ข้าพเจ้า นางสาวกนกพรรณ  เทียนขาว กลุ่ม บัณฑิตจบใหม่ ตำบลพระครู อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์หลักสูตร : HS09 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเพื่อรักษาภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ภายใต้โครงการ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ( 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ) โดยคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อำเภอเมืองจังหวัดบุรีรัมย์

การอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ลายอัตลักษณ์โดยได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร คุณกฤษกร  แก้วโบราณ ได้ทำการบรรยายให้ความรู้โดยสืบเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อครั้งก่อนท่านได้รับโจทย์จากชาวบ้าน ในการให้คิดออกแบบลายผ้าเพื่อให้เป็น เอกลักษณ์อัตลักษณ์ประจำชุมชน โดยมีกลุ่มแม่ๆชาวบ้านผู้มีความรู้ด้านผ้าไหมเข้าร่วมกิจกรรม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองขวางน้อย  บ้านชุมทองพัฒนา  และบ้านหนองมะค่าแต้ โดยช่วงแรกท่านวิทยากรได้อธิบายเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้าไหม โดยการอธิบายถึงแรงบันดาลใจที่ชาวบ้านได้บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชุมชนที่ตนอยู่อาศัย ให้ออกมาเป็นลวดลายผ้าไหมเอกลักษณ์อัตลักษณ์ประจำชุมชนของตนเอง ดังนี้

บ้านหนองขวางน้อย ( ชื่อลายผ้า : นาคล้อมตะวัน )

 

แรงบันดาลใจ มี 4 ส่วน คือ

  1. พลังความปรองดองกลมเกลียวสามัคคีของชาวบ้านหนองขวางน้อย
  2. รูปลักษณ์ความสวยงามแสงสว่างของดวงอาทิตย์ บริเวณพื้นที่หนองขวางน้อยแต่เดิมเป็นสระที่มีแนวยาวขวางพระอาทิตย์
  3. รูปลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ความอุดมสมบูรณ์มีหนองน้ำ เกษตรกรรม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
  4. รูปลักษณ์การให้สีแสงและความหมายดังนี้ สีเหลืองเปรียบเหมือนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ สีแดงเปรียบดั่งความเป็นพี่น้องที่รักใคร่ในชุมชนสายเลือดเดียวกัน สีเม็ดมะขามเหมือนความขยันความมุมานะและอดทน สีเขียวคือความอุดมสมบูรณ์แหล่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในชุมชน และสีเทาเปรียบเหมือนความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนในชุมชน

บ้านชุมทองพัฒนา ( ชื่อลายผ้า : ชุมทองระย้า )

 

แรงบันดาลใจ มี 3 ส่วน คือ

  1. พลังความรักและความสามัคคีในการรวบรวมก่อตั้งหมู่บ้าน โดยแยกมาจากบ้านหนองม่วงเหนือ โคกยายทอง วัดป่าชุมทอง ตั้งหมู่บ้านด้วยตนเองและมีเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ที่โดดเด่นภูมิใจในภาษาถิ่นของชุมชน คือ ภาษาเขมร
  2. รูปลักษณ์และความงามของชาติพันธุ์พี่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ตำบลพระครู มีประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ
  3. รูปลักษณ์การให้สีโดยให้ความหมายไว้ดังนี้ ข้าวมันปูคือสีของความเคร่งครัดด้านชาติพันธุ์ของชุมชน สีเหลืองคือสีของความเชื่อในการสืบทอดภูมิปัญญาประเพณีทางด้านพิธีกรรมศาสนา สีแดงคือความอันเป็นหนึ่งเดียวกันความสามัคคีของคนในชุมชน สีเม็ดมะขามคือความขยันความมุ่งมานะของคนในชุมชนและสีเขียว เปรียบเหมือนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ แหล่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมชุมชน

บ้านหนองมะค่าแต้ ( ชื่อลายผ้า : ช่อดอกแต้ )

 

แรงบันดาลใจ มี 4 ส่วน คือ

  1. พลังความรักความสามัคคีของปู่ย่าตายายที่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี การใช้ภาษาถิ่นคือภาษาไทลาว
  2. รูปลักษณ์และความงามของต้นมะค่าแต้ๆที่พบในพื้นที่ก่อนตั้งถิ่นฐาน
  3. รูปลักษณ์ภูมิศาสตร์ที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยพื้นที่ที่ทำมาหากินเรียกว่าหนอง เป็นแหล่งน้ำทำมาหากิน และใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
  4. รูปลักษณ์การให้สีให้ความหมายไว้ดังนี้ สีเหลืองคือสีของดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่คนในชุมชนมีอาชีพและมีรายได้จากการปลูกดาวเรืองสื่อถึงความรุ่งโรจน์ รุ่งเรือง สีแดงเลือดสื่อถึงความอดทนความขยันในการประกอบอาชีพเป็นจุดเด่นของชุมชน สีเม็ดมะขามให้ความรู้สึกถึงความสำเร็จความสมหวังในการประกอบอาชีพ และสีเขียวความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แหล่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนในชุมชน

 

 

จากนั้นเมื่อวิทยากรได้อธิบายความหมายในการออกแบบลายผ้าไหมมัดหมี่ของแต่ละหมู่บ้านแล้วจากนั้นได้มีการนำภาพกราฟฟิกลายผ้าไหมออกมาติดประกอบเป็นภาพ เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นลวดลายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากนั้นได้ให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านร่วมกันคิดชื่อลายผ้าไหมของแต่ละหมู่บ้านให้สอดคล้องกับลวดลายที่ท่านวิทยากรได้ออกแบบมาและยังสามารถออกแบบชื่อให้มีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์และ     อัตลักษณ์ประจำหมู่บ้านของตนอีกด้วย และช่วงสุดท้ายวิทยากรได้นำอุปกรณ์เส้นไหมและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ประกอบการทอผ้าไหมมัดหมี่เพื่อให้ชาวบ้านได้นำกลับไปมัดหมี่ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการมัดหมี่และมัดย้อมต่อไป

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ได้ประชุมปรึกษาหารือกับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ในการจัดเตรียม วางแผน ถ่ายทำวีดีโอ รณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรค covid 19 เป็นการเชิญชวนและให้ความรู้สำหรับผู้ที่ยังไม่กล้าฉีดวัคซีนมีความกังวลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นฉีดแล้วปลอดภัยแน่นอน

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการร่วมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยช่วงเช้าเป็นพิธีกล่าวเปิดงานและเสวนาในหัวข้อ  เสวนาลั่นทุ่งสนั่นทั่วสามหนอง  เรื่อง  “ปลูกป่าสร้างคุณค่าสู่แผ่นดิน” จากนั้นพักกลางวันร่วมรับประทานอาหาร(บริการตนเอง รักษาระยะห่างทางสังคม) และช่วงบ่ายเป็นการเริ่มปลูกป่าโดยปลูกบนพื้นที่ 20 ไร่หลังโรงเรียนหนองยายพิมพ์ ดิฉันได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่าครั้งนี้โดยการปลูกต้นยางนาและต้นสักทอง ในการปลูกป่าครั้งนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมและผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากถือว่าเป็นการร่วมกิจกรรมที่ทำประโยชน์และสิ่งดีๆให้กับสังคมและชุมชน

 

 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ได้ร่วมกันกับทีมงานบรรจุหน้ากากอนามัยใส่ซอง และกรอกเจลแอลกอฮอล์ใส่ขวด เพื่อนำไปแจกจ่ายและแบ่งตามชุมชนเพื่อให้นำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ร่วมกันทำความสะอาดศาลาวัดบ้านหนองมะค่าแต้ เพื่อเป็นการป้องกันกำจัดเชื้อโรคและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และร่วมกันถ่ายทำวีดีโอเพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมใจกันฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน covid 19 โดยดิฉันรับหน้าที่ในการกล่าวเชิญชวนประชาชนในช่วงท้ายคลิปวีดีโอเพื่อให้ผู้รับชมเกิดความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้รู้ว่าวัคซีนมีความสำคัญอย่างไรและมีมาตรฐานได้รับการรับรอง ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากจากชาวบ้านและทีมผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู