1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS08 - ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ
  4. U2T “Covid-19 Week ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด” การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ “ข้าวแต๋น และ ข้าวหมาก” ของตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (HS08)

U2T “Covid-19 Week ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด” การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ “ข้าวแต๋น และ ข้าวหมาก” ของตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ (HS08)

โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)

ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

          ข้าพเจ้านางสาวณัฐริยา จงปลูกกลาง บัณฑิตจบใหม่ รับผิดชอบดูแลบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 บริบทโดยทั่วไปในพื้นที่ชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการเฝ้าระวังและรักษามาตรการการป้องกัน Covid 19 ในพื้นที่ของชุมชนอย่างใกล้ชิดโดยการทำงานของผู้นำชุมชน และทางด้านอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) โดยการตั้งจุดตรวจคัดกรอง ที่ศาลาประชาคมก่อนเข้าไปในพื้นที่ชุมชน โดยการวัดไข้ ตรวจเช็คให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และการฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนเข้าพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชนในชุมชน

          ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้ประชุมร่วมกับคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่วัดด่านทองประชาสามัคคี ตำบลทะเมนชัย เรื่องการประชาสัมพันธ์และรณรงค์การป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid 19 และเชิญชวนให้ประชาชนในตำบลทะเมนชัยร่วมลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน ในส่วนของการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงทะเบียนรับวัคซีนนั้นทางคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นต้องสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของการนำความรู้และประโยชน์จากการรับวัคซีนไปบอกกล่าว ให้กับประชาชนได้ทำความเข้าใจว่าหากได้รับวัคซีน Covid 19 แล้วนั้นจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ  Covid 19  หากประชาชนในชุมชนฉีดวัคซีนจำนวนมากพอก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ของชุมชน ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อ และยังสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid  19 ได้ ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายแพทย์บุญโฮม แก้วชนะ ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปลายมาศ  นายปัญญา มาจิตต์ ท่านปลัดเทศบาลตำบลทะเมนชัย และนายทองอู่ อินทรคำแหง ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทะเมนชัย ที่มาร่วมประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในตำบลทะเมนชัยให้มาร่วมกันลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนทุกคนได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

       และในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 คณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้แบ่งกลุ่มเพื่อลงพื้นที่ตามชุมชนที่แต่ละกลุ่มได้รับผิดชอบ ข้าพเจ้าได้รับผิดชอบลงพื้นที่ชุมชนบ้านทะเมนชัย 2 หมู่ 14 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ร่วมลงพื้นที่กับคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอีก 4 ท่าน รวมทั้งกับได้รับเกียรติจากท่านผู้ใหญ่บ้านทะเมนชัย 2 หมู่ 14 นายวิชัย มูลมา และอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) อีก 3 ท่านได้มาร่วมเดินรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนในชุมชนลงทะเบียนรับวัคซีน  และแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไว้สวมใส่เมื่อต้องออกจากบ้าน สเปรย์แอลกอฮอล์ และสบู่ไว้ล้างทำความสะอาดมือ แนะนำกับประชาชนในชุมชนให้กินร้อนและใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน และยืนเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตรเมื่อต้องออกไปข้างนอกหรืออยู่ในที่คนพลุกพล่านเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ Social  distancing นอกจากการไปแจกจ่ายอุปกรณ์ที่ต้องมีไว้ใช้ในช่วงสถานการณ์ Covid  19 ตามครัวเรือนแล้ว ข้าพเจ้าและทีมงานที่ร่วมกันเดินรณรงค์ยังมุ่งหน้าต่อไปยังสถานที่สำคัญของชุมชนคือ วัดอิสาณทะเมนชัย  เนื่องจากในวันนั้นมีการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาโดยมีประชาชนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาภายในวัด ดั้งนั้นคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจึงได้เข้าไปแจกจ่าย หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ และสบู่ พร้อมทั้งถวายให้แก่วัดอิสาณทะเมนชัยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ยังติดแบนเนอร์รณรงค์ “รุกคลีนพื้นที่เคลียร์เชื้อร้ายสร้างความปลอดภัยในชุมชน” ที่วัดอิสาณทะเมนชัยและศาลาประชาคมของชุมชนบ้านทะเมนชัย 2  เพื่อให้ประชาชนในชุมชนร่วมกันเฝ้าระวังและทำตามมาตรการการป้องกัน Covid  19 และตระหนักถึงความปลอดภัยของทั้งตนเองและผู้อื่น

ภาพกิจกรรมการเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงทะเบียนรับวัคซีน

           ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 คณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นลงพื้นที่จัดเตรียมสถานที่ การอบรมพัฒนาอาชีพให้แก่ตัวแทนของชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมการทำข้าวหมาก ที่จัดขึ้นที่ ศูนย์ข้าวชุมชน บ้านบุลิ้นฟ้า ตำบลทะเมนชัย ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มติในที่ประชุมลงความเห็นว่าให้ตัวแทนของชุมชนที่จะเข้าร่วมการอบรมจากเดิมชุมชนละ5ท่าน ให้ลดลงเหลือเพียงชุมชนละ2ท่าน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ Social  distancing จึงจำเป็นต้องลดจำนวนสมาชิกลงและให้ตัวแทนของชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมให้แก่สมาชิกที่ไม่ได้มาเข้าร่วม

         วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้รับเกียรติจากท่าน ผศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มาร่วมกล่าวเปิดงานการอบรมพัฒนาอาชีพการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากข้าวอินทรีย์ คือ ข้าวหมาก และได้รับเกียรติจากตัวแทนชุมชนบ้านหนองตาด 6 ท่านได้แก่

1.นางสุคนธ์   ซอยรัมย์

2.นางสำรวย  เชิญรัมย์

3.นางวิชนี     แกล้วกล้า

4.นางม้วย     เภสัชชา

5.นางลำไย   แสนพงษ์

6.นางพัชรี     เภสัชชา

ที่มาร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การทำข้าวหมากจากข้าวเหนียวหอมมะลิให้แก่ตัวแทนจากชุมชนบ้านทะเมนชัย บ้านบริหารชนบท บ้านตลาดทะเมนชัย บ้านหนองหญ้าปล้อง บ้านบุแปบ บ้านบุลิ้นฟ้า และบ้านหนองม่วงใต้ ได้เรียนรู้การทำข้าวหมากโดยสมาชิกชุมชนที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบดูแลอยู่คือชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 สมาชิกตัวแทนที่มาเข้าร่วมการอบรม คือ นางศรีวัลลา ชุบรัมย์ และนางบัวไข เซ็งรัมย์ ได้เรียนรู้ถึงหัวใจสำคัญของการทำข้าวหมากว่าคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นการล้างยางข้าวให้หมดและพักไว้ให้แห้งก่อนจะนำมาคลุกเคล้ากับแป้งหัวเชื้อข้าวหมาก อีกทั้งยังต้องใช้น้ำฝนเพื่อทำให้รสสัมผัสของข้าวหมากมีรสชาติหวาน หอม อร่อย และการเพิ่มมูลค่าของข้าวหมากโดยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป คือการนำสีจากธรรมชาติมาใส่ลงไปในตัวข้าว เช่น สีฟ้าจากดอกอัญชัญ สีเขียวจากใบเตย เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์และความรู้ที่สามารถนำกลับไปถ่ายทอดต่อให้สมาชิกในชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1ที่ไม่ได้มาเข้าร่วมหรือแม้แต่ประชาชนในชุมชนที่สนใจต้องการที่จะเรียนรู้ สามารถนำไปถ่ายทอดหรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนได้ในอนาคต

      การอบรมพัฒนาอาชีพการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากข้าวอินทรีย์ คือ ข้าวหมาก ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีตัวแทนจากชุมชนในตำบลทะเมนชัยให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก คณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทำงานร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบอย่างชัดเจนและให้ความสำคัญกับการอบรมพัฒนาอาชีพของประชาชนในตำบลทะเมนชัยอย่างถึงที่สุดเพราะต้องการที่จะผลักดันให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ไว้จุนเจือครอบครัวและถือเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชนได้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนโดยรอบ

ภาพกิจกรรมอบรมการทำข้าวหมาก

          ในวันที่ 5 มิถุนายน 2564 คณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นลงพื้นที่จัดเตรียมสถานที่ การอบรมพัฒนาอาชีพให้แก่ตัวแทนของชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมการทำ ข้าวแต๋น ที่จะจัดขึ้นที่ ศาลากลางบ้านน้อยพัฒนา หมู่ 16 ตำบลทะเมนชัย ในวันที่ 6  มิถุนายน 2564 และในวันนี้มีชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมการทำข้าวแต๋น คือ ชุมชนบ้านบุตาริด บ้านใหม่อัมพวัน บ้านหนองน้ำขุ่น บ้านทะเมนชัย 2 บ้านหนองม่วง และ บ้านน้อยพัฒนา โดยได้รับเกียรติจากท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรเดช  ประเสริฐศรี  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มาร่วมกล่าวเปิดงานการอบรมพัฒนาอาชีพการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าจากข้าวอินทรีย์ คือ ข้าวแต๋น และท่านอาจารย์ธารินี วงศ์ศิริศักดิ์ และทีมงาน มาเป็นวิทยากรร่วมบรรยายและสาธิตการทำข้าวแต๋นให้แก่ตัวแทนจากหลายชุมชน ในตำบลทะเมนชัยได้เรียนรู้

             ภาพรวมการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพการทำข้าวแต๋นทั้งตัวแทนจากชุมชนและคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้เรียนรู้การทำข้าวแต๋นไปพร้อมๆกัน ซึ่งให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างมากและทำให้เกิดภาพความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างดี  เรียนรู้ถึงความผิดพลาดจากการลองผิดลองถูกเรื่องรสชาติของข้าวแต๋น  เรียนรู้ที่จะใส่สีจากธรรมชาติลงไปในข้าวแต๋นเพื่อความสวยงาม การนำข้าวแต๋นลงไปทอดอย่างไรให้ขึ้นฟู และร่วมกันเก็บภาพบรรยากาศภายในงาน ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจและยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ดียึ่งขึ้นไปอีกทั้งยังเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของคนในชุมชนและเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ภาพกิจกรรมอบรมการทำข้าวแต๋น

            วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ข้าพเจ้ารับผิดชอบชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 กับทีมงานที่รับผิดชอบชุมชนบ้านบริหารชนบท หมู่ 6 ได้ลงพื้นที่ไปที่ศาลาประชาคมของชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 เนื่องจากการนัดหมายโดยตัวแทนสมาชิกของชุมชนที่จะสาธิตการทำข้าวหมากจากการไปเข้าร่วมการอบรมเมื่อวันที่  31 พฤษภาคม 2564 ให้แก่สมาชิกที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมอีก 3 ท่านของชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ได้แก่  1.นางฉัตรทอง สมบัติ   2.นางทองใบ สงฆรินทร์  3.นางดวงเพ็ญ ละมุล และตัวแทนจากชุมชนบ้านบริหารชนบท หมู่ 6 อีก 1 ท่านได้แก่  นางสังวาล คุชิตา สาธิตการทำข้าวหมากโดย นางศรีวัลลา ชุบรัมย์ และนางบัวไข เซ็งรัมย์ ที่ได้ไปเข้าร่วมการอบรมมาก่อนหน้านี้

            จากภาพรวมทำให้เห็นว่าตัวแทนจากชุมชนที่ไปเข้าร่วมการอบรมการทำข้าวหมากที่ผ่านมาได้เรียนรู้และเข้าใจเป็นอย่างดีจึงสามารถนำความรู้ที่ตนเองได้รับมาถ่ายทอดให้กับผู้อื่นต่อได้ และให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนโดยเริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบก่อน จนไปถึงวิธีการทำซึ่งมีดังต่อไปนี้

วัตถุดิบในการทำข้าวหมาก

1.ข้าวเหนียวหอมมะลิ 2 กก.  2.น้ำฝน  3.แป้งข้าวหมาก 1 เม็ด  4.ใบเตย

วิธีการทำ  

นึ่งข้าวเหนียวหอมมะลิ 2 กก. หลังจากนึ่งเสร็จพักไว้ให้เย็นและใช้น้ำฝนมาซาวข้าวหรือล้างข้าวเพื่อให้ยางข้าวออกจนหมด หลังจากนั้นให้แยกข้าวออกจากน้ำซาวข้าวใส่ภาชนะใหม่ พักไว้จนข้าวแห้ง ต่อมานำแป้งข้าวหมาก 1 เม็ด (ในกรณีนี้ทำข้าวหมาก 2 กิโลกรัม จะใช้แป้งข้าวหมากเพียง 1 เม็ด) หลังจากนั้นนำแป้งข้าวหมากมาบดและโรยใส่ข้าวที่แยกออกจากน้ำซาวข้าวพักไว้จนแห้งแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน และตัดใบเตยขนาดเล็กเตรียมไว้ใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ใส่ข้าวหมาก เมื่อคลุกเคล้าได้ที่แล้วตักข้าวหมากใส่ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อย จะสามารถทานได้ในระยะเวลา 2-3วันหลังจากที่ทำโดยประมาณ จึงจะได้รสชาติที่หอมหวานของข้าวหมากจากข้าวเหนียวหอมมะลิ

ภาพกิจกรรมย่อยการทำข้าวหมากของ บ้านทะเมนชัย และ บ้านบริหารชนบท

 

“สุดท้ายนี้ข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาอาชีพของชุมชนในตำบลทะเมนชัย จากภาพรวมประชาชนในตำบลส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาอาชีพที่ทางคณะทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้นำมาให้ประชาชนในตำบลทะเมนชัย ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ดังนั้นการที่ชุมชนจะนำไปพัฒนาหรือต่อยอดนั้นเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อตัวชุมชนเอง ข้าพเจ้าหวังเพียงว่าจะเห็นชุมชนในตำบลทะเมนชัยได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ข้าวหมากและข้าวแต๋น ต่อไปในอนาคตอันใกล้เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน เพื่อที่จะต่อยอดทางการค้าและการตลาดให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ทางทีมงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจะเป็นกำลังแรงหลักให้กับทางชุมชนตำบลทะเมนชัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สืบไป”

วิดีโอประกอบ

อื่นๆ

เมนู