1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS08 - ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ
  4. HS08-การเรียนรู้และขอคำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เนื่องในวันชาติ วันที่ 5 ธันวาคม 2564

HS08-การเรียนรู้และขอคำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เนื่องในวันชาติ วันที่ 5 ธันวาคม 2564

การเรียนรู้และขอคำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น

ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

และกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เนื่องในวันชาติ วันที่ 5 ธันวาคม 2564

       ดิฉันนางสาวณัฐริยา จงปลูกกลาง ประเภทบัณฑิตจบใหม่ เป็นผู้เขียนบทความประจำเดือนธันวาคม ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:00 น. ดิฉันได้ลงพื้นที่จัดทำสรุปผลการปฏิบัติงานหรือการสังเคราะห์รายงานการดำเนินงานโครงการ U2T  ณ บ้านบุลิ้นฟ้า หมู่ 13  ตำบลทะเมนชัย  ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานอีก4ท่านได้รับผิดชอบในส่วนของ บทที่ 3 ผลการดำเนินงานของข้าวหมากและข้าวแต๋น ดิฉันได้รับผิดชอบในส่วนของข้าวแต๋น โดยเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลการฝึกอบรมของกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ไปจนถึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความคืบหน้าอย่างไร ผลิตภัณฑ์มีการออกแบบสีสันรูปลักษณ์น่ารับประทานหรือไม่ และบรรจุภัณฑ์ได้รับการพัฒนาเป็นเช่นไร การตลาดของกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นเป็นอย่างไร และได้จัดทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่ายหรือไม่ และภาพรวมของการรวมกลุ่มมีภาพรวมที่ดีให้ความร่วมมือกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างขันแข็ง ยกตัวอย่างจากบ้านน้อยพัฒนา หมู่16 กลุ่มตัวแทนชาวบ้านพร้อมใจมารวมกลุ่มกันร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การตากข้าวไม่แห้งยามเข้าฤดูฝน และตัวบรรจุภัณฑ์ที่ขาดความรัดกุมเนื่องจากชาวบ้านใช้เทียนลนปิดปากถุงพลาสติก และอาจก่อให้เกิดสารอันตรายจากควันเทียน รวมไปถึงการปิดปากถุงที่ไม่รัดกุมก่อให้เกิดลมหรือความชื้นที่เข้าไปในถุงข้าวแต๋น ซึ่งจะทำให้ความกรอบของข้าวแต๋นลดน้อยลง ดังนั้นจึงทำให้ข้าวแต๋นเสียรสชาติ กลุ่มตัวแทนชาวบ้านรับทราบถึงปัญหาและพร้อมจะปรับปรุงร่วมกันกับทีมผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดหาถุงกระดาษคราฟท์ที่เป็นซิปล็อค และถุงฟอยด์ซิปล็อค เพื่อความสวยงามและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้บ้านน้อยพัฒนา ยังจัดทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่าย ของกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และสำหรับเรื่องการตลาดทางด้านออนไลน์ยังถือเป็นปัญหาภายในกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน แต่ทางทีมผู้ปฏิบัติงานจะเป็นผู้สอนและแนะนำแนวทาง ให้กับทางชาวบ้านได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน อีกทั้งจะจัดหาตัวแทนของคนรุ่นใหม่ภายในหมู่บ้านให้เป็นผู้ช่วยแอดมินคอยรับออเดอร์ให้กับทางกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน เพื่อในอนาคต เมื่อจบโครงการทางหมู่บ้านจะได้สานต่อการทำผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นต่อไป และดิฉันเองยังได้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือนของบ้านน้อยพัฒนา ลงในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างรูปแบบตาราง และเพื่อการมองเห็นภาพรวมที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้นลงไปในสรุปผลการปฏิบัติงาน บทที่ 3 ผลการดำเนินงานในส่วนของของข้าวแต๋น

ภาพประกอบ

       

       การจัดทำข้อมูล TSI หรือการดำเนินงานรายตำบล ของตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้ตำบลมุ่งสู่ความยั่งยืน ให้เห็นถึงศักยภาพของตำบล ดังนั้นจึงมีการประเมินก่อนและหลัง โดยเริ่มแรกแสดงให้เห็นถึงข้อมูลพื้นฐานของตำบลทะเมนชัย ที่ประกอบไปด้วย 17 หมู่บ้าน 2,477 หลังคาเรือน จำแนกเขตการปกครองออกเป็น 2 แห่ง คือ 1.เทศบาลตำบล ปกครอง 7 หมู่บ้าน 2. อบต. ปกครอง 10 หมู่บ้าน ประชากร จำนวน 9,030 คน มีวัด 7 แห่ง มีโรงเรียน 8 แห่ง มีพื้นที่ป่า 100 ไร่ และ มีแหล่งน้ำ 14 แห่ง โดยดิฉันร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันหลังการประเมินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปมาจากข้าวอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษ จากกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ทั้งนี้ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการอบรมพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ เช่นผ่าน Facebook Fanpage ของโครงการ U2T ทีมทะเมนชัย ที่มีชื่อว่า U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ตำบลทะเมนชัย ซึ่งกล่าวได้ว่าการเข้าร่วมของตัวแทนชาวบ้านในชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้ และยังถือเป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดมูลค่าและคุณค่าทางอาหาร และเมื่อมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านมาเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังนั้นก็จะมีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การจัดทำเป็นคู่มือเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อสารสนเทศให้เข้าถึงตัวผู้คนมากยิ่งขึ้น

ภาพประกอบ

       ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ดิฉันได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมพัฒนาในพื้นที่ ตำบลทะเมนชัย ที่บ้านคุณแม่สำรวย เชิญรัมย์ สมาชิกกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน บ้านหนองตาด หมู่ 3 ตำบลทะเมนชัย ที่เข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก ในเวลา 09:30 น. ได้มีการลงตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น โดย ท่านอาจารย์จิรายุ  มุสิกา และท่านอาจารย์ธนวรรณ มุสิกา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และ ผศ.ดร.คำภีรภาพ อินทะนู ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมเข้ารับฟังคำแนะนำพร้อมกับทีมผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นเข้าร่วมรับฟังคำแนะนำทั้งหมด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองตาด บ้านหนองหญ้าปล้อง ทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก และ บ้านน้อยพัฒนา ทำผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น ได้นำผลิตภัณฑ์มาให้ท่านวิทยากรทั้ง2ท่านได้ติชม และให้คำแนะนำตั้งแต่เรื่องการแนะนำให้กลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่ทำผลิตภัณฑ์ทั้งข้าวหมาก และข้าวแต๋น ต้องจัดตั้งโรงเรือนก่อน และไปขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อจะได้เป็นการง่ายต่อการขอจดแจ้ง เลขทะเบียน อย.ในอนาคต และแนะนำการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์คือการมี “ใบรับรองสินค้า” สามารถบอกสรรพคุณของข้าวอินทรีย์หรือข้าวก่ำที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหมากได้ นำไปวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้มีใบรับรองให้กับผลิตภัณฑ์ว่าเป็นข้าวอินทรีย์ที่ปลอดสารพิษ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วยเช่นเดียวกัน และชาวบ้านยังกล่าวถึงปัญหาที่พบเจอสำหรับการทำข้าวหมากคือ แป้งข้าวหมากมีรสชาติที่เปรี้ยวในบางครั้ง เพราะเนื่องจากชาวบ้านไม่ได้ทำแป้งข้าวหมากเองจึงยังคงประสบกับปัญหากับแป้งข้าวหมากที่ให้รสชาติไม่คงเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้ง ดังนั้นท่านวิทยากรจึงขอกลับไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำสูตรการทำแป้งข้าวหมากกลับมาถ่ายทอดให้กับชาวบ้านได้ทดลองเป็นผู้ผลิตเอง เพื่อในอนาคตจะได้มีแป้งข้าวหมากเป็นของชุมชนเองโดยที่ไม่ต้องซื้อมาจากข้างนอก และยังพบเจอกับปัญหาเรื่องอุณหภูมิสำหรับการทำข้าวหมาก เนื่องจากปกติเมื่อทำข้าวหมากแล้วใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ข้าวหมากเป็นแล้วจึงให้ความหวาน แต่เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวอุณภูมิลดลงทำให้สภาพอากาศเย็น ดังนั้นข้าวหมากจึงเป็นช้า ท่านวิทยากรจึงได้แนะนำให้นำข้าวหมากใส่กล่องโฟมและนำผ้าชุบน้ำอุ่นมาปิดคลุมเอาไว้ เพื่อรักษาอุณหภูมิของข้าวหมากไม่ให้เกิดความเย็นตามสภาพอากาศข้างนอก ให้ข้าวหมากเป็นไวและสามารถรับประทานได้ในระยะเวลาที่กำหนด แต่ข้อเสียของวิธีการนี้ คือ ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าชุบน้ำอุ่นบ่อยๆเพื่อให้ยังคงเก็บรักษาอุณหภูมิของข้าวหมากเอาไว้ได้ สำหรับแพคเกจจิ้งที่ชาวบ้านเลือกใช้มาบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวหมากท่านวิทยากรลงความเห็นว่าใช้ได้เหมาะสม ผศ.ดร.คำภีรภาพ อินทะนู เสริมเรื่องการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้คือการนำกระบอกไม้ไผ่มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อวางแผนสำหรับการตีตลาดให้กับนักท่องเที่ยวในอนาคต และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์

ภาพประกอบ

       และสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวหมากที่สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไปอีกได้ คือ ไอศกรีมข้าวหมาก ที่ หนึ่งในทีมผู้ปฏิบัติงานได้เป็นผู้นำเสนอไอเดีย โดยท่านวิทยากรได้แนะนำว่าสามารถทำได้โดยไม่ใช้อุณหภูมิความร้อนที่สูงจนเกินไปเพื่อรักษาประโยชน์จากข้าวหมากที่มีโพรไบโอติก ประโยชน์คือ ช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น หรือจะเพิ่มนมเข้าไปในตัวไอศกรีม เช่น น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง ก็ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงขั้นตอนการทำหากทดลองทำโดยทั่วไปอาจจะได้ในรูปแบบเกร็ดน้ำแข็งหรือเป็นน้ำแข็งใส ให้นำสารให้ความคงตัวในไอศกรีมเพิ่มเข้าไปด้วยโดยการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อง่ายต่อการทำไอศกรีม และการต่อยอดของผลิตภัณฑ์อีก1อย่าง คือ น้ำข้าวหมากเพื่อสุขภาพ โดยท่านวิทยากรแนะนำให้ผ่านการพาสเจอไรซ์ก่อน เพื่อประโยชน์ของน้ำข้าวหมากเพื่อสุขภาพ แก่ผู้ปริโภคที่ต้องการดื่ม

       คำแนะนำโดยท่านวิทยากรสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น โดยการใช้สีจากธรรมชาติกับสีผสมอาหารร่วมกันเพื่อให้ได้สีที่หลากหลาย และนอกจากน้ำตาลโรยหน้าให้ลองเพิ่มความหลากหลายของหน้าข้าวแต๋นโดยการทำเป็นหน้า พริกเผา หมูหยอง โกโก้ ช็อกโกแลต หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นจุดขายที่น่าสนใจ และเพิ่มความแปลกใหม่โดยการนำกัญชาผสมให้เป็นส่วนหนึ่งกับข้าวแต๋น คล้ายกับโนริสาหร่าย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการความแปลกใหม่และยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน แนะนำด้านการตลาดให้จัดทำข้าวแต๋นหน้าต่างๆและมีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครลงหน้าแฟนเพจเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดความสนใจ สร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ จัดทำที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ และสร้าง QR Code เพื่อสามารถให้ผู้อื่นได้เข้าไปรับชมได้ ทั้งนี้เรื่องบรรจุภัณฑ์แนะนำการใช้ถุงกระดาษคราฟท์ซิปล็อค หรือถุงฟอยด์ซิปล็อคเพื่อรักษาความชื้นกันลมเข้า เพื่อไม่ให้ข้าวแต๋นเสียรสชาติหรือความกรอบลง

ภาพประกอบ

       ทั้งนี้ท่านวิทยากรยังได้แนะนำการจัดทำแอพพลิเคชั่น ให้เห็นถึงมุมมองของเกษตรในพื้นที่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะนำมาแปรรูป โดยข้าวอินทรีย์มาจากกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่ซึ่งเราสามารถทำให้ผู้อื่นมองเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่กลุ่มนี้ได้ ที่ทำให้พวกเรามีข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นขายออกสู่ท้องตลาดได้ในปัจจุบัน และท่านวิทยากรยังได้แนะนำถึงการจัดทำบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่าย ให้จัดทำลงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อความถูกต้อง และแม่นยำของการคำนวณเลขที่เกิดความผิดพลาดได้น้อยกว่าการเขียนหรือจดด้วยตนเอง และยังสามารถจัดเก็บได้ง่าย โดยให้ทางทีมผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยเหลือเรื่องการบันทึกข้อมูลบัญชีครัวเรือน รายรับ-รายจ่ายของตัวแทนชาวบ้านลงระบบคอมพิวเตอร์

ภาพประกอบ

       

       เมื่อท่านวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้ให้คำแนะนำเสร็จเรียบร้อย ทางทีมผู้ปฏิบัติงาน จึงมุ่งหน้าไป วัดด่านทองประชาสามัคคี บ้านหนองตาด ตำบลทะเมนชัย  แบ่งกลุ่มกันร่วมทำ “กิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เนื่องในวันชาติ วันที่ 5 ธันวาคม” ดิฉันและเพื่อนร่วมทีมอีก 3 ท่าน ร่วมกันล้างห้องน้ำ และอีก 2 ทีมที่เหลือแยกย้ายกันไปล้างห้องน้ำอีกฝั่งของวัด และปลูกต้นไม้ในจุดที่เป็นสวนหย่อม ซึ่งทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ปรึกษากันนำ ต้นหลิวไต้หวัน และต้นพยับหมอก ที่ในหลวง ร.9 ทรงโปรด นำมาปรับทัศนียภาพภายในวัดด่านทองประชาสามัคคี

ต้นหลิวไต้หวัน

ชื่อพื้นเมือง : หลิวไต้หวัน หลิวดอก อยู่ในวงศ์ : Lythraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Cuphea hyssopifola H.B.K.

“หลิว” ในภาษาจีน แปลว่า เทพธิดาหรือนางฟ้า เป็นความเชื่อ ว่าใครที่มีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคล

ลักษณะต้น ไม้คลุมดินขนาดเล็ก ลำต้นสูง 30-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้างเป็นพุ่มแน่น กิ่งย่อยจะแตกออกจากกิ่งหลักสองข้างและแผ่ออกตรงข้ามกัน ลำต้นสีน้ำตาล มีขนตามกิ่ง

ใบ ใบเดี่ยว มีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ใบหนา แข็ง และสาก สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบมีรูปร่างเรียวปลายแหลม

ดอก สีม่วงอมชมพู ชมพู หรือ ขาว ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีกลีบดอก 5-6 กลีบ

ข้อมูลจาก : https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=fasaiwonmai&month=04-2013&date=29&group=2&gblog=499

ภาพประกอบ

ต้นพยับหมอก

พยับหมอก หรือ เจตมูลเพลิงฝรั่ง อยู่ในวงศ์ : Plumbaginaceae  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Plumbago auriculata Lam ส่วนชื่อสามัญชาวต่างชาติเรียก Cape leadwort หรือ White plumbago เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง แตกกอสูงราว 15 ฟุต มีกิ่งก้านสาขามากมาย ต้นและกิ่งดูบอบบาง แต่มีความแข็งแรงกว่าต้นไม้ขนาดเดียวกัน มักใช้เป็นไม้ในการปรับแต่งภูมิทัศน์ และปลูกตามแนวริมรั้ว

พยับหมอก เป็นไม้พุ่มที่โตเร็ว ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีกับดินทุกชนิด ชอบแดดจัด ออกดอกตลอดทั้งปี เป็นไม้ที่ชอบน้ำพอสมควร ชอบความชื้น

ข้อมูลจาก : https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=mambyrose&month=24-11-2017&group=25&gblog=703

ภาพประกอบ

ภาพจาก : https://buildsweethome.blogspot.com/2018/12/cape-leadwort.html

        ประโยชน์จากการทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทำให้เห็นถึงความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของทีมผู้ปฏิบัติงานที่พร้อมใจกันสร้างประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการล้างห้องน้ำวัดที่เกิดอานิสงส์ผลบุญแก่ผู้ล้าง สิ่งใดที่ไม่ดีก็ขจัดออกจากใจ ทำให้สบายใจ ไม่รู้สึกทุกข์ เช่นเดียวกันกับการปลูกต้นไม้ปรับทัศนียภาพให้ทัศนียภาพภายในวัดเกิดความสวยงาม ช่วยให้เกิดอานิสงส์แก่ผู้ปลูก เพราะทุกอย่างคือผลจากการกระทำ ได้ความสามัคคีของทีมผู้ปฏิบัติงานแล้วก็ได้ผลบุญเกิดอานิสงส์จากการไปทำกิจกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

 

 

อื่นๆ

เมนู