นางสาวธิดาภรณ์ สาลีรัมย์

ข้าพเจ้านางสาวธิดาภรณ์ สาลีรัมย์ ผู้ปฏิบัติงานใหม่ประเภทบัณฑิต ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ปัจจุบันประเทศชาติกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ รัฐบาลจึงได้มีการส่งเสริมสนับสนุนโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า ดังนั้นภาครัฐจึงสนับสนุนโครงการเพื่อเป็นแนวทางในการ สร้างความเจริญแก่ชุมชน ยกฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น จากสิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ ภายในชุมชมมาพัฒนาต่อยอดให้มีคุณภาพและมีความเป็นอัตลักษณ์ของคนในชุมชนนั้นๆ เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้จากผลผลิต

ข้าพเจ้านางสาวธิดาภรณ์ สาลีรัมย์ได้เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งทางอาจารย์ได้นัดประชุมผู้ปฏิบัติงานใหม่ทั้งประชาชน นักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เวลา 10.30 น. อาคาร 6 ห้องส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อแนะแนว แนวทางการทำงาน กฎระเบียบ เวลาในการลงชื่อเข้า-ออกงาน และเป้าหมายของโครงการให้ผู้ปฏิบัติงานใหม่ได้เข้าใจและรับทราบ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านที่ต้องการมีรายได้เสริมโดยการนำผลผลิตจากการเกษตรคือข้าวอินทรีย์มาแปรรูปเป็นข้าวหมากและข้าวแต๋น อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน จากนั้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ได้ทำการประชุมออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเก็บข้อมูล  U2T SROI โดยในการประชุมทางอาจารย์ได้มอบหมายงานเบื้องต้น 1. ให้ประธานและทีมสรุปข้อมูลจากการประชุมว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร 2. มอบหมายให้เลขานุการและทีมจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเก็บข้อมูล จากนั้นทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่บ้านน้อยพัฒนา เพื่อติดตามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ U2T SROI เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 โดยการเก็บข้อมูลจะมีทั้งหมด 11 ข้อ ดังนี้

  1. ตำบลเป้าหมาย
  2. ลูกจ้างโครงการ
  3. ครอบครัวลูกจ้าง
  4. ชุมชนภายใน
  5. ชุมชนภายนอก
  6. อาจารย์โครงการ
  7. เจ้าหน้าที่โครงการ
  8. ผู้แทนตำบล
  9. หน่วยงานภาครัฐ
  10. อปท.
  11. เอกชนในพื้นที่

ซึ่งข้าพเจ้าได้รับผิดชอบในการสอบถามข้อมูลกับทางสมาชิกชุมชน และทำการบันทึกข้อมูล ณ บ้านน้อยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่ทำ คือ ข้าวแต๋น จากการลงพื้นที่ทางสมาชิกชุมชนและผู้ปฏิบัติงานได้มีการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสถานที่ในการสอบถามข้อมูลอยู่ในพื้นโล่ง

จากนั้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ได้ทำการประชุมออนไลน์อีกครั้งเพื่อเตรียมงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เวลา 12.00-12.30 น. ซึ่งจากการประชุมสรุปได้ว่า กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป จัดขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00-11.00 น. ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่เพื่อทำการพัฒนาข้าวแต๋น ณ บ้านน้อยพัฒนา โดยก่อนวันเริ่มงานจะมีการจัดสถานที่ในวันที่ 15 ตุลาคม และในวันที่ 16 จะมีสมาชิกในเข้าร่วมการพัฒนา ดังนี้ สมาชิกบ้านน้อยพัฒนา บ้านหนองน้ำขุ่น บ้านบุตาริด บ้านหนองม่วง บ้านใหม่อัพวัน และบ้านหนองตาด โดยจำกัดสมาชิกหมู่บ้านละ 3 ท่าน รวมสมาชิกที่เข้าร่วมงานทั้งหมด 54 คน และจะมีการแบ่งหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งเก่าและใหม่  ซึ่งทางข้าพเจ้าได้รับผิดชอบเป็น ฝ่ายต้อนรับ ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม และมีอาหารกลางวันเลี้ยงให้กับสมาชิกทุกท่านที่มาเข้าร่วมงาน ซึ่งอาหารกลางวันนั้นจะมี ส้มตำ ไข่เจียว และผัดหมี่ พร้อมทั้งน้ำดื่ม ในงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทางอาจารย์ได้แนะแนวถึงการทำข้าวแต๋น บรรจุภัณฑ์ การตลาดออนไลน์ และการส่งเสริมการขาย ซึ่งสูตรและวิธีการทำข้าวแต๋น มีดังนี้

สูตรและขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น

  • ข้าวแต๋นชาเขียว

ส่วนผสม

  • ข้าวเหนียว 1/2 กก.
  • เกลือป่น                                           1 ชช.
  • น้ำชาเขียว(ชาตรามือ)                     1 ถ้วยตวง(สำหรับทำสีของข้าว)
  • น้ำชาเขียว(ชาตรามือ)                      3 ช้อนโต๊ะ(สำหรับเคี่ยวน้ำตาล)
  • งาดำหรืองาขาว                               2 ช้อนโต้ะ
  • น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย(มิตรผล)    500 กรัม
  • น้ำตาลทรายแดง                                2-3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำกะทิกล่อง                                   1 ช้อนโต้ะ

วิธีการทำ

  1. นำข้าวเหนียวล้างเอาสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน
  2. นึ่งข้าวเหนียวและพักไว้ให้คลายความร้อน เมื่อข้าวคลายร้อนแล้ว ให้ใส่น้ำชาเขียวที่ผ่านการกรองเหลือแต่น้ำแล้ว 1 ถ้วยตวงหรือให้เช็กดูว่าข้าวที่ใส่ชาเขียวแล้วเหนียวได้ที่กำลังดี
  3. ใส่เกลือป่นและงาดำหรืองาขาวก็ได้
  4. ใช้มือคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันเบาๆพยายามให้ข้าวกระจายเป็นเม็ดและให้สังเกตสีของข้าวว่ามีสีชาเขียวทั่วทุกเม็ด ห้ามบี้หรือบีบข้าวเพราะจะทำให้เกาะกันเป็นไตได้
  5. เสร็จแล้ว พักไว้ 5 นาที
  6. นำข้าวที่พักไว้แล้ว ปั้นใส่พิมพ์ พยายามอย่าให้ข้าวอัดกันแน่นเกินไปเพราะเวลานำมาทอดข้าวจะไม่ฟู
  7. นำไปตากแดดจัด 1 วัน และต้องพลิกข้าวกลับด้าน

วิธีทอดข้าวแต๋น

  1. ตั้งไฟรอน้ำมันเดือดจัด แล้วนำข้าวที่ตากแล้ว ลงทอด ตอนทอดพยายามอย่าใช้ไฟแรงจนเกินไป และให้หมั่นพลิกกลับด้านข้าวบ่อยๆ จนเหลืองสวย แล้วนำพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

 

วิธีทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น

  1. นำน้ำกะทิ+น้ำชาเขียว+น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย+น้ำตาลทรายแดง และเกลือ1หยิบมือ ใส่ลงไป แล้วเปิดไฟ ใช้ไฟอ่อนอย่าใช้ไฟแรง เคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
  2. เคี่ยวจนน้ำตาลเริ่มตกทรายเกาะขอบหม้อ แล้วให้ปิดไฟ และเคี่ยวต่อแบบไม่มีไฟ
  3. พักน้ำตาลให้คลายร้อนซักพัก แล้วค่อยนำมาราดบนหน้าข้าวแต๋น

                  

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าได้ทำการลงพื้นที่ที่บ้านบุลิ้นฟ้า เพื่อทำการอบรมพัฒนาอบรมกลุ่มข้าวหมากเกี่ยวกับ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวหมาก และการออกแบบบรรจุภัณฑ์” โดยในงานจะมีวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับกฏหมายการผลิตข้าวหมาก เพื่อให้สมาชิกกลุ่มข้าวหมากได้รับทราบถึงข้อควรในการผลิต และการจำหน่าย เนื่องจากทางสมาชิกได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากจนสามารถนำออกจำหน่าย และมีการสั่งผลิตภัณฑ์ข้าวหมากเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฏหมายของข้าวหมาก

สูตรและขั้นตอนวิธีการทำข้าวหมาก

ส่วนประกอบ

         ข้าวเหนียวหอมมะลิ  1 กก.   แป้งข้าวหมาก 2-3  ลูก

วิธีทำ

  1. นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาล้างน้ำฝน ประมาณ 3 ครั้ง ใช้มือถูเบาๆ จนข้าวหมดเมือกหรือให้น้ำใส แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
  2. นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียด โรยแป้งข้าวหมากบนข้าวเหนียว ใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวเหนียวให้ทั่ว
  3. บรรจุข้าวเหนียวที่ได้ใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ 2-3 วัน ก็จะสามารถรับประทานได้

วิธีทำข้าวหมากหวาน

  1. ข้าวเหนียวใหม่ คือข้าวเหนียวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวในหนึ่งปี เมื่อนำไปนึ่งข้าวจะนิ่มแฉะกว่าข้าวเหนียวเก่า
  2. การเตรียมนึ่งข้าว ต้องให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปนึ่ง
  3. ห้ามล้างข้าวขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ ทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ควรรอให้ข้าวคลายความร้อนก่อนล้าง หากล้างข้าวเหนียวเละ และแฉะ จะมีน้ำอยู่ในข้าวมาก ทำให้ข้าวหมากที่มีรสเปรี้ยวได้
  4. น้ำต้อยข้าวหมากออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้า เมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากแล้ว ค่อนข้างมีเมล็ดติดกัน น้ำต้อยจะออกมามาก แต่ถ้าเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากค่อนข้างแห้งเมล็ดไม่ติดกันน้ำต้อยจะออกมาพอดี
  5. ลูกแป้งข้าวหมากต้องไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจตายหรือมีน้อยเกินไป ทำให้ข้าวหมากไม่หวาน- เก็บข้าวหมากที่อยู่ระหว่างการหมักไว้ในพื้นที่ที่สะอาด

               

การติดต่อประสานงาน ในการจัดกิจกรรมการลงพื้นที่ในแต่ละครั้งจะต้องมีการประสานงานกับผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และที่สำคัญคือสมาชิกในกลุ่มการทำข้าวแต๋น และข้าวหมาก ซึ่งในการลงพื้นที่พัฒนาข้าวแต๋น และอบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวหมาก มีจำนวนทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3 คน มีดังนี้ บ้านน้อยพัฒนา บ้านหนองน้ำขุ่น บ้านบุตาริด บ้านหนองม่วง บ้านใหม่อัพวัน และบ้านหนองตาด รวมสมาชิกผู้ปฏิบัติงานและสมาชิกกลุ่มทำข้าวแต๋น และข้าวหมาก ทั้งสิ้น 54 คน ซึ่งข้าพเจ้าได้รับผิดชอบกลุ่มทำข้าวแต๋น ที่บ้านน้อยพัฒนา ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นทางผู้ปฏิบัติงานได้ให้คำติชมเกี่ยวกับขนาด และสีของข้าวแต๋น เพื่อให้สมาชิกกลุ่มข้าวแต๋นได้ทำการพัฒนาต่อไป

แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางข้าพเจ้าเห็นว่าจะต้องมีการมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ เช่น เพิ่มความต้องการสินค้าในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น จากเดิมเป็นวงกลมเปลี่ยนเป็นแท่ง หรือรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เนื่องผลิตภัณฑ์มีการแตกหักง่าย หากมีการส่งออกขายสภาพอาจไม่สมบูรณ์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น ทางข้าพเจ้าเห็นว่า ภาชนะควรเป็นกระปุกพลาสติกใสแข็ง มีฝากปิดที่มิดชิดในการบรรจุผลิตภัณฑ์ส่งออกขาย ผลที่ได้คือ การส่งถึงมือผู้บริโภคนั้นผลิตภัณฑ์คงสภาพสมบูรณ์ ไม่มีแตกหรือหัก เพื่อเกิดความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งต่อไป

พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย  พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า และมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น อินเทอร์เน็ตออนไลน์ วิทยุ และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ หรืออาจร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าในระดับท้องถิ่น

 

อื่นๆ

เมนู