การฝึกอบรม การออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ของตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ 

         ชาวบ้านในตำบลทะเมนชัยนั้นให้ความร่วมมือกับทางทีมผู้ปฏิบัติงาน และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่เข้าไปให้ความรู้ในการฝึกอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งให้ความสนใจและต้องการที่จะพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพของตนเองในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์เป็นข้าวหมาก และข้าวแต๋น โดยเป็นผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนคือข้าวอินทรีย์จึงเป็นการนำทรัพยากรในชุมชน และภูมิปัญญาของชาวบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านในชุมชน ทีมผู้ปฏิบัติงานและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ในเรื่องการชูรสชาติ ชูวัตถุดิบ ของผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น เรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาตลาด เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตำบลทะเมนชัยให้อยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ภาพรวมของการฝึกอบรม การออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ตำบลทะเมนชัย

​         บ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ตำบลทะเมนชัย ได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์เป็นข้าวหมากสำหรับการเข้ารับการฝึกอบรมโดยตัวแทนชาวบ้าน 5 ท่าน คือ

1.นางฉัตรทอง     ​สมบัติ

​2.นางทองใบ      ​สงฆรินทร์

​3.นางดวงเพ็ญ    ​ละมุล

4.นางศรีวัลลา     ​ชุบรัมย์

5.นางบัวไข        ​เซ็งรัมย์

         ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้นให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการเข้ารับการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์เป็นข้าวหมาก เนื่องจากต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองในการทำผลิตภัณฑ์และมีความชอบรับประทานโดยส่วนตัว จึงให้ความสำคัญกับการเข้ารับการฝึกอบรมโดยผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากท่านผู้ใหญ่บ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ท่านประสิทธิ์ สงฆรินทร์ ที่คอยติดต่อประสานงานให้กับทางทีมงานได้รับทราบถึงเรื่องการดำเนินงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่  1 โดยตัวแทนชาวบ้านทั้ง 5 ท่าน ได้ทำข้าวหมากร่วมกันอีกครั้งหลังการเข้ารับการฝึกอบรมจากท่านวิทยากร และนำเอาความรู้ที่ตนได้รับมาจากการฝึกอบรมนำไปถ่ายทอดต่อให้กับ อสม.ของหมู่บ้านได้ทำข้าวหมากร่วมกัน ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เห็นถึงความเสียสละ และความสามัคคีของคนในชุมชน

 ปัญหาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์

  • ปัญหาก่อนการดำเนินกิจกรรม เนื่องจากช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวหมากและข้าวแต๋น อยู่ในช่วงสถานการณ์ Covid 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ทำให้ต้องมีการเลื่อนการฝึกอบรมออกไปก่อนจึงทำให้เกิดความล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานที่ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้วางแผนเอาไว้จากกำหนดการเดิมคือต้นเดือน พฤษภาคม ได้มีการเลื่อนออกไปฝึกอบรมในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จนถึงต้นเดือน มิถุนายน และต้องทำตามมาตรการทางสาธารณสุข คือการเว้นระยะห่างทางสังคมในการเข้ารับการฝึกอบรม
  • แนวทางแก้ไขปัญหา คือจำกัดตัวแทนชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้านให้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากเดิมหมู่บ้านละ5-6ท่าน เหลือเพียงหมู่บ้านละ 2 ท่าน โดยให้ตัวแทนชาวบ้านที่มาเข้ารับการฝึกอบรมนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดโดยวิทยากรกระบวนการ หรือตัวแทนชาวบ้านจากบ้านหนองตาด และท่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ นำไปถ่ายทอดต่อให้แก่ตัวแทนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขและเพื่อความปลอดภัยของตัวชาวบ้านเอง
  • ปัญหาระหว่างการดำเนินกิจกรรม มีบางหมู่บ้านที่ตัวแทนชาวบ้านไม่ได้มาเข้าร่วมรับการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และเวลาที่มีอย่างจำกัดในการฝึกอบรมเพราะเนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์ Covid 19นอกจากต้องเว้นระยะห่างแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมอย่างจำกัดจึงทำให้วิทยากรต้องบรรยายและสาธิตวิธีการทำผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้การฝึกอบรมดำเนินไปอย่างเร่งรีบ จึงทำให้ตัวแทนชาวบ้านที่เข้ารับการฝึกอบรมอาจได้รับข้อมูลไม่ถี่ถ้วน
  • แนวทางแก้ไขปัญหา สำหรับบางหมู่บ้านที่ไม่ได้มาเข้าร่วมรับการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ ซึ่งได้ความเห็นว่าจะให้หมู่บ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมเป็นหมู่บ้านในเครือข่าย โดยหากมีความสนใจจะให้ตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นที่ได้รับการฝึกอบรมและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ จะให้เป็นผู้ไปถ่ายทอดความรู้วิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กับหมู่บ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมและเกิดความสนใจต้องการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ทางทีมผู้ปฏิบัติงานยินดีจะเข้าไปช่วยเหลือให้การสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งหากผู้ที่ไปเข้ารับการฝึกอบรมทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้เล็งเห็นว่า เนื่องจากในเวลาที่มีอย่างจำกัดจึงได้จัดทำข้อมูล วัตถุดิบ และวิธีการทำของผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นลงไปในใบปลิวให้กับผู้ที่มาเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้นำกลับไปฝึกฝนต่อด้วยตนเองที่บ้าน และนำกลับไปฝึกฝนร่วมกับตัวแทนหมู่บ้านที่ไม่ได้มาเข้าร่วมการฝึกอบรม
  • ปัญหาหลังจากการดำเนินงานกิจกรรม หมู่บ้านที่ดิฉันได้ทำการรับผิดชอบ คือ บ้านทะเมนชัย หมู่ 1 หลังจากการเข้ารับการฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ คือข้าวหมาก จากที่ตัวแทนชาวบ้านได้เลือกการแปรรูปผลิตภัณฑ์ตัวนี้ ตัวแทนชาวบ้านยังไม่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากเพื่อต่อยอดมาเป็นอาชีพของคนในชุมชน เพราะผู้ที่ได้รับการเข้าฝึกอบรมแล้วมีความชำนาญในการทำข้าวหมาก มีอาชีพคือการทอผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของตนเองอยู่แล้ว จึงยังคงหาเวลาว่างในการที่จะพัฒนาต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมากไม่ได้
  • แนวทางแก้ไขปัญหา ทางทีมงานได้วางแผนธุรกิจหรือแผนการตลาดขึ้นมาร่วมกับชุมชนที่ได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋น ดังนั้นดิฉันเลยเข้าไปบอกกล่าวถึงแผนธุรกิจตรงนี้ให้กับตัวแทนสามาชิกทั้ง 5 ท่านที่เป็นตัวแทนหมู่บ้านทะเมนชัย หมู่ 1 ที่ดิฉันได้รับผิดชอบอยู่ ได้รับฟังถึงกระบวนการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดโดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และวางแผนการตลาดเรื่องการโฆษณา การหาออเดอร์ให้กับทางชุมชนและการกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรให้กับผลิตภัณฑ์ในอนาคต เนื่องจากเป็นโครงการที่ทางทีมงานต้องรับผิดชอบดูแลช่วยเหลือและคอยส่งเสริมทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ดังนั้นดิฉันจึงได้ชี้แจงไปเพิ่มเติมว่าหากทางหมู่บ้านต้องการที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางทีมงานจะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งดิฉันได้รับคำตอบจากตัวแทนของหมู่บ้านมาว่าจะพัฒนาโดยเริ่มจากการฝึกฝนปรับสูตรข้าวหมากให้คงที่และจะสร้างความโดดเด่นในแบบของตนเอง เพื่อการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถจัดจำหน่ายได้ในอนาคต

การพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแนวทางยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์

​          สำหรับตำบลทะเมนชัยนั้นสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อเป็นการพัฒนาผลิตภัณณฑ์ของชุมชนได้ในอนาคต เนื่องจากการวางแผนโดยได้รับคำแนะนำจากวิทยากรที่มีประสบการณ์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้แผนธุรกิจเพื่อต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นรวมไปถึงการขอมาตรฐาน มผช ให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นและข้าวหมากเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์และชุมชน อีกทั้งยังก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านที่มีจิตอาสาและความชำนาญในการทำผลิตภัณฑ์ข้าวหมากและข้าวแต๋นขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่สนใจต้องการเรียนรู้หาประสบการณ์ทำข้าวหมากและข้าวแต๋น โดยผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรกระบวนการ หรือตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนตำบลทะเมนชัย และเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าในอนาคต

         ในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ทางคณะทีมงานได้เชิญคุณครูอี๊ด ภัทรนิษฐ์ กุลพิเชษฐ์วณิช กรรมการผู้จัดการบริษัทบ้านเธอเอง กรุ๊ปส์ จำกัด มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้การทำโลชั่นและสเปรย์กันยุง ที่ศาลาประชาคมบ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลทะเมนชัย โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ตัวแทนชาวบ้าน ได้นำสูตรมาปรับใช้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ชาวบ้านสามารถจัดหาได้ด้วยตนเอง เช่น ใบกะเพรา ตะไคร้ เป็นต้น และมีวิธีการทำที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง อีกทั้งหากตัวแทนชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากวิทยากรก็สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนได้ เพราะสามารถนำไปใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

สเปรย์กันยุง

รายการ                                           

1.แอลกอฮอล์ 95% เท่านั้น     1.00       ปอนด์

2.น้ำมันตะไคร้                       1.00       ออนซ์

3.การบูร                                100.00    กรัม

วิธีทำ

1.นำ1+3 เขย่าให้เข้ากัน

2.เติม2ให้เข้ากัน บรรจุภาชนะ

 

 

 

 

โลชั่นกันยุง

รายการ                                             

1.แอลกอฮอล์          1,000.00   มิลลิลิตร

2.น้ำมันตะไคร้          50.00       มิลลิลิตร 

3.โพรไพลีนไกลคอล 200          มิลลิลิตร

4.น้ำแร่                    200          มิลลิลิตร

5.การบูร                   50             กรัม 

วิธีทำ

1.นำ1+5เขย่าให้เข้ากัน

2.เติมน้ำมัน 2,3 และ 4 คนให้เข้ากัน บรรจุภาชนะ

 

 

 

 

ภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ

อื่นๆ

เมนู