ข้าพเจ้านางสาวปวีณา พันธ์คูณ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานพร้อมกับทีมงานที่ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ
การลงพื้นที่ การปฏิบัติงานเดือนมีนาคม ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่หมู่ 3 บ้านไทรโยง หมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ที่มีลักษณะเด่น คือ เป็นเมืองโบราณ มีคูน้ำล้อมรอบหมู่บ้านเป็นรูปวงรี เป็นลักษณะของสถาปัตถยกรรมสมัยทวารวดี เพื่อทำการประชุมการทำ swot กับชุมชน ร่วมกันวางแผนหาแนวทางในการพัฒนาชุมชนตามเป้าหมายที่วางไว้
เมืองไทรโยง ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลกระสังหมู่ 3 บ้านไทรโยง หมู่ 19 บ้านไทรโยงเหนือ ตำบลกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 ประมาณ 6 กิโลเมตรถึงสี่แยกกระสังเลี้ยวขวา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ประมาณหลัก กม. ที่ 112 ถึงเมืองไทรโยง
ภาพมุมสูงชุมชนโบราณบ้านไทรโยง ภาพจาก http://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/1713
จากประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านทำให้ทราบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมาราว 150 ปี แล้ว โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอพยพมาจากเมืองศรีภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นำโดยหลวงวิเศษ สังขะโห ในปี 2527 กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจ พบเศษภาชนะดินเผา และเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบหลายชั้น สันนิษฐานว่า เมืองโบราณแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยทวารวดีต่อเนื่องถึงสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นอย่างน้อย
ด้านวิถีชีวิตของคนในชุมชน พบว่าความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมีความสนิทสนมกัน พึ่งพาอาศัยกันอยู่กันแบบเครือญาติ คนในชุมชนประกอบอาชีพหลากหลายทั้งทำการเกษตร เช่น การทำนา เป็นการทำนาปี คือหนึ่งปีทำหนึ่งครั้ง ที่ดินทำนาส่วนใหญ่เป็นที่ดินเช่าคนอื่นทำ ปลูกพืชผัก ข้าวโพด บริเวณพื้นที่รอบบ้านทั้งปลูกไว้ทานเองภายในครัวเรือน และปลูกเพื่อจำหน่าย โดยมีการใช้พื้นที่บริเวณริมคูน้ำเป็นพื้นที่ในการปลูกด้วย การเพาะเห็ด มีการทำโรงเรือนปิดมิดชิดในการเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดฟาง เนื่องจากเห็ดไม่ชอบแสงสว่างมากเกินไป โดยโรงเรือนเพาะเห็ดตั้งอยู่บริเวณริมคูน้ำของหมู่ 3
มีการทำปศุสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่บ้าน ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน และบางส่วนก็แบ่งขาย ไก่ชน เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายเป็นเป็นส่วนใหญ่ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย มีการทำงานหัตถกรรมฝีมือ เช่น ทอเสื่อ ไม้กวาดทางมะพร้าว เป็นการทำที่ไม่มีการคนเดียว ไม่มีการรวมกลุ่ม ทำเพื่อจำหน่าย ปัจุบันมีการทำน้อยลง เนื่องจากผู้ที่ทำเป็นผู้สูงอายุแล้วจึงทำได้ไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และยังมีบุคคลว่างงาน โดยผู้ที่อยู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนวัยหนุ่มสาวจะออกไปทำงานนอกพื้นที่
จากลักษณะเด่นที่ชุมชนมีคูน้ำล้อมรอบทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากคูน้ำในการดำเนินชีวิต ทั้งเป็นแหล่งผลิตปะปาหมู่บ้าน และยังเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในทางการเกษตร และชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินบริเวณคูน้ำเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอีกด้วยโดยส่วนใหญ่ที่ดินบริเวณคูน้ำจะใช้เพื่อปลูกพืชผักทางการเกษตร
นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงวิถีชีวิตทางด้านความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ตามบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา เช่น การตักบาตรตอนเช้า การเข้าวัดทำบุญตามวิถีชาวพุทธ มีประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายเขมร คือ การแซนโฎนตา เป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีการเล่นแม่มด เป็นการทำนายรักษาอาการเจ็บป่วยหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อ เป็นต้น
ภาพเล่นแม่มดจาก https://pantip.com/topic/30372643 ภาพแซนโฎนตาจาก https://www.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=800&filename=index
สรุปการลงพื้นที่ การลงพื้นที่ในเดือนมีนาคมนี้ ข้าพเจ้าและทีมงานได้เริ่มทำการประชุมการทำ swot เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลของชุมชนที่สำรวจได้ ซึ่งสรุปผลเบื้องต้นได้ดังนี้
จุดแข็งของชุมชน
1.เป็นเมืองโบราณ ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบหมู่บ้าน ภูมิทัศน์บริเวณคูน้ำสวยงาม
2.ตัวชุมชนมีเรื่องเล่าประวัติความเป็นมา และยังมีการขุดพบเศษภาชนะดินเผา กำไลสำริดโบราณ
3.มีประเพณีแซนโฎนตาที่ทำกันเป็นประจำกันทุกปี
4.มีถนนสายหลักผ่านชุมชนทำให้เดินทางได้สะดวก คนในหมู่บ้านเป็นกันเอง มีน้ำใจต่อบุคคลภายนอก
จุดอ่อนของชุมชน
1.ชุมชนไม่มีงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความน่าสนใจ
2.ถนนภายในหมู่บ้านบางจุดชำรุดและยังไม่มีการซ่อมแซม
3.ครัวเรือนในชุมชนส่วนใหญ่ยากจนและประกอบอาชีพรับจ้างต้องออกนอกพื้นที่ทำให้ไม่ค่อยมองเห็นความโดดเด่นของชุมชนในการจะพัฒนาให้น่าสนใจ
4.บริเวณชุมชนไม่ค่อยมีร้านอาหาร
โอกาสของชุมชน
1.ชุมชนตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองบุรีรัมย์เป็นทางผ่านก่อนเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งมีถนนสายหลักตัดผ่านหมู่บ้าน
อุปสรรคของชุมชน
1.กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ของเมืองโบราณแล้วทำให้ยากต่อการจะดำเนินการจัดกิจกรรมหรือพัฒนาเปลี่ยนแปลงบริเวณพื้นที่ของเมืองโบราณ
2.ครัวเรือนในชุมชนเลี้ยงสุนัขมากซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคนแปลกหน้า
ข้าพเจ้าและทีมงานได้ให้ความสนใจในการยกระดับพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวภายใจชุมชน ทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จากการเป็นเจ้าของพื้นที่ และต้องการให้ผู้คนในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญ ความโดดเด่นของพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่และยกระดับพื้นที่ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดคนนอกพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชม ทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
แบบทดสอบประจำบทความ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfR6DDUtOqkzUN3494qlEmGRhD4rV-uGfxuRwP00J5yeGKRFw/viewform