แซนโฎนตาแซนศรัทธาบรรพชน

(อ้างอิงภาพจากเพจเฟซบุ๊กชมรมถ่ายภาพอำเภอตาพระยา ถ่ายโดยท่ายขุน)

        แซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมรรวมถึงชาวเขมรหรือกัมพูชาด้วย เป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ แซนโฎนตาเป็นภาษาเขมร คำว่า แซน ภาษาไทยตรงกับคำว่า เซ่น หมายถึงการเซ่นไหว้ ส่วนคำว่า โฎนตา แปลว่า ยายตา ใกล้เคียงกับคำว่าบรรพบุรุษ ญาติโกโหติกา ดั้งนั้นความหมายของแซนโฎนตาก็คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิดและหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยประเพณีแซนโฎนตาเริ่มจัดตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เรียกกันว่า ไถงเบ็ณฑ์ตู๊จ/วันเบ็ณฑ์ตู๊จ หรือวันสารทเล็ก ถือว่าเป็นวันเริ่มงานวันแรก ช่วงเวลาระหว่างนั้นภาษาท้องถิ่นเรียกว่า วันกันซ็อง(กันสงฆ์) หมายถึงการปรนนิบัติวัตถากต่อพระสงฆ์ จนกระทั่งถึงการทำบุญครั้งใหญ่ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ไถงเบ็ณฑ์ธม หรือวันเบ็ณฑ์ธม หรือวันสารทใหญ่ คำว่า เบ็ณฑ์ ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่าการรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว เหตุที่จัดงานบุญกันในเดือน 10 นี้ ก็ด้วยว่าเดือนนี้ตอนกลางคืนพระจันทร์จะอับแสงและมือดกว่าเดือนอื่นๆ เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ยมบาลจะปลดปล่อยวิญญาณให้ขึ้นมาปะปนกับมนุษย์บนโลกเพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและรอรับส่วนบุญทั้งจากญาติพี่น้องและบุคคลอื่นโดยผ่านพิธีกรรมการทำบุญอุทิศไปให้ เล่ากันว่าในสมัยก่อนช่วงเทศกาลแซนโฎนตาพอตกกลางคืนคนมักจะได้ยินเสียงคนคุยกันที่ใต้ถุนเรือน เมื่อมองลอดช่องพื้นกระดานลงไปจะเห็นคนผมหงอกผมดำนั่งผิงไฟคุยกัน แต่ฟังไม่รู้เรื่องว่าพูดภาษาอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่านั่นคือ ขม๊อจโฎนตา หรือผีปู่ย่าตายาย ที่เทวดาท่านปล่อยให้มาเยี่ยมลูกหลานและรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้

ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า จูนโฎนตา คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้านมาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่างๆ มามอบให้หรืออาจมอบเงินด้วยเพื่อให้ท่านได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้วก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทนเหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ แซนโฎนตามีขั้นตอนการทำพิธีกรรมที่แต่ละท้องถิ่นอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันแต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวกสิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่ กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหมที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออานมีหัวหมูตามแต่ฐานะ กับข้าวต่างๆ ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้เป็นต้น ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือมะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก เครื่องดื่ม เหล้า น้ำหวานตามแต่เห็นสมควร เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ กระถางธูปและธูปไว้สำหรับจุดเวลาเซ่นและจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย พอตกเย็นชาวบ้านแต่ละคุ้มที่สนิทกันจะเวียนกันไปแซนโฎนตาตามบ้านใกล้เรือนเคียงคนที่ไม่ได้พบปะกันมานานก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกันบางบ้านก็มีการกินเลี้ยงกันสนุกสนาน ช่วงค่ำจะมีนำกระเชอโฎนตา(การนำขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ ข้าวสาร ข้าวเปลือกมาใส่ตะกร้าตกแต่งให้สวยงาม)และบายเบ็ณฑ์ไปทำพิธีสวดมนต์เย็นที่วัด โดยบนยอดบายเบ็ณฑ์ปักธูป 1 ดอก ประดับด้วย ผกาบายเบ็ณฑ์ ซึ่งเป็นดอกหญ้าชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอม สีขาวคล้ายดอกมะลิ จะขึ้นในช่วงเดือน 10 เมื่อสิ้นประเพณีแซนโฎนตา ดอกหญ้านี้จะร่วงโรยไป

(อ้างอิงภาพจาก แซนโฎนตา ประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษ ของชาวไทยเชื้อสายเขมร (campus-star.com))

        สำหรับชาวบ้านที่เคยทำบุญวัดไหนส่วนใหญ่ต้องไปทำบุญวัดนั้นเพราะเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะมารอที่วัดถ้าลูกหลานไปทำบุญไม่ถูกวัดวิญญาณบรรพบุรุษก็จะหาไม่เจอ ส่วนการฟังสวดมนต์เย็นที่วัดจะมีความสนุกสนานระหว่างที่เดินไปวัดจะตะโกนเรียนขานชวนกันไปวัดและเรียกวิญญาณบรรพบุรุษไปด้วย เมื่อไปถึงที่วัดจะมีพิธีอุทิศ กระเชอโฎนตา และ บายบัดตระโบรหรือบายเบ็ณฑ์ พระสงฆ์เอาด้ายสายสิญจน์ล้อมสิ่งของทั้งหมดจุดธูปทำพิธีสวดเรียกวิญญาณผู้ล่วงลับมาฟังธรรม หลังจากฟังธรรมจะมีงานรื่นเริงคนเฒ่าคนแก่จะชอบฟังกระจับปี่ประกอบการขับลำนำเป็นเรื่องราวคติสอนใจ หรือ ปี่อังโกง มีคนร้องเจรียงประกอบหรือฟัง ปี่เญ็ญ ซึ่งปัจจุบันหาคนเป่าได้ยาก เมื่อถึงเวลาใกล้เช้าวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จะมีการทำพิธีที่วัดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระสงฆ์ลงโบสถ์ชาวบ้านจะพากันจุดธูปเทียนแบกกระเชอโฎนตาเดินวนรอบโบสถ์ 3 รอบ จนได้เวลาที่เรียกว่า ประเฮียม เยียะชะโงก แปลว่า เวลาสางยักษ์ชะโงก คือเป็นเวลาที่ยักษ์ ผีเปรตออกหากิน ก็จะยืนล้อมวงแล้วเทอาหารจากกระเชอลงที่ลานหญ้ารวมกัน เชื่อว่าวิญญาณผีบรรพบุรุษหรือผีเปรตทั้งหลายกำลังเฝ้าคอยรอกินอาหารอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย เรียกพิธีนี้ว่า จะโฎนตา คือการเทกระเชอโฎนตาให้วิญญาณปู่ย่าตายายจนหมด เพื่อแสดงถึงความเสียสละและกตัญญูรู้คุณ หลังจากนั้นก็จะมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารเช้า ประพรมน้ำมนต์ บำเพ็ญทักษิณาแผ่บุญกุศลให้แก่วิญญาณผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะนำบายเบ็ณฑ์หรือบายบัดตระโบรไปหว่านในไร่นา ถือเป็นพิธีกรรมสำหรับความอุดมสมบูรณ์และเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผีในไร่นาจากนั้นตอนบ่ายจะนำกาบกล้วยหรือกาบมะพร้าวกลัดเป็นรูปเรือสำเภา เอาอาหาร ขนมข้าวต้ม ผลไม้ ฯลฯ ใส่ลงไป  แล้วนำไปลอยในแม่น้ำหรือบ่อน้ำในบริเวณบ้านเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษสู่สรวงสวรรค์หรือไปเกิดใหม่  หากไม่ทำเรือส่งท่านเชื่อว่าบรรพบุรุษจะกลับยมโลกไม่ได้ จะติดค้างอยู่ในโลกมนุษย์กระทั่งถึงเวลาแซนโฎนตาอีกรอบ ถือเป็นการสร้างบาปและความทุกข์ทรมานแก่ท่าน

แซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมรรวมถึงชาวเขมรหรือกัมพูชาด้วย เป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ อาจเรียกว่าเป็นประเพณีในเทศกาลสารทที่คล้ายกับประเพณีสลากภัต  ตานก๋วยสลาก หรือบุญเดือนสิบในภาคอื่นๆ แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดพิธีกรรม ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีชาวไทยเชื้อสายเขมรอยู่ไม่น้อยรวมทั้งพื้นที่ประโคนชัยที่คนส่วนใหญ่ก็รู้จักและจัดพิธีแซนโฎนตาสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก นายมี หมั่นดี. (25:3(กรกฎาคม-กันยายน) 2542). สารทเขมร-แซนโดนตา. เมืองโบราณ, 107-112. นิตยา กนกมงคล บก. (2552). งานบุญเดือนสิบ: เวลาแห่งการอุทิศ. การสัมมนาตามโครงการสืบค้นคุณธรรม จริยธรรม ในวันสารทไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมภาคสังคม กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2552 (หน้า 36-37). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. อัษฏางค์ ชมดี. (2553). ร้อยเรื่องเมืองสุรินทร์. สุรินทร์: สำนักหนังสือสุรินทร์สโมสร.

 

อื่นๆ

เมนู