1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS08 - ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ
  4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ “ข้าวหมาก”และ “ข้าวแต๋น” ภายใต้การทำงานในสถานการณ์ Covid-19 ของทีมผู้ปฏิบัติงาน ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ (HS08)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ “ข้าวหมาก”และ “ข้าวแต๋น” ภายใต้การทำงานในสถานการณ์ Covid-19 ของทีมผู้ปฏิบัติงาน ต.ทะเมนชัย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ (HS08)

บทความประจำเดือนสิงหาคม

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์  “ข้าวหมาก” และ “ข้าวแต๋น”

          การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากของชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่1ที่ดิฉันได้ดูแลรับผิดชอบอยู่ยังไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่ผลิตขึ้นเพื่อการขายออกสู่ตลาด เนื่องจากตัวแทนชาวบ้านของบ้านทะเมนชัยที่เข้ารับการอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากข้าวอินทรีย์มาเป็นข้าวหมาก มีอาชีพเสริมนอกจากการทำเกษตรกรรม คือ อุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การทอผ้าไหม เลยทำให้ไม่มีเวลาในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งนี้ดิฉันได้ติดต่อสอบถามไปยังตัวแทนชาวบ้าน นางทองใบ สงฆรินทร์ ที่เข้ารับการอบรมได้ความว่า “ ได้นำความรู้ในการทำข้าวหมากหลังจากการเข้ารับการอบรมมาสานต่อโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ อสม.ในชุมชนหลายท่าน ทั้งนี้ยังได้ติดต่อไปยังวิทยากรกระบวนการจากบ้านหนองตาด ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากจนสามารถขายออกสู่ตลาด ไปจนถึงเรื่องของการพัฒนาสูตรข้าวหมาก และเรื่องของรสชาติที่ผู้บริโภคนิยมทาน เพราะมีหลายท่านในชุมชนบ้านทะเมนชัย สนใจที่จะต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและชุมชนในการผลิตเพื่อขายออกสู่ตลาดได้ในอนาคตอันใกล้” ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรีมยนรู้กันระหว่างชุมชน และเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับตำบลทะเมนชัยได้ในอนาคตที่จะมีกำลังแรงผลิตมากยิ่งขึ้น

          แม้ว่าชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่1 ยังไม่ได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวหมากในการขายออกสู่ตลาดแต่เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนให้ความสนใจและคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นในอนาคต ดิฉันได้แนะนำการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้แก่ตัวแทนชาวบ้านทะเมนชัย เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีความพอประมาณในการใช้จ่าย รอบคอบและระมัดระวังเพื่อผลประโยชน์ของตัวชาวบ้านในชุมชนเอง

ตัวอย่างแบบฟอร์มบัญชีครัวเรือน (บัญชีรายรับและรายจ่าย)

          ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ปรึกษากันว่าตัวแทนชาวบ้านจากบ้านหนองตาด และบ้านหนองหญ้าปล้องที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากจนขายออกสู่ตลาดได้นั้น นอกเหนือจากการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ คือใบตอง โดยการวางขายในพื้นที่ของชุมชนแล้ว แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อส่งสินค้าไปต่างจังหวัดทางชุมชนใช้กระปุกพลาสติกที่บางและฝาปิดไม่มีความแน่นหนามิดชิดพอจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำข้าวหมากรั่วไหลเลอะบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นทีมผู้ปฏิบัติงานจึงได้แนะนำกระปุกพลาสติกพร้อมฝาล็อคที่มีความแน่นหนา หรือกระปุกเซฟตี้ใช้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน และในขณะเดียวกันเรื่องการถนอมอาหารในการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปต่างจังหวัด ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้เล็งเห็นถึงปัญหาเพราะข้าวหมากเมื่อทำเสร็จจะใช้เวลาในการหมัก3วันแล้วจึงจะสามารถทานได้ ทั้งนี้จึงได้คำนึงถึงการนำสินค้าไปส่งแล้วเกินกำหนดส่งถึงมือลูกค้าหลัง3วันไปแล้วหรือใช้เวลามากกว่านั้น ในการขนส่งจึงจะนำข้าวหมากที่บรรจุในกระปุกเซฟตี้แล้วนำมาใส่ในถุงฟอยด์เก็บความเย็น เพราะสามารถรักษาอุณหภูมิด้านในถุงได้ในระดับหนึ่ง โดยสามารถเก็บความเย็นได้ต่ำสุด -50° และเก็บรักษาอุณหภูมิได้ประมาณ 2-5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสินค้าและสภาพอากาศ และนอกจากนี้จะใส่ Ice gel pack PE หรือเจลให้ความเย็นลงไปในถุงฟอยด์เก็บความเย็นเพื่อจะช่วยให้เก็บรักษาความเย็นได้นานขึ้น และลดการสูญเสียรสชาติของข้าวหมาก

          และในขณะเดียวกันสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ทีมผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ คอยติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนชาวบ้านของชุมชนที่ดิฉันรับผิดชอบคือ ชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่1 โดยการติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การโทรศัพท์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น Line สอบถามถึงสถานการณ์ในชุมชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีการเฝ้าระวังและดูแลป้องกันอย่างไรโดยทางผู้ใหญ่บ้าน นายประสิทธิ์ สงฆรินทร์ ได้กล่าวว่า “ณ ตอนนี้มีผู้ที่กลับมาจากต่างหวัดค่อนข้างเยอะโดยส่วนใหญ่แล้วคือผู้ที่ติดเชื้อ Covid-19 ขอกลับมารักษาตัวที่บ้าน สิ่งที่ผู้ใหญ่บ้านทำคือการติดต่อไปยังโรงพยาบาลของอำเภอคอยประสานหาจุดเข้าพักที่เป็นโรงพยาบาลสนามอีกทั้งหากมีผู้ที่ต้องการกลับมาก็ต้องทำตามกฎคือการตรวจหาเชื้อก่อนและกักตัว14วัน ซึ่งชาวบ้านในชุมชนเองก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน พกพาแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ล้างมืออยู่เสมอ และไม่รวมกลุ่มชุมนุมกัน ทั้งนี้ในชุมชนมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเกินกว่า 50 % แล้ว” และดิฉันได้แนะนำการดูแลสุขภาพภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ให้กับทางชุมชนไปเบื้องต้นคือการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือเว้นระยะด้วยการห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันหรือหลีกเลี่ยงการพบปะบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมไปถึงเลี่ยงการสัมผัสจุดเสี่ยง เช่น ปุ่มกดลิฟท์ บันไดเลื่อน ใบหน้าตนเอง เป็นต้น และควรรับประทานอาหารแยกหรือใช้ช้อนกลางซึ่งควรทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และเป็นอาหารที่ปรุงสุก ทั้งนี้ควรล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสะอาดใช้สบู่ถูให้ได้20วินาทีก่อนล้างน้ำออกหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างต่ำ 70% ขึ้นไปมาล้างมือ

         และในช่วงห้าเดือนแรกของการทำงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ได้มีการสรุปข้อมูลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบฟอร์ม 01 02 และ06 ในตำบลทะเมนชัย และทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลโดยเริ่มจากข้อมูลพื้นฐานของตำบลทะเมนชัย มีการแบ่งเขตการปกครอง คือเทศบาลตำบลดูแลรับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน และอบต.ดูแลรับผิดชอบ 10 หมู่บ้าน โดยมีประชากรทั้งหมด 9,030 คน ซึ่งได้มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านที่ต้องการมีรายได้เสริมโดยการนำผลผลิตจากการเกษตรคือข้าวอินทรีย์มาแปรรูปเป็นข้าวหมากและข้าวแต๋น อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนทั้งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ขึ้นมาโดยการจัดทำเป็นคู่มือและเผยแพร่สู่ระบบสารสนเทศ เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดการพัฒนาของผลิตภัณฑ์ในตำบลทะเมนชัย และเป็นการสร้างศักยภาพที่ยั่งยืนของชาวบ้านได้ในอนาคต เพราะในการวิเคราะห์ข้อมูลตลอดการลงพื้นที่ห้าเดือนที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่มีความต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งเรื่องรายได้ สุขภาพ การบริการของภาครัฐ และการศึกษาของลูกหลาน ดังนั้นการที่มีโครงการเข้ามาให้การสนับสนุนในเรื่องการสร้างอาชีพและรายได้ถือเป็นประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับ เพราะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและก่อให้เกิดทักษะ และความสามัคคีทำให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

         แผนการทำงานของทีมผู้ปฏิบัติงานในเดือนสิงหาคมคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์และโลโก้ ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ลงพื้นที่ไม่ได้จึงได้วางแผนการทำงานในรูปแบบช่องทางออนไลน์ เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่น Line และ Google Meet เรื่องการจะนำบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบกระปุกเซฟตี้มาใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าวหมาก และถุงซิปล็อคกระดาษคราฟท์มาใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น เพื่อการถนอมอาหารและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ยังมีการระดมความคิดเรื่องการออกแบบโลโก้ร่วมกันเพื่อให้เห็นเป็นจุดเด่นว่าเป็นสินค้าที่มาจากชุมชนที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดและสามารถนำออกขายสู่ตลาดได้ จนเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และดิฉันรับผิดชอบดูแลของหมู่บ้านที่เข้ารับการอบรมการทำข้าวหมากได้หาข้อมูลเรื่องบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมและได้นำเสนอไป หากมีผู้ที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวหมากเป็นของฝาก เราก็จะนำข้าวหมากที่บรรจุอยู่ในกระปุกเซฟตี้แล้วใส่ในถุงพลาสติกซิปล็อคและนำมาใส่ในชะลอมและตกแต่งด้านบนด้วยเชือกปอป่าน เพื่อความสวยงามและดึงดูดความน่าสนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ยังได้กระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนที่มีความถนัดในเรื่องของการจักสานและยังเป็นวัสดุที่ได้จากธรรมชาติซึ่งสามารถหาได้ในชุมชน

ภาพการทำงานของทีมผู้ปฏิบัติงานผ่านช่องทางออนไลน์

 

อื่นๆ

เมนู