บูชาผีเซ่นวิญญาณแรงปณิธานชาวไทยเขมร       

        เขมรถิ่นไทย หรือที่เรียกว่า เขมรสูง เขมรเหนือ หรือ คแมรลือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก กระจายตัวอยู่ตามบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สระแก้ว ปราจีนบุรีจันทบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด โดยเชื้อสายเขมรเป็นพวกที่นับถือผีมาก่อนโดยมีการกราบไหว้วิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ จอมปลวก หนองน้ำ เป็นต้นและยังเชื่อว่าวิญญาณเหล่านี้สามารถบันดาลทั้งคุณและโทษให้แก่มนุษย์ได้แม้ในเวลาต่อมาจะนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแต่ว่าความเชื่อดังกล่าวก็ยังไม่เสื่อมคลายและได้ผสานผสมกลมกลืนจนกลายเป็นความเชื่อแบบที่เรียกกันว่า “พุทธ พราหมณ์ และผี”

  

(ภาพจากเว็บไซต์องค์ความรู้จากงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubu-art-culture/?p=998) 

        ชาวไทยเชื้อสานเขมรที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้มีความเชื่อเรื่องผีและนับถือผีมาก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีคนไทยเชื้อสายเขมรเชื่อว่าผีก็มีลักษณะไม่แตกต่างจากมนุษย์ คือ มีทั้งดีและไม่ดี ผีดีเป็นผีที่ให้คุณแต่อย่างไรก็ตามมนุษย์จำเป็นต้อง “เซ่นให้ดี พี่สีให้ถูก” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหรือตอบแทนที่ผีคอยปกป้องคุ้มครองหรือดลบันดาลบางสิ่งบางอย่างให้มิฉะนั้นแล้วจากผีดีก็จะกลายเป็นผีร้าย นอกจากนี้ยังมีผีที่มีลักษณะไม่ให้คุณให้โทษเป็นผีเร่ร่อนอีกด้วย โดยชาวไทยเชื้อสายเขมรเรียกผีว่า “โขมจ” และแบ่งผีออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผีดี ผีกลุ่มนี้ถ้าเซ่นดีพลีถูกก็จะให้คุณแต่ถ้าไม่ดีก็จะให้โทษ เช่น ผีเนียะตา ผีอารักษ์ เป็นต้น ผีร้าย ผีกลุ่มนี้มีแต่ให้โทษแก่มนุษย์ เช่น ผีอ๊าบ ผีทฺมบ ผีจอตฺวง เป็นต้น และผีไม่ดีไม่ร้าย เช่น ผีกระจอกงอกง่อย เป็นต้น วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเขมรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผีตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ความเชื่อเรื่องผีทำให้เกิดสายสันพันธ์ในครอบครัวเพราะในช่วงเดือนสิบทางจันทรคติของทุกปี คนไทยเชื้อสายเขมรจะทำพิธี “แซนโฎนตา” เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนลูกหลานไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดจะพากันกลับบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีนี้ ความเชื่อเรื่องผีทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพราะในแต่ละชุมชนจะจัดพิธี “แซนเนียะตา” ขึ้นในช่วงเดือน 6 ก่อนฤดูทำนาจะมาถึงเชื่อกันว่าเนียะตาเป็นผู้คุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์และถือว่าต่างก็มีเนียะตาตนเดียวกันเป็นศูนย์รวมจิตใจความเชื่อเรื่องผีช่วยสร้างแปงเมืองเห็นได้จากการยกวีรบุรุษในท้องถิ่นขึ้นเป็นผีบ้านผีเมือง เช่น เชียงปุม หรือพระยาสุรินทร์ภักดีณรงค์จางวาง อดีตเจ้าเมืองสุรินทร์ เป็นต้น 

                   

                         (ศาลหลวงปู่อุดมยายรวย บ้านหนองบอน ต.แสลงโทน อ.ประโคนชัย  จ.บุรีรัมย์)               (ศาลตาปู่หรือกระท่อมเนียะตา บ้านแสลงโทน ต.แสลงโทน อ.ประโคนชัย  จ.บุรีรัมย์)

        คนไทยเชื้อสายเขมรผูกพันกับผีมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายเมื่อบ้านไหนมีเด็กทารกเกิดใหม่ สมาชิกในครอบครัวจะทำพิธีไหว้ “ครูกำเนิด” หรือเทวดาประจำตัวของเด็กคนนั้น (คล้ายกับแม่ซื้อตามความเชื่อของคนไทยภาคกลาง) เพื่อขอให้ครูกำเนิดช่วยคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย เลี้ยงง่าย พอถึงเวลาแต่งงาน ก็จะต้องทำพิชีไหว้ “โขุมจเมบา” คำว่า เม” แปลว่า แม่ ส่วนคำว่า “บา” แปลว่า พ่อ) เพื่อบอกให้ผีประจำตระกูลทราบว่า ลูกหลานได้แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณีแล้ว ไม่ใช่ลักลอบได้เสียกันเวลาเจ็บปวย คนไทยเชื้อสายเขมรมักจะไปหา “เมมด” เพื่อให้ช่วยเข้าทรงหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย แม้ในโลกยุคปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขจะพัฒนาก้าวไกลไปมาก และมีสถานบริการสาธารณสุขตั้งอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ หากแต่คนไทยเชื้อสายเขมร ก็ยังคงเลือกที่จะรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ โดยพึ่งผีเป็นอันดับแรกเวลาที่จะเริ่มทำการเกษตรจะมีการทำพิธี “เฬิงเนียะตา” หรือ “แซนเนียะตา” ไม่ว่างานบวชนาค งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่จะเดินทางไปไหนไกลบ้าน คนไทยเชื้อสายเขมรก็ต้องบอกกล่าวให้ผีได้ทราบ

        ในพื้นที่อำเภอประโคนชัยต่างก็เป็นชาวไทยเชื้อสายเขมรนับถือภูติผีวิญญาณและสืบทอดพิธีกรรมเฉพาะถิ่นมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องผีจึงมีความสำคัญยิ่งเพราะทำให้เราเข้าใจระบบความคิดของผู้คนในสังคมนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ความเชื่อที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกดคอมนุษย์ด้วยกันเอง หากแต่เป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยสร้างครอบครัว สร้างชุมชน และสร้างบ้านเมืองให้เป็นปีกแผ่นขึ้นด้วย (เอกสารอ้างอิง ชาญชัย คงเพียรธรรม.เรื่องผีในอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเวียดนามที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย.อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2556. 

อื่นๆ

เมนู