ข้าพเจ้า นางสาวสุจิตรา แสงวาโท ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลพระครู อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร : HS09 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
ประจำเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2564
การอบรมเชิงปฏิบัติการในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคมลงพื้นที่อบรมเชิงปฎิบัติการ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นการอบรมเรื่องลายผ้าไหมลายอัตลักษณ์ที่ย้อมจากสีธรรมชาติ โดยมีคุณกฤษกร แก้วโบราณ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ออกแบบลายผ้าไหมลายอัตลักษณ์ ให้กับกลุ่มทอผ้าทั้ง 3 หมู่บ้าน และการออกแบบลายในครั้งนี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายและน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
การอบรมครั้งที่ 2 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการย้อมไหมจากสีธรรมชาติโดยให้กลุ่มทอผ้าทั้ง 3 หมู่บ้านเตรียมน้ำต้มสีธรรมชาติไว้ ตามสีของลายผ้าอัตลักษณ์ที่ได้ออกแบบไว้ ดังนี้ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองขวาง เตรียมน้ำต้มจากเปลือกสมอและใบยูคาลิปตัส บ้านหนองมะค่าแต้เตรียมน้ำต้มจากต้นกล้วย และบ้านชุมทองพัฒนาจะเตรียมน้ำต้มจากแก่นขนุนและเปลือกประดู่ เพื่อใช้ในการย้อมสีธรรมชาติในครั้งนี้
การย้อมสีธรรมชาติ
การย้อมสีธรรมชาติส่วนใหญ่ได้มาจากส่วนต่างๆของพืช เช่น เปลือก ใบ ผล ลำต้น ดอก ราก ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการเตรียมน้ำย้อมสีและวิธีการย้อมสีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและส่วนที่นำมาใช้ในการย้อมสี บ้านชุมทองพัฒนาจะใช้ในส่วนของแก่นขนุนซึ่งจะให้สีเหลือง และจากเปลือกประดู่จะให้สีแดง บ้านหนองขวางจะใช้ใบยูคาลิปตัสและเปลือกสมอ บ้านหนองมะค่าแต้จะใช้ ต้นกล้วย โดยมาสับเป็นชิ้นเล็กๆจากนั้นนำไปต้ม ซึ่งการต้มยิ่งใช้เวลาต้มนานสีที่ได้ก็จะเข้มขึ้น
วัสดุและอุปกรณ์
- น้ำต้มเปลือกประดู่
- น้ำต้มแก่นขนุน
- น้ำต้มต้นกล้วย
- น้ำต้มเปลือกสมอ
- น้ำต้มใบยูคาลิปตัส
- เกลือเคมี
- คอปเปอร์ซัลเฟต
- สารส้ม
- น้ำโคลน
วิธีการย้อมสีธรรมชาติ
การย้อมสีธรรมชาติจะเริ่มจากการย้อมเย็น โดยการนำน้ำต้มจากสีธรรมชาติ ใช้ในปริมาณ 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 5 ลิตร มาเตรียมไว้ในกะละมังหรือหม้อ
จากนั้น ใส่เกลือเคมี 2 ช้อนโต๊ะคนให้ละลาย และนำไหมที่เตรียมไว้มาย้อมเย็น ใช้เวลาย้อมเย็น 20 นาที ในการย้อมเย็นจะต้องนวดเส้นไหม เพื่อให้สีธรรมชาติซึมเข้าเส้นไหมได้ดียิ่งขึ้น หากอยากได้สีที่เข้มขึ้นจะใช้เวลาในการย้อมเย็นนานขึ้นเพื่อให้ได้สีที่เข้มตามต้องการ
เมื่อครบ 20 นาทีแล้วนำไหมมาย้อมร้อน 1 ชั่วโมงสำหรับสีแก่นขนุนและเปลือกประดู่จะใส่สารส้มเพื่อช่วยให้สีติดไหมได้ง่ายขึ้น สีน้ำต้มต้นกล้วย น้ำต้มเปลือกสมอ น้ำต้มใบยูคาลิปตัส จะใส่คอปเปอร์ซัลเฟต เพื่อให้สีติดไหมได้ยิ่งขึ้น
รอให้น้ำเดือดแล้วจับเวลา หมั่นยกไหมขึ้นนวดทุก 5 นาที จะทำให้สีซึมเข้าเส้นไหมได้เสม่ำเสมอไหมไม่ด่าง เมื่อต้มนานไปแล้วน้ำเหือดให้เติมน้ำเพิ่มและเติมสารช่วยติดเพิ่ม เมื่อต้มครบ 1 ชั่วโมง
สำหรับบ้านหนองขวางและบ้านหนองมะค่าแต้จะนำไหมที่ต้มเสร็จแล้วมาแช่โคลนต่ออีก เพื่อที่จะให้ได้สีที่เข้มขึ้น
นำไหมไปล้างน้ำสะอาด จนน้ำไม่มีสีหรือสีที่ย้อมจางลงแล้ว
บิดหมาดๆแล้วนำไปไส่ราว และกระตุกไหม 2-3 ครั้ง ให้ไหมเรียงเส้น เมื่อแห้งแล้วทำเป็นไจไว้ เพื่อนำไปค้นหมี่สำหรับมัดลายหมี่ต่อไป
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้มีวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญ คุณกฤษกร แก้วโบราณ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ฝึกอบรมการย้อมสีธรรมชาติในครั้งนี้ ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีหมู่บ้านเข้าร่วม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 7 บ้านหนองขวางน้อย หมู่ 9 บ้านหนองมะค่าแต้ และหมู่ 13 บ้านชุมทองพัฒนา ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี