ข้าพเจ้านางสาวณัฐริยา จงปลูกกลาง ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ทำการเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์ม ๐๑ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย ณ บ้านทะเมนชัย ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๓ : ๐๐ – ๑๗ : ๐๐ น.
บริบทภาพรวมจากการที่ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ทำการเก็บข้อมูล ชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่๑ ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอลำปลายมาศ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๒๐ ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ล้อมรอบพื้นที่นา และพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ จำนวนครัวเรือนตามทะเบียนราษฎร ๑๙๒ ครัวเรือน อาศัยอยู่จริง ๑๖๐ ครัวเรือน จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร ๗๑๕ ครัวเรือน อาศัยอยู่จริง ๖๘๐ ครัวเรือน แยกเป็นชาย ๓๖๑ คน หญิง ๒๕๔ คน คนทุพพลภาพ จำนวน ๔๗ คน สถาบันทางสังคมหรือสถานที่ทางศาสนาของคนในชุมชน คือ วัดอิสาณทะเมนชัย
ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่ยังคงประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ การทอผ้าหรือการทอผ้าไหมซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ดั้งเดิมและสืบทอดกันมาหลายรุ่น อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่๑ คือ การเคารพนับถือศาลเสาหลักเมืองที่อยู่กลางหมู่บ้าน และรวมไปถึง ศาลตาปู่ ที่ถือว่าเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก
สภาพปัญหาภายในชุมชนส่วนใหญ่ เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนทำอาชีพเกษตรกร ดังนั้นจึงมีรายได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง และเป็นรายได้หลักของครัวเรือนซึ่งหลังจากที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตชาวบ้านก็เข้าสู่สภาวะการว่างงาน ทำให้ชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาการใช้จ่ายในครัวเรือนที่ไม่เพียงพอ เมื่อชาวบ้านประสบปัญหากับรายได้ จึงต้องหันไปกู้ยืมเงินและต่อมาทำให้เกิดภาวะหนี้สินในครัวเรือน ซึ่งหากในปีถัดไปผลผลิตจากการทำการเกษตรราคาตกก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านประสบกับปัญหารายจ่ายในครัวเรือน รวมไปถึงการจ่ายหนี้สินที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคตและสิ่งที่จะตามมาคือชาวบ้านอาจเกิดภาวะเครียด ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เสียสุขภาพจิต
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะของข้าพเจ้า คือ ต้องการให้มีโครงการช่วยเหลือชาวบ้านที่ว่างงานจากการทำการเกษตรโดยเริ่มจากมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกอาชีพให้กับชาวบ้าน มองหาจุดเด่นในชุมชนอย่างในกรณีนี้ข้าพเจ้ามองว่าจุดเด่นในชุมชนบ้านทะเมนชัย หมู่๑ คือการทอผ้า หากได้รับการสนับสนุนข้าพเจ้าคิดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี อาศัยเพียงความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชนเริ่มจากผู้ที่ทอผ้าเป็นสอนงานให้แก่ผู้ที่สนใจเพื่อสร้างอาชีพ มีการรวมตัวกันเพื่อมาเรียนรู้และให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่สามารถมาให้ความรู้กับคนในชุมชนได้ เช่น การเรียนรู้ลายผ้าใหม่ๆการออกแบบแพคเกจจิ้งบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่เพื่อให้มีความทันสมัยเหมาะกับคนยุคใหม่แต่ก็ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ และถือเป็นสิ่งที่สามารถสืบทอดวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของชุมชนได้เป็นอย่างดี