ข้าพเจ้า นางสาวกฤษณา ความรัมย์ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลพระครู อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร : HS09 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานพร้อมอาจารย์ประจำหลักสูตร เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมไหล่ไหมมัดหมี่ลายอัตลักษณ์ ณ บ้านหนองมะค่าแต้ หมู่ 9 ตำบลพระครู อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับเกียรติจาก คุณกฤษกร แก้วโบราณ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดขอนแก่น วิทยากรประจำการอบรมผ้าไหมมัดหมี่อัตลักษณ์ชุมชนตำบลพระครู เป็นผู้ออกแบบลายผ้าคลุมไหล่ ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีหมู่บ้านที่เข้าร่วม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 9 บ้านหนองมะค่าแต้ หมู่ 7 บ้านหนองขวางน้อย และหมู่ 13 บ้านชุมทองพัฒนา
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานพร้อมอาจารย์ประจำหลักสูตร ลงพื้นที่ ณ บ้านหนองมะค่าแต้ หมู่ 9 ตำบลพระครู อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ย้อมสีเส้นไหมมัดหมี่ โดยใช้สีจากธรรมชาติ ได้รับเกียรติจาก คุณกฤษกร แก้วโบราณ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรประจำการอบรมผ้าไหมมัดหมี่อัตลักษณ์ชุมชนตำบลพระครู ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีหมู่บ้านที่เข้าร่วม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองขวาง หมู่7 บ้านหนองมะค่าแต้ หมู่9 และบ้านชุมทองพัฒนา หมู่13
การย้อมสีธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ผล ลำต้น แก่น ดอกไม้และรากไม้ ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการเตรียมน้ำย้อมสีและวิธีการย้อมสีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและส่วนที่นำมาใช้ในการย้อมสี แต่ละหมู่บ้านจะใช้วัสดุที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น
บ้านหนองขวางน้อย วัสดุที่ใช้ในการย้อมสี ได้แก่ เปลือกต้นสมอ และใบยูคาลิปตัส
บ้านหนองมะค่าแต้ วัสดุที่ใช้ในการย้อมสี ได้แก่ ต้นกล้วยสับ
บ้านชุมทองพัฒนา วัสดุที่ใช้ในการย้อมสี ได้แก่ แก่นขนุน และเปลือกประดู่
สารที่ช่วยทำให้สีติดทนนานมากยิ่งขึ้น ได้แก่
- เกลือเคมี
- สารส้ม
- จุนสี (คอปเปอร์ซัลเฟต)
- โคลน
ขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติ
1. นำเส้นไหมไปแช่ในน้ำ 1-2 นาที แล้วนำมาบิดให้หมาด และกระตุก
2. นำเส้นไหมไปแช่ในน้ำที่ผสมเกลือเคมี 2ช้อนโต๊ะ คนให้ละลาย เกลือเคมีจะช่วยให้สีติดทนนาน จะใช้เวลาในการย้อมเย็น 20 นาที ในระหว่างการย้อมเย็น ต้องนวดเส้นไหมเพื่อให้สีซึมติดไหมได้ง่าย
3. ตั้งหม้อต้มน้ำสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ รอให้น้ำร้อน จากนั้นใส่ไหมลงในหม้อ จับเวลาต้มต่อประมาณ 1ชั่วโมง ยกไหมนวดทุกๆ 5นาที จะทำให้ไหมไม่ด่างและสีที่ได้จะสม่ำเสมอ
4.เมื่อครบเวลาแล้วนำไหมขึ้นมาบิดให้หมาด แล้วนำไปล้างน้ำสะอาด 3-6 ครั้งหรือจนกว่าน้ำจะใส
ในกรณีที่อยากได้สีที่เข้มขึ้น สามารถเอาไหมที่ต้มเสร็จแล้วมาแช่น้ำโคลน จะทำให้ได้สีที่เข้มขึ้น แล้วนำไหมไปล้างน้ำสะอาดจนกว่าน้ำจะใส
5.เมื่อล้างน้ำเสร็จ ให้บิดหมาดๆ และกระตุก 2-3 ครั้ง ให้เส้นไหมเรียงตัว จากนั้นให้นำไปผึ่งในที่ร่ม เพื่อให้เส้นไหมแห้ง
การย้อมซ้ำ ถ้าสีที่ย้อมเสร็จแล้วยังได้สีที่จางหรือมีรอยด่างเนื่องจากสีติดไม่เสมอกัน สามารถแก้ไขได้โดยนำไปย้อมซ้ำสีเดิม ก็จะได้สีที่เข้มและมีความคงทนมากขึ้น หรือจะเปลี่ยนเป็นสีอื่นย้อมทับกันก็ได้จะให้สีใหม่ที่แปลกตา ซึ่งการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงามในแต่ละสีนั้น บางครั้งจะต้องผ่านการทดลองย้อมนับครั้งไม่ถ้วน และผู้ย้อมต้องเป็นคนช่างสังเกต ควรจดบันทึกข้อมูล และเก็บตัวอย่างการย้อมไว้ทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในครั้งต่อไป เมื่อได้ผ้าที่ย้อมสีตามความต้องการแล้วสามารถนำไปทดสอบหาความทนต่อแสงอย่างง่ายๆ ด้วยการตัดตัวอย่างผ้าชิ้นเล็กๆ นำวัสดุทึบแสงมาปิดผ้าตัวอย่างครึ่งหนึ่งแล้วนำไปวางแตกแดด 7 วัน นำผ้าที่โดนแสงมาเปรียบเทียบกับผ้าที่ไม่โดนแสง ถ้าผ้าที่โดนแดดสีซีดน้อยมากหรือแทบสังเกตไม่ออก แสดงว่า สีที่ได้จากต้นไม้ชนิดนี้และวิธีการย้อมใช้ได้ แต่ถ้าสีซีดมากแสดงว่า ต้นไม้หรือวิธีการย้อมไม่เหมาะสม ต้องทดลองและปรับปรุงให้มีคุณภาพตามความต้องการต่อไป
ภาพกิจกรรม