กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ข้าวหมาก และเก็บข้อมูลตามแบบสอบถาม SROI
ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ (HS08)
วันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 09:00 น. ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่บ้านบุลิ้นฟ้าเพื่อเรียบเรียงข้อมูลรายงานผลการดำเนินงาน HS06 บทที่ 1 สภาพทั่วไปของตำบลทะเมนชัย ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานซึ่งการเรียบเรียงข้อมูลในครั้งนี้ยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของประวัติตำบลทะเมนชัยจาก อบต.ทะเมนชัย เพื่อเสริมให้ข้อมูลในส่วนของบทที่ 1 สภาพทั่วไปของตำบลทะเมนชัยเด่นชัดมากยิ่งขึ้น และจัดทำแผนที่ของตำบลทะเมนชัยพอสังเขป ระบุข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้าน และมีภูมิปัญญาด้านใดในตำบลทะเมนชัย รายชื่อผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในตำบลทะเมนชัย เส้นทางคมนาคม จำนวนผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิดที่มีอายุไม่เกิน 4 สัปดาห์ สตรีมีครรภ์ ผู้มีร่างกายทุพพลภาพ สมาชิก อสม. ข้อมูลเรื่องทุนทางวัฒนธรรม การใช้กฎกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนเป็นอย่างไร มีประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างไร และสุดท้ายคือพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมีอะไรบ้าง เป็นต้น
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 10:00 น. ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่ ตำบลทะเมนชัย เพื่อเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามโครงการ การติดตามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ U2T โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการดำเนินกิจกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ และการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ร่วมลงพื้นที่กับสมาชิกใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในทีม HS08 ทีมทะเมนชัย ก่อนการดำเนินงานได้มีการพูดคุยชี้แนะแนวทางการทำงานให้กับสมาชิกใหม่ได้ทราบ และจำแนกกลุ่มเพื่อไปยังสถานที่สำคัญของตำบลทะเมนชัย เช่น รพ.สต.บ้านบุแปบ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบุลิ้นฟ้า ศาลาประชาคมบ้านน้อยพัฒนา และอบต.ทะเมนชัย เพื่อเข้าไปสอบถามข้อมูลตามแบบสอบถามที่ได้รับ ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานหลังจากจำแนกกลุ่มออกมาได้ลงพื้นที่ไปยังศาลาประชาคมบ้านน้อยพัฒนา หมู่16 โดยผู้ให้ข้อมูลคือท่านผู้ใหญ่บ้าน นางทองสา เชือบรัมย์ และกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น โดยในแบบสอบถาม ถามถึงเรื่ององค์ความรู้ การพัฒนาทักษะของกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับจากการดำเนินโครงการU2T ต่อมาดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เวลา 10:30 น. ที่ รพ.สต.บ้านบุแปบ โดยผู้ให้ข้อมูลคือนายสุรวุฒิ สุเรรัมย์ ผู้อำนวยการรพ.สต.บ้านบุแปบ และลงพื้นที่ไปยังศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบุลิ้นฟ้า ผู้ให้ข้อมูลคือนายประสิทธิ์ ชัยวิชา ซึ่งได้สอบถามข้อมูลเรื่องของหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างไรในโครงการU2T และหน่วยงานของท่านมีการการใช้งบประมาณ ทรัพยากร ทีมงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการU2T หรือไม่ อย่างไร และส่งผลให้หน่วยงานของท่านเกิดผลสัมฤทธิ์หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
ภาพประกอบ
ในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เวลา 09:00 น. ทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ ณ บ้านน้อยพัฒนา หมู่16 เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นและออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านกลุ่มละ 3 ท่านจากบ้านหนองตาด บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านใหม่อัมพวัน บ้านบุตาริด บ้านน้อยพัฒนา บ้านหนองม่วง และบ้านนองน้ำขุ่น มาเข้าร่วมกิจกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังให้ตัวแทนชาวบ้านนำไปพัฒนาสานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเกิดความหลากหลายในเรื่องของสูตรใหม่ๆนอกเหนือจากแบบดั้งเดิมให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น
ภาพประกอบ
“สูตรข้าวแต๋นธัญพืช”
วัตถุดิบ
1.ข้าวเหนียว 350 กรัม
2.น้ำแตงโม หรือกะทิ 45 กรัม
3.น้ำตาลทรายขาว 45 กรัม
4.เกลือป่น เล็กน้อย
ส่วนผสมน้ำตาลโรยหน้า
1.น้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลมะพร้าว 60 กรัม
2.น้ำเปล่า 45 กรัม
3.งาขาว งาดำ ถั่วหรือธัญพืช เล็กน้อยแล้วแต่ชอบ
วิธีการทำ
1.แช่ข้าวเหนียวทิ้งไว้ 1 คืน เช้าวันถัดมานำไปล้างน้ำเปล่าอีกครั้งแล้วนำไปนึ่งจนสุก
2.ผสมน้ำแตงโม หรือกะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ ให้เข้ากันในชามผสมหรือภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว นำมาใส่ขณะที่ยังร้อนอยู่คลุกเคล้าให้เข้ากัน
3.เตรียมพิมพ์ที่เป็นทรงกลม วางบนถาด จากนั้นตักข้าวเหนียวที่คลุกเคล้าเข้ากันกับส่วนผสมแล้วใส่พิมพ์ไม่ต้องอัดให้เกิดความแน่นหนาจนเกินไปเพราะเวลานำข้าวไปตากแดดจะทำให้แห้งยาก เมื่อตักใส่พิมพ์และเรียงในถาดเสร็จแล้วให้นำไปตากแดด 1-2 วัน หรือเข้าเครื่องอบลมร้อน 70-80 องศาเซลเซียส คอยกลับด้านเพื่อให้แห้งสนิท ทั้งสองด้าน
4.ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช เปิดไฟใช้ไฟกลาง พอน้ำมันร้อนได้ที่นำข้าวเหนียวที่แห้งลงทอด ให้พองกรอบ มีสีเหลืองสวยงาม ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
5.ตั้งหม้อผสมน้ำตาลปี๊บกับน้ำเปล่า คนพอละลายเปิดไฟเคี่ยวจนเหนียวดี และทิ้งไว้พออุ่นสักครู่ จึงนำไปโรยหน้าข้าวแต๋น พอเริ่มแห้งโรยงาขาว งาดำ ถั่วหรือธัญพืช ทิ้งไว้จนเย็นเก็บใส่ภาชนะปิดให้สนิท เก็บได้ประมาณ 1 เดือน
ภาพประกอบ


ในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 เวลา 09:00 น. ทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ ณ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบุลิ้นฟ้า หมู่14 เพื่อจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวหมากโดยเชิญวิทยากรเข้ามาให้ความรู้ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านกลุ่มละ 3 ท่านจาก บ้านทะเมนชัย บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านบุลิ้นฟ้า บ้านบริหารชนบท บ้านบุแปบ บ้านหนองตาด เป็นต้น มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าวหมากที่ทางตัวแทนชาวบ้านได้พัฒนาต่อยอดจนสามารถขายออกสู่ท้องตลาดได้ และเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในตัวกฎหมายการผลิตหรือการขายข้าวหมากได้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีการขยายเครือข่ายของชุมชนใกล้เคียงที่สนใจจะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวหมากให้เกิดความมั่นใจในการขายผลิตภัณฑ์
“สูตรข้าวหมาก”
วัตถุดิบ
1.ข้าวเหนียวหอมมะลิ
2.น้ำฝน
3.แป้งข้าวหมาก
วิธีการทำ
นึ่งข้าวเหนียวหอมมะลิ หลังจากนึ่งเสร็จพักไว้ให้เย็นและใช้น้ำฝน และนำมาซาวข้าวหรือล้างข้าวเพื่อให้ยางข้าวหมดไป หลังจากนั้นให้แยกข้าวออกจากน้ำซาวข้าวใส่ภาชนะใหม่ ในกรณีทำข้าวหมาก 2 กิโลกรัม จะใช้แป้งข้าวหมาก 1 เม็ด หลังจากนั้นนำแป้งข้าวหมากมาบดและโรยใส่ข้าวที่แยกออกจากน้ำซาวข้าวแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันและตักใส่ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อย จะสามารถทานได้ในระยะเวลา 2-3วันหลังจากที่ทำโดยประมาณ จึงจะได้รสชาติที่หอมหวานของข้าวหมากจากข้าวหอมมะลิ
*หมายเหตุ*
หากต้องการให้สีของข้าวหมากมีความหลากหลายให้นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้สกัดแทนสีผสมอาหารเพื่อความปลอดภัยเวลารับประทาน เช่นการนำฟักทองมาสกัดให้ได้สีเหลือง แก้วมังกรที่มีเนื้อเป็นสีแดง เป็นต้น โดยวิธีการทำนั้นให้สกัดสีและนำไปใช้ในตอนที่กำลังแช่ข้าวก่อนนำข้าวไปนึ่งเพื่อให้ข้าวนั้นติดสี เมื่อนึ่งข้าวออกมาก็จะเกิดสีสันที่สวยงามน่ารับประทาน
ภาพประกอบ
ดิฉันรับผิดชอบดูแลบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 โดยมีสมาชิกหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำข้าวหมากจากบ้านทะเมนชัย จำนวน 5 ท่าน ได้แก่
1.นางฉัตรทอง สมบัติ บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 1
2.นางทองใบ สงฆรินทร์ บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 1
3.นางดวงเพ็ญ ละมุล บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 1
4.นางศรีวัลลา ชุบรัมย์ บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 1
5.นางบัวไข เซ็งรัมย์ บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 1
โดยดิฉันคอยติดต่อสอบถามและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการต่อยอดการทำข้าวหมากของบ้านทะเมนชัย ผ่านนางทองใบ สงฆรินทร์ และผู้ใหญ่บ้านนายประสิทธิ์ สงฆรินทร์ โดยการติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น Line ด้านนางทองใบ จะเป็นผู้ที่คอยแจ้งเรื่องปัญหา เช่น ยอดขายที่ลดลง เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน หรือด้านการตลาดออนไลน์ที่ตัวแทนชาวบ้านไม่ค่อยมีความถนัดจึงทำให้เกิดอุปสรรคด้านนี้อยู่บ่อยครั้ง ดิฉันได้แนะนำเรื่องการขายและการหาตลาดออนไลน์ให้กับตัวแทนชาวบ้านไปบางส่วน ดังนั้นจึงยังคงติดต่อประสานงานอยู่บ่อยครั้งเพื่อการขายผลิตภัณฑ์ข้าวหมากให้เกิดความราบรื่นมากยิ่งขึ้น
ภาพประกอบ
ภาพการฏิบัติงานโดยดิฉันรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายในวิดีโอประจำเดือนของทีมผู้ปฏิบัติงานทีมทะเมนชัย HS08
ภาพประกอบ
วิดีโอประกอบ