑิตจบใหม่
ข้าพเจ้านางสาวณัฐนิภรณ์ วิราช ผู้ปฏิบัติงานประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล การประเมินแบบสอบถาม ณ บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 5 และบ้านหนองตาด หมู่ที่ 3 และบ้านบุลิ้นฟ้า หมู่ที่ 13 ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยได้ประสานงานไปยังผู้นำชุมชนและตัวแทนชาวบ้าน เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการทำแบบสัมภาษณ์เชิงลึก 11 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- 1. ตำบลเป้าหมาย วิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน เกษตรกร
- 2. กลุ่มลูกจ้างโครงการ นักศึกษา บัณฑิต ประชาชน
- 3. ครอบครัวลูกจ้าง หนึ่งครอบครัว 1 ตำบล
- 4. ชุมชนภายใน (วัด แหล่งการเกษตร ร้านค้าในชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตำบล)
- 5. ชุมชนภายนอก (แหล่งเกษตรกร ร้านค้าที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่)
- 6. อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ (หัวหน้าโครงการ)
- 7. เจ้าหน้าที่ประจำโครงการ
- 8. ผู้แทนตำบล (เจ้าหน้าที่อบต. 1คน) ที่ได้รับมอบหมาย
- 9. หน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล พัฒนาสังคม รพสต.
- 10. อปท. ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น กำนัน เทศบาล
- 11. เอกชนในพื้นที่ เช่น บริษัท หรือห้างร้าน กิจการในพื้นที่ หจก. ที่อยู่ภายในตำบล
ซึ่งข้าพเจ้าได้ดูแลรับผิดชอบ หัวข้อ 1. ตำบลเป้าหมาย โดยได้ดำเนินงานร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานคนอื่นๆ เก็บข้อมูลแบบสอบถามโดย สัมภาษณ์ นางสุคนธ์ ซอยรัมย์ (หัวหน้ากลุ่มสมาชิกพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก)บ้านหนองตาด หมู่ที่3 2.หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยได้ลงพื้นที่ทำแบบสัมภาษณ์ ผู้อำนวนการ รพสต.บ้านบุแปบ และ 3. เอกชนในพื้นที่ โดยสัมภาษณ์ นายประสิทธิ์ ชัยวิชา ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบุลิ้นฟ้า ม.13
วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้เข้าประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ Google Meet ร่วมกับอาจารย์ประจำหลักสูตร เพื่อชี้แจงการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยอาจารย์มอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงาน ศึกษาแบบสอบถาม SROI ในขั้นตอนการดำเนินงานแบ่งหน้าที่การดำเนินงานและลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมายในแต่ล่ะกลุ่มงาน
เมื่อวันที่17ตุลาคม2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานจำนวน33คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ณ บ้านน้อยพัฒนา ม.16 โดยมีตัวแทนสมาชิกชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนา จำนวน7หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองตาด บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านใหม่อัมพวัน บ้านบุตาริด บ้านหนองน้ำขุ่น บ้านน้อยพัฒนา และบ้านหนองม่วง ซึ่งมีรูปแบบของกิจกรรม คือ การสาธิตขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น การทอดข้าวแต๋น การทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันจัดทำบรรจุภัณฑ์ไปเสนอให้ตัวแทนสมาชิกแต่ละชุมชนได้เลือกใช้ และตลอดเวลาการจัดกิจกรรมทีมผู้ปฏิบัติงานและตัวแทนชาวบ้านได้ปฏิบัติตามมาตรการ การป้องกันการแพร่ระบาดของCovid-19อย่างเคร่งครัด ได้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และภายในกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้วแต๋นนั้น ได้มีการแจกสูตรขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
สูตรและขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น
- ข้าวแต๋นชาเขียว
ส่วนผสม
- ข้าวเหนียว 1/2 กก.
- เกลือป่น 1 ชช.
- น้ำชาเขียว(ชาตรามือ) 1 ถ้วยตวง(สำหรับทำสีของข้าว)
- น้ำชาเขียว(ชาตรามือ) 3 ช้อนโต๊ะ(สำหรับเคี่ยวน้ำตาล)
- งาดำหรืองาขาว 2 ช้อนโต้ะ
- น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย(มิตรผล) 500 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง 2-3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำกะทิกล่อง 1 ช้อนโต้ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีการทำ
- นำข้าวเหนียวไปล้างเพื่อเอาสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน(หม่าข้าว)
- นึ่งข้าวเหนียวและพักไว้ให้คลายความร้อน (ถ้าข้าวแข็งๆนิดนึงจะดีมากเพราะจะทำให้ใส่พิมพ์และปั้นง่าย)
- เมื่อข้าวคลายร้อนแล้ว ให้ใส่น้ำชาเขียวที่ผ่านการกรองเหลือแต่น้ำแล้ว 1 ถ้วยตวงหรือให้เช็กดูว่าข้าวที่ใส่ชาเขียวแล้วเหนียวได้ที่กำลังดี
- ใส่เกลือป่น น้ำตาลทราย และงาดำหรืองาขาวก็ได้
- ใช้มือคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันเบาๆพยายามให้ข้าวกระจายเป็นเม็ดและให้สังเกตสีของข้าวว่ามีสีชาเขียวทั่วทุกเม็ด ห้ามบี้หรือบีบข้าวเพราะจะทำให้เกาะกันเป็นไตได้
- เสร็จแล้ว พักไว้ 5 นาที
- นำข้าวที่พักไว้แล้ว ปั้นใส่พิมพ์ พยายามอย่าให้ข้าวอัดกันแน่นเกินไปเพราะเวลานำมาทอดข้าวจะไม่ฟู
- นำไปตากแดดจัด 1 วัน (ครึ่งวันๆอย่าลืมพลิกกลับด้านข้าว)
วิธีทอดข้าวแต๋น
- ตั้งให้ น้ำมันเดือดจัด แล้วนำข้าวที่ตากแล้ว ลงทอด ตอนทอดพยายามอย่าใช้ไฟแรงจนเกินไป และให้หมั่นพลิกกลับด้านข้าวบ่อยๆ จนเหลืองสวย แล้วนำพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน
วิธีทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น
- นำน้ำกะทิ+น้ำชาเขียว+น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย+น้ำตาลทรายแดง(น้ำตาลทรายแดงจะช่วยให้น้ำตาลตกทรายง่ายขึ้นสามารถเช็กความหนึดของน้ำตาลเวลาเคี่ยวแล้วเพิ่มปริมาณได้) และเกลือ1หยิบมือ ใส่ลงไป แล้วเปิดไฟ ใช้ไฟอ่อนอย่าใช้ไฟแรง เคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน **ทั้งเคี่ยวและคน**ระวังน้ำตาลไหม้นะคะ เคี่ยวจนน้ำตาลเริ่มตกทรายเกาะขอบหม้อ แล้วให้ปิดไฟ และเคี่ยวต่อแบบไม่มีไฟ
- พักน้ำตาลให้คลายร้อนซักพัก แล้วค่อยนำมาราดบนหน้าข้าวแต๋น
- ข้าวแต๋นมันม่วง
- มีส่วนผสมและขั้นตอนวิธีการทำคล้ายกันกับชาเขียว โดยมีปริมาณในการใช้ส่วนผสมเหมือนกัน แต่ให้เปลี่ยนจากชาเขียวเป็นมันม่วง ซึ่งน้ำสีของมันม่วงได้จากการเอามันม่วงมาปั้นกรองเอาแต่น้ำ
เคล็ดลับ : เวลาเคี่ยวน้ำตาลชาเขียว/มันม่วงให้สังเกตกลิ่นและสีของน้ำราด ถ้ายังหอมออกกลิ่นของชาเขียวไม่พอสามารถเติมน้ำชาเขียวเพิ่มได้..แต่ห้ามเติมตอนเคี่ยวร้อนๆเด็ดขาด ให้เติมตอนที่น้ำตาลคลายร้อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าเติมตอนร้อนๆน้ำตาลจะไหม้ได้(สูตรและเทคนิควิธีการทำสามารถปรับได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล)
แต่การทำข้าวแต๋นนั้น พบปํญหาคือ ถ้าอยู่ในช่วงฤดูฝน จะทำให้ไม่สามารผลิต(ตาก)ข้าวแต๋นดิบได้ เนื่องจากข้าวแต๋นดิบนั้นต้องตากแดดจัดเท่านั้น จึงจะสามารถนำมาทอดแล้วมีรสชาติดีและพองสวยน่ารับประทาน ถ้าไม่ได้ตากแดดแต่เป็นการเปิดพัดลมเป่าแทนได้ แต่จะทำให้ข้าวแต๋นอับชื้นเสียคุณภาพได้
สูตรโดย : นางสาวสิรินภา ทะกาเนนะ (ผู้ปฏิบัติงานโครงการ ประเภทบัณฑิตจบใหม่)
ภาพประกอบ :