โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้แก่ประเทศ)

        ข้าพเจ้า  นางสาวอรนรี สมร่าง  ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ปฏิบัติงานพื้นที่ ตำบลพระครู อำเภอเมือง   จังหวัดบุรีรัมย์  

               ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่เก็บข้อมูล CBD ในชุมชนตำบลพระครู โดยรับผิดชอบเก็บข้อมูลจำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่2 บ้านโบย หมู่9 บ้านหนองมะค่าแต้ และหมู่10 บ้านแก่นเจริญ ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมีแบบสำรวจที่ต้องเก็บทั้งหมด 10 หัวข้อ ได้แก่

  1.  ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด
  2.  แหล่งท่องเที่ยว
  3.  ที่พักโรงแรม
  4.  ร้านอาหารในท้องถิ่น
  5.  อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น
  6.  เกษตรกรในท้องถิ่น
  7.  พืชในท้องถิ่น
  8.  สัตว์ในท้องถิ่น
  9.  ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  10.  แหล่งน้ำในท้องถิ่น

          จากการที่ได้ลงพื้นที่เก็บแบบสำรวจข้อมูลตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ตำบลพระครู ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้านที่ให้ข้อมูลและรายละเอียดการอยู่อาศัย แต่ด้วยสถานการณ์ covid มีความระมัดระวังในการเข้าสอบถามข้อมูลตามมาตราการการป้องกันcovid-19 จึงต้องมีการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564  ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ zoom  ในหัวข้อ Quadruple Helix : จตุรภาคสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยท่าน รองศาสตราจารย์ มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้เป็นเกียรติมาเป็นประธานเปิดโครงการเสวนา และผู้ดำเนินการเสวนา นายชมพู อิสรยาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์ คณะมนุษยศาสตร์  วิทยากรผู้ร่วมเสวนา ทั้งหมด 5ท่านที่ได้ ร่วมถ่ายทอดการเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้ง 4 ภาคส่วนมาพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ, เอกชน/ชุมชน/สังคม, มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อเลือกรับ พัฒนาต่อยอด และปรับใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของไทย 

วันที่ 30 ตุลาคม 2564  เข้าร่วมอบรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมมัดหมี่  ณ วัดหนองมะค่าแต้ ตำบลพระครู อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นำโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ ยุพาวดี อาจหาญ, อาจารย์ ทิพวิลย์ เหมรา ผู้ดำเนินกิจกรรม ร่วมด้วยรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ อาจารย์ ชมพู อิสริยาวัฒน์ การร่วมอบรมฟังการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “การทำการตลาดออนไลน์” ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณ ปัณณทัต สระอุบล วิทยากรด้านการตลาดออนไลน์ได้มาให้ความรู้คำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานและคนในชุมชน ตำบลพระครู การทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อติดต่อกับผู้บริโภค โดยนำหลักการตลาดเดิมในอดีตมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้พัฒนาวิธีการส่งเสริมสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ  ใช้กลยุทธ์การตลาด 4Ps ซึ่งเป็นหัวใจของวงจรธุรกิจมาไว้ด้วยกัน 4 ข้อ  โดยแบ่งการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักๆคือ

  1. Product (ผลิตภัณฑ์) สินค้าบริการที่ธุรกิจสร้างขึ้นเพื่อตอบความต้องการหรือที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภค ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมและชัดเจน ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายเขาต้องการอะไรบ้างให้ใส่ใจในรายละเอียดนั้น สินค้าหรือการบริการที่มีแตกต่างอย่างไรทำให้ลูกค้าเกิดความสะดุดตาสะดุดใจในรูปลักษณ์ รวมถึงการใช้งาน ความทนทาน และความปลอดภัย ตลอดจนการสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของเรา และมีการบอกกันปากต่อปาก เป็นต้น
  2. Price (ราคา) ราคาหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องจ่ายเพื่อแลกกับการได้สินค้าและบริการ อาจจะไม่ใช่เพียงแค่เงินเท่านั้นอาจรวมถึงเวลาหรือการกระทำบางอย่าง ดังนั้นการตั้งราคาจึงต้องให้เหมาะสม  คำนวณเรื่องราคาต้นทุนกับกำไรว่า มีความคุ้มค่า มีกำไรมากน้อยเพียงไร
  3. Place (ช่องทางจัดจำหน่าย) ช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) เราต้องหาข้อมูลและวิเคราะห์ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าและบริการของเรา มีแนวโน้มว่าจะไปสถานที่ไหน หรือมีแนวโน้มที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ช่องทางไหน เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าควรจะจำหน่ายสินค้าช่องทางใดและที่ไหน เพื่อให้ตอบโจทย์และสามารถที่จะนำเสนอสินค้าได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
  4.  Promotion (การส่งเสริมการขาย) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะทำให้ยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นได้ รูปแบบธุรกิจแต่ละธุรกิจอาจจะแตกต่างกัน ทำให้มีลักษณะของการโปรโมทสินค้าที่แตกต่างกันด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วสินค้าและบริการล้วนแล้วมักจะออก Promotion ต่างๆ มาเป็นครั้งคราว เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย หลักการสร้าง Promotion ที่ดี คือ การทำให้ลูกค้ามองเห็นถึงความคุ้มค่าจะเกิดการซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ โดยที่ไม่ได้ลดถอนคุณภาพหรือคุณค่าในตัวแบรนด์หรือสินค้า/บริการของเราลงไป บางครั้งการลดแหลกแจกแถมที่มากเกินไปจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคลางแคลงสงสัยในตัวสินค้าและบริการ มากกว่าที่จะสนใจอยากจะซื้อ

        ในช่วงท้ายของกิจกรรม คุณ กฤษกร แก้วโบราณ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดขอนแก่น ได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาที่ได้พบในขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ และได้ทำการมอบเส้นไหมและสีย้อมผ้าให้กับกลุ่มแม่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้านเพื่อนำต่อยอดสินค้าเพื่อทำผ้าคลุมไหล่ และนำไปพัฒนาประยุกต์ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่หลากหลายในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ลายเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

อื่นๆ

เมนู