ศิลป์จากภูมิปัญญาสู่พลังศรัทธาเทียนพรรษาประโคนชัย

ทุกท่านคงทราบกันดีว่า วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูฝนเป็นฤดูการเริ่มการเพาะปลูกของชาวไร่ชาวนาและการออกบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์ในช่วงนี้อาจสร้างความเสียหายให้กับพืชไร่นาสวนของชาวบ้านได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติให้เหล่าพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ภายในวัดเพื่อศึกษาพระธรรมตลอดช่วงระยะเวลา 3 เดือนนี้

การดำเนินชีวิตในอดีตนั้นผู้คนต่างก็ไม่มีไฟฟ้าใช้อาศัยเพียงแค่แสงจากธรรมชาติและแสงเทียนตะเกียงฟืนไฟเท่านั้น พุทธศาสนิกชนจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นนี้จึงได้มีการถวายเทียนเพื่อใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในยามวิกาลตลอดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ สืบตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้นมาจึงได้มีการจัดประเพณีแห่เทียนพรรษาโดยมีการหล่อเทียนให้มีความวิจิตรงดงามตามยุคสมัยเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับประเพณีแห่เทียนพรรษาประโคนชัย ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นจากเรื่องราวที่นำมาเสนอเข้ากับขบวนแห่ของทั้ง 6 คุ้มวัดที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นประโคนชัยได้อย่างเด่นชัด เช่น วิถีการดำรงชีวิต การทำกุ้งจ่อม การแต่งกาย ศิลปะการร่ายรำทำนองกันตรึม ฯลฯ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขบวนเทียนพรรษาที่มีการสลักโดยช่างฝีมือของแต่ละคุ้มวัดอย่างปราณีตที่ยังคงรูปแบบการทำเทียนแบบประเพณีนิยมนำเสนอเรื่องราวพุทธสาสนาแฝงปริศนาธรรมและการทำลวดลายแบบศิลปะขอมโบราณบนเทียนพรรษา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากภูมิปัญญา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นประโคนชัยได้อย่างงดงาม

           

        งานประเพณีแห่เทียนพรรษาประโคนชัยขึ้นชื่อว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสวยงามอับดับต้น ๆ ของภาคอีสานและเคยได้รับขนานนามว่าเป็น 1 ใน 3 ของงานแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งประเพณีหลาย ๆ อย่างต้องงดเว้นไปอย่างน่าเสียดายแต่ด้วยพลังศรัทธาของชาวประโคนชัย โดยกลุ่มช่างเทียนวัดโคนและชมรมกลิ่นเทียนวัดแจ้งได้มีการสลักตกแต่งเทียนขึ้นเพื่อจัดแสดงให้กับประชาชนที่สนใจได้ชมความงดงามภายใต้การนำเสนอแบบมินิมอลของแต่ละคุ้มวัดเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19และที่สำคัญคือเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีแห่เทียนพรรษาของประโคนชัยให้คงไว้ไปตลอดกาล

อื่นๆ

เมนู