วันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. ณ สถานีรถไฟทะเมนชัย ทีมผู้ปฏิบัติงานได้รวมกลุ่มกันเพื่อแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูล บันทึกข้อมูลตามแบบสอบถาม SROI  ซึ่งข้าพเจ้าได้รับมอบหมายในหัวข้อเรื่องร้านค้าในตำบลทะเมนชัย( ร้านก๋วยเตี๋ยว 9 บาท ) โดยมีทีมผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด 5 คน  ได้แก่

1.นายยงยุทธ เขียววิลัย

2.นางสาวสุนัชา  สลัยรัมย์

3.นายศุภกร  วิเศษนคร

4.นายจิรวัฒน์  แสนรัมย์

5.นายอนุชา  ตาดวง

โดยมีนางสุขขี แสนรัมย์ซึ้งเป็นเจ้าของร้านข้าพเจ้าทีมผู้ปฏิบัติงานได้สอบถามข้อมูลทุกหัวข้อเจ้าของร้านได้ตอบคำถามและให้ความร่วมมือดีมาก

จากนั้นทีมผู้ปฏิบัติงานได้เข้าไปสอบถามข้อมูล ณ ศูนย์ข้าวบ้านบุลิ้นฟ้าโดยมีนายประสิทธิ์ ชัยวิชา ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์ข้าวบ้านบุลิ้นฟ้า ได้ให้ข้อมูลการประเมินผลจากการมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจรายตำบลของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ได้มีการช่วยพัฒนาการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้สอบถามจึงได้มีการจดบันทึกและรวบรวมข้อมูลตามแบบสอบถาม

 

หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปช่วยงานเพื่อเก็บภาพและถ่ายวิดีโอเก็บภาพบรรยากาศกับนายธนาธิป เสาวพันธุ์ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองตราด ม.3 เวลา 13.00 น. จึงได้นัดเจอกัน ณ สถานีรถไฟ   ทะเมนชัยอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมอบหมายมารวบรวมกันนำไปวิเคราะห์ต่อไป

 

 

เนื่องจากวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านบริหารชนบท ม.6 ข้าพเจ้าและทีมปฏิบัติงานอีก 3 คน ได้แก่

1.นางสาวสิรินภา ทะกาเนนะ

2.นางสาวณัฐริยา จงปลูกกลาง

3.นายธนาธิป เสาวพันธุ์

ได้ไปช่วยนางสาวรัชฎาภรณ์ ทุมประสิทธิ์ ทีมผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบบ้านบริหารชนบทเข้าไปสอบถามข้อมูลทั่วไปของชุมชนบ้านบริหารชนบทกับนางอุทัย ทองทา ภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน ท่านได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลภายในชุมชน เช่น จำนวนประชากร ร้านค้าในชุมชน โรงเรียน แหล่งน้ำและวัด เป็นต้น จากนั้นจึงได้เข้าไปสอบถามข้อมูลร้านค้าในชุมชนและเก็บภาพบรรยากาศของโรงเรียนบ้านบริหารและสำนักสงฆ์บ้านบริหารชนบท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเก็บรวบรวมเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำรูปเล่มสรุปส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปข้าวหมากและข้าวแต๋น

วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลากลางบ้านบ้านน้อยพัฒนา ม.16 ได้มีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแปรรูปข้าวแต๋น มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด 19 โดยมีการวัดอุณหภูมิและเจลล้างมือก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมลงทะเบียนเพื่อแสดงรายชื่อการเข้าร่วม อาจารย์ดร.สุธีกิติ์ ฝอดสูงเนิน ได้กล่าวเปิดกิจกรรมและแจกหลักสูตรการทำข้าวแต๋น ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้นำแพ็คเกจ 3 รูปแบบ เพื่อให้ชุมชนได้เลือกใช้ในการบรรจุข้าวแต๋น ได้แก่ ซองแบบซิปล็อก กระปุกเซฟตี้ขนาดเล็ก และกระปุกเซฟตี้ขนาดใหญ่ ให้กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนวิธีการทำ ดังนี้

สูตรและขั้นตอนวิธีการทำข้าวแต๋น

1.)ข้าวแต๋นชาเขียว

ส่วนผสม

(1.)ข้าวเหนียว                           1/2 กก.

(2.)เกลือป่น                               1 ชช.

(3.)น้ำชาเขียว(ชาตรามือ)                    1 ถ้วยตวง(สำหรับทำสีของข้าว)

(4.)น้ำชาเขียว(ชาตรามือ)                     3 ช้อนโต๊ะ(สำหรับเคี่ยวน้ำตาล)

(5.)งาดำหรืองาขาว                    2 ช้อนโต้ะ

(6.)น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย(มิตรผล)        500 กรัม

(7.)น้ำตาลทรายแดง                   2-3 ช้อนโต๊ะ

(8.)น้ำกะทิกล่อง                         1 ช้อนโต้ะ

 

 

วิธีการทำ

1.นำข้าวเหนียวล้างเอาสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมออกให้หมด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 1 คืน(หม่าข้าว)

2.นึ่งข้าวเหนียวและพักไว้ให้คลายความร้อน (ถ้าข้าวแข็งๆนิดนึงจะดีมากเพราะจะทำให้ใส่พิมพ์และปั้นง่าย)

3.เมื่อข้าวคลายร้อนแล้ว ให้ใส่น้ำชาเขียวที่ผ่านการกรองเหลือแต่น้ำแล้ว 1 ถ้วยตวงหรือให้เช็กดูว่าข้าวที่ใส่ชาเขียวแล้วเหนียวได้ที่กำลังดี

4.ใส่เกลือป่นและงาดำหรืองาขาวก็ได้

5.ใช้มือคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันเบาๆพยายามให้ข้าวกระจายเป็นเม็ดและให้สังเกตสีของข้าวว่ามีสีชาเขียวทั่วทุกเม็ด ห้ามบี้หรือบีบข้าวเพราะจะทำให้เกาะกันเป็นไตได้

6.เสร็จแล้ว พักไว้ 5 นาที

7.นำข้าวที่พักไว้แล้ว ปั้นใส่พิมพ์ พยายามอย่าให้ข้าวอัดกันแน่นเกินไปเพราะเวลานำมาทอดข้าวจะไม่ฟู

8.นำไปตากแดดจัด 1 วัน (ครึ่งวันๆอย่าลืมพลิกกลับด้านข้าวด้วยนะคะ)

วิธีทอดข้าวแต๋น

-ตั้งไฟรอน้ำมันเดือดจัด แล้วนำข้าวที่ตากแล้ว ลงทอด ตอนทอดพยายามอย่าใช้ไฟแรงจนเกินไป และให้หมั่นพลิกกลับด้านข้าวบ่อยๆ จนเหลืองสวย แล้วนำพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

วิธีทำน้ำตาลราดข้าวแต๋น

-นำน้ำกะทิ+น้ำชาเขียว+น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลอ้อย+น้ำตาลทรายแดง(น้ำตาลทรายแดงจะช่วยให้น้ำตาลตกทรายง่ายขึ้นสามารถเช็กความหนึดของน้ำตาลเวลาเคี่ยวแล้วเพิ่มปริมาณได้) และเกลือ1หยิบมือ ใส่ลงไป แล้วเปิดไฟ ใช้ไฟอ่อนอย่าใช้ไฟแรง เคี่ยวส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน **ทั้งเคี่ยวและคน**ระวังน้ำตาลไหม้นะคะ เคี่ยวจนน้ำตาลเริ่มตกทรายเกาะขอบหม้อ แล้วให้ปิดไฟ และเคี่ยวต่อแบบไม่มีไฟ

-พักน้ำตาลให้คลายร้อนซักพัก แล้วค่อยนำมาราดบนหน้าข้าวแต๋น

2.)ข้าวแต๋นมันม่วง

-มีส่วนผสมและขั้นตอนวิธีการทำคล้ายกันกับชาเขียว โดยมีปริมาณในการใช้ส่วนผสมเหมือนกัน แต่ให้เปลี่ยนจากชาเขียวเป็นมันม่วง ซึ่งน้ำสีของมันม่วงได้จากการเอามันม่วงมาปั้นกรองเอาแต่น้ำ

เคล็ดลับ : เวลาเคี่ยวน้ำตาลชาเขียว/มันม่วงให้สังเกตกลิ่นและสีของน้ำราด ถ้ายังหอมออกกลิ่นของชาเขียวไม่พอสามารถเติมน้ำชาเขียวเพิ่มได้..แต่ห้ามเติมตอนเคี่ยวร้อนๆเด็ดขาด ให้เติมตอนที่น้ำตาลคลายร้อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าเติมตอนร้อนๆน้ำตาลจะไหม้ได้(สูตรและเทคนิควิธีการทำสามารถปรับได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคลนะคะ)

ช่วงเวลา 11.30 น.หลังจากจบกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น อาจารย์จึงได้นัดรวมประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องของการจัดกิจกรรมข้าวหมากในวันถัดไป และการพูดถึงการทำงาน การเขียนบทความในเดือนตุลาคม และการได้พบปะพูดคุยกันกับสมาชิกใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรายตำบลของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จำนวน 13 คน เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น และทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนที่จะจัดเก็บสถานที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ข้าวบ้านบุลิ้นฟ้า ม.13 คณะทีมผู้ปฏิบัติงานได้จัดเตรียมสถานที่ในช่วงเช้าเพื่อเตรียมจัดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก และได้มอบหมายงานตามภาระหน้าของแต่ละคน มีการเตรียมเอกสารหลักสูตรการทำข้าวหมากเพื่อมาแจกจ่ายให้กับชุมชนที่สนใจ ช่วงเช้าอาจารย์ ดร.สุธีกิติ์ ฝอดสูงเนิน กล่าวเปิดพิธีการจัดกิจกรรมก่อนเข้าสู่กระบวนการทำข้าวหมากดังนี้

ส่วนประกอบและอัตราส่วน   : ข้าวเหนียวหอมมะลิ  1 กก.   แป้งข้าวหมาก 2-3  ลูก

วิธีทำ : 1.นำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาล้างน้ำฝน ประมาณ 3 ครั้ง ใช้มือถูเบาๆ จนข้าวหมดเมือกหรือให้น้ำใส แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

2.นำลูกแป้งข้าวหมากมาบดให้ละเอียดโรยแป้งข้าวหมากบนข้าวเหนียวใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวเหนียวให้ทั่ว

3.บรรจุข้าวเหนียวที่ได้ใส่ภาชนะ ปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ 2-3 วัน ก็จะสามารถรับประทานได้

เคล็ดลับวิธีทำ ข้าวหมากหวาน

– ข้าวเหนียวใหม่ คือข้าวเหนียวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวในหนึ่งปี เมื่อนำไปนึ่งข้าวจะนิ่มแฉะกว่าข้าวเหนียวเก่า

– การเตรียมนึ่งข้าว ต้องให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ ก่อนที่จะนำไปนึ่ง

– ห้ามล้างข้าวขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ ทำให้ข้าวเหนียวแฉะ ควรรอให้ข้าวคลายความร้อนก่อนล้าง หากล้างข้าวเหนียวเละ และแฉะ จะมีน้ำอยู่ในข้าวมาก ทำให้ข้าวหมากที่มีรสเปรี้ยวได้

– น้ำต้อยข้าวหมากออกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้า เมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากแล้ว ค่อนข้างมีเมล็ดติดกัน น้ำต้อยจะออกมามาก แต่ถ้าเมล็ดข้าวที่คลุกเคล้าลูกแป้งข้าวหมากค่อนข้างแห้งเมล็ดไม่ติดกันน้ำต้อยจะออกมาพอดี

เวลา 12.00 น. เป็นอันเสร็จกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก และการให้ความรู้ในเรื่องของการยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวหมากให้อยู่ในรูปแบบสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาดและถูกสุขอนามัย และเตรียมจัดเก็บสถานที่ให้เรียบร้อย

– ลูกแป้งข้าวหมากต้องไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจตายหรือมีน้อยเกินไป ทำให้ข้าวหมากไม่หวาน- เก็บข้าวหมากที่อยู่ระหว่างการหมักไว้ในพื้นที่ที่สะอาด

การติดตามผลการทำข้าวหมากบ้านบุลิ้นฟ้า ม.13 มีผู้สนใจทั้งหมด 5 คน ได้แก่

1.นางสมบูญ  ปักษา

2.นางสุณี   สลัยรัมย์

3.นางระเบียบ  ถนอมศิลป์

4.นางไพรี  ซึมรัมย์

5.นางวิภาดา   ซุยรัมย์

ข้าพเจ้าได้แนะนำวิธีการทำข้าวหมากเพื่อให้ดูสีสันน่ารับประทานมากขึ้นโดยการนำสีจากธรรมชาติ ได้แก่ สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัญ จากการทำข้าวหมากทำให้กลุ่มผู้สนใจสามารถขายได้ในชุมชนและต่างจังหวัดดิฉันจึงได้แนะนำการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างง่ายให้กับกลุ่มตัวแทนของชุมชนเพื่อที่จะสามารถต่อยอดการขายได้ในต่อไป อีกทั้งยังได้แนะนำรูปแบบผลิตภัณฑ์ในการบรรจุข้าวหมากให้กับกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน

ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอเวลาทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่หรือประชุมนอกสถานที่ การเก็บภาพบรรยากาศในการทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การจัดเตรียมสถานที่การจัดกิจกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์การแปรรูปข้าวหมากและข้าวแต๋น และการเก็บรวบรวมข้อมูล SROI ปฏิบัติตามคำสั่งที่อาจารย์ได้มอบหมายและประสานงานกิจกรรมในเรื่องต่างๆ

 

รูปภาพประกอบ

อื่นๆ

เมนู