ข้าพเจ้านางลำไย นุชเวช ประเภทประชาชน ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ในกิจกรรม one day trip ในตำบลสายตะกู ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมฐานผ้าไหม ได้มีการทำความสะอาด ปัดกวาด เก็บขยะ ศาลาประชาคมหมู่ 3 บ้านสายโท 11 เหนือ จัดโต๊ะ ติดตั้งป้ายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองลายประยุกต์ตำบลสายตะกู เช่น ผ้าไหมลายสายตะกู เป็นต้น จำนวน 1 ป้าย
ในวันงาน ได้มีการแนะนำตัวกับนักท่องเที่ยวและอธิบายการทำผ้าไหม ได้แก่
ขั้นตอนการสาวไหม
นำไหมที่แห้งไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆ เส้น โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาด
ขั้นตอนเตรียมเส้นไหม
การเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- การเตรียมเส้นไหมพุ่ง
- การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน)
ขั้นตอนการมัดหมี่
การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆ ตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ
ขั้นตอนการย้อมสี
การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า “การดองไหม” จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม
ขั้นตอนการแก้หมี่
การแก้หมี่ คือ การแก้เชือกฟางที่มัดหมี่แต่ละลำออกให้หมดหลังจาการย้อมในแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการทอผ้า
คือ การทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น “เส้นไหมยืน” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ (เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ “เส้นไหมพุ่ง” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้
จากการจัดงานในวันนั้นมีปัญหาและอุปสรรคคือ มีเวลาในการเรียนรู้ในฐานผ้าไหมน้อยเกินไป อยากให้เพิ่มเวลาเป็น 2-3 ชั่วโมงเนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความสนใจในการทอผ้าไหมมาก