สมัยก่อนถือได้ว่า “วัด” เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในการรวมตัวของชาวบ้าน    มีบทบาทมากมายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นการเสริมกำลังใจเหมือนครั้งยังมีศึกสงคราม  เสริมกำลังกายเป็นที่ฝึกฝนวิชาการต่อสู้   เสริมพลังความรู้ให้เด็กได้บวชเรียนภาคฤดูร้อน และเสริมกำลังบุญให้ญาติโยมได้มาทำบุญปฏิบัติธรรม

ในการอบรมครั้งที่ 1 เรื่อง ดินและปุ๋ย กลุ่มของข้าพเจ้าเดิมทีจะได้ไปจัดที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านของหมู่ที่ 7  อาจเป็นผลบุญทำให้การอบรมต้องย้ายไปจัดที่วัดทรงศิลา หมู่ 7  เนื่องจากในหมู่บ้านใหม่พัฒนามีการทำถนนลาดยาง  คนงานที่ทำถนนได้พักอาศัยกางเต๊นท์นอนที่ศาลาประชาคมเต็มพื้นที่  ความรู้สึกแรกก็ลำบากใจทึ่ต้องหาที่ใหม่แต่ก็ด้วยความอนุเคราะห์ของผู้ใหญ่บ้านและท่านเจ้าอาวาสวัดทรงศิลาได้ช่วยเหลือจึงทำให้เกิดการอบรมครั้งนี้   นับเป็นความโชคดีมากเพราะในวัดมีสถานที่สำหรับนั่งอบรมแบบสบายสไตล์ลูกทุ่ง (นั่งพื้นกระเบื้องใต้พัดลมพัดเย็น ๆ  )  วิทยากร อาจารย์สุรพงษ์ ทองเชื้อ ท่านก็ยืนบรรยายสไตล์ชาวบ้าน  จปล.(จีนปนลาว) ไม่ใช่!!!!!  ไทยปนลาว เพื่อให้เกิดบรรยากาศความเป็นกันเอง มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บรรยายและผู้ฟัง ซึ่งจำนวนผู้ฟังมีประมาณ 20 กว่าคน  อาจจำนวนไม่มากนักแต่ทุกคนล้วนให้ความสนใจเพราะทุกคนทำเกษตรทั้งนั้น  ปลูกผักในครัวเรือนกินเอง  ปลูกผักเพื่อการจำหน่าย  และกำลังจะปลูกสมุนไพรทำผลิตภัณฑ์ของตนเอง  ดังนั้นการอบรมเรื่อง ดินและปุ๋ย จึงนับเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ  โดยในช่วงเช้าจะเป็นภาคการบรรยายทั้งสิ้น  ช่วงสายก็มีการพักเบรคทานของว่างที่จัดเต็มไม่ว่าจะเป็นแซนวิช  ขนมเอลเซ่ กาแฟ น้ำส้ม น้ำเปล่า  การบรรยายดำเนินไปเรื่อยจนถึงช่วง 12.00 น. ทางผู้จัดโครงการได้นำข้าวกล่องอันแสนอร่อยจากแม่ครัวในชุมชนมาบริการเสริฟเป็นอาหารกลางวัน  นั่งทานร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ พูดคุยสนทนากันอย่างเป็นกันเอง  “พี่ผึ้ง” หนึ่งในผู้เข้าอบรมเป็นคนในชุมชนหมู่ 6 ฝั่งห้วยได้มีโอกาสมาเข้าร่วม  พี่เขาสนใจการปลูกสมุนไพรเพื่อจะทำชาสมุนไพร  ทางข้าพเจ้าได้รู้จักตอนลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนและได้แจ้งข่าวว่า หากมีการจัดอบรมใด ๆ ของโครงการฯจะเรียนเชิญ ซึ่งพี่ผึ้งก็ได้รับทราบแล้วมาเข้าร่วมจนทำให้รู้จักกับลุงบุญถึงที่เลี้ยงวัวจำนวนมาก  จนเกิดการซื้อขายปุ๋ยขี้วัวกัน  นับเป็นการต่อยอดเกษตรกรในกลุ่มชุมชนเราเอง หลังจากรับประทานอาหารเสร็จช่วงบ่ายพวกเราก็ลงมือในภาคปฏิบัติ เป็นการทำปุ๋ยหมักแห้ง ปุ๋ยชีวภาพจากสัตว์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์   โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม  ร่วมด้วยช่วยกันคน( ไข่ นมเปรี้ยวฯ) ช่วยกันบีบ (เปลือกไข่ เนื้อปลา กะปิ) ช่วยกันคลุก(แกลบ ปุ๋ยขี้ไก่) ตลอดระยะเวลาภาคปฏิบัติมีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ  หลวงพ่อที่วัดท่านก็มาดู…  หลังจากทำกิจกรรมภาคปฏิบัติเสร็จทางผู้จัดโครงการได้นำหัวเชื้อจุลินทรีย์แจกให้กับผู้ร่วมอบรมถือกลับบ้านไปคนละ 2-3 ขวด ถึงแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปจนบ่ายสามกว่าแต่ทุกคนก็ยังมีความสุข มีรอยยิ้มให้กันจนกลับบ้านถือว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เต็มไปด้วยความสุข สุขที่ได้ความรู้ สุขที่ได้ปฏิบัติ สุขที่ได้มาแบ่งปันซึ่งกัน

             

กราบขอบคุณท่านเจ้าอาวาสวัดทรงศิลาที่อนุเคราะห์สถานที่จัดอบรม สะดวกทั้งสถานที่อบรม ห้องนำ้ พื้นโล่งใต้หลังคาจัดกิจกรรมในภาคบ่าย  ขอบคุณผู้ใหญ่บ้านที่ช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านได้รับทราบข่าวสาร  และขอขอบคุณคณาจารย์ที่ได้สละเวลามาร่วมคน ร่วมคลุก ร่วมปลูกฝังเกษตรปลอดภัย

อื่นๆ

เมนู