ชื่อบทความ : การย้อมสีเส้นกก ด้วยสีธรรมชาติจากพืชในชุมชนบ้านแสลงโทน

พื้นที่ : ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

เจ้าของบทความ : นางสุพรรณ  ลีประโคน

       หากย้อนไปในสมัยโบราณ มีการใช้สีที่สกัดจากพืชที่หาได้ตามท้องถิ่นมาย้อมผมและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ต้องการ รวมทั้งใช้ในสีผสมอาหารด้วย โดยสีธรรมชาติที่นำมาย้อมนั้นไม่เป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ด้วย เช่น ขมิ้นย้อมได้สีเหลือง เปลือกต้นสะเดาย้อมได้สีแดง ดอกอัญชันย้อมได้สีม่วง ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันสีธรรมชาติมีความนิยมและต้องการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จึงมีแนวความคิดให้ชุมชนบ้านแสลงโทนเรียนรู้วิธีเอาเส้นกกมาย้อมสีธรรมชาติจากพืชในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพื่อให้สอดคล้องกับที่ตลาดต้องการโดยเอาสบู่แดง ที่มีอยู่ในชุมชนเอาใบมาต้มสกัดเอาน้ำมาย้อมกับเส้นกกจะได้สีเขียวขี้ม้าอ่อน แม้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วสีเคมีจะให้สีสันที่สะดุดตากว่า แต่หากคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว สีธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเรา

                     กระบวนการย้อมสีเส้นกกด้วยสีธรรมชาติ
การย้อมสีเส้นกกด้วยธรรมชาติมีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนคือ
    1. พืชที่เป็นแหล่งสีธรรมชาติเป็นพืชชนิดเดียวกับที่ใช้ในการย้อมสีผ้าและสิ่งทอ เช่น แก่นฝางขมิ้น แก่นประดู่ แก่นขนุน เป็นต้น วัตถุให้สีเหล่านี้จะเตรียมในรูปสารละลายที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย
    2. สารช่วยติดสี(Mordant) มีหน้าที่ช่วยให้สีติดอยู่บนเส้นกก โดยสารช่วยติดสีที่นิยมใช้ในกระบวนการย้อมสีธรรมชาติส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
2.1 สารช่วยติดสีเคมีเป็นเกลือของโลหะอลูมิเนียม (สารส้ม) เหล็ก (เฟอรัสซัลเฟต) ทองแดง (จุนสี) เป็นต้น
2.2 สารช่วยติดสีธรรมชาติเป็นสารประกอบธรรมชาติได้แก่ แทนนิน สารส้ม น้ำปูนใส กรดธรรมชาติ น้ำบาดาล น้ำโคลน เป็นต้น
การใช้สารช่วยติดสีในการย้อมสีธรรมชาติมี 3 วิธีคือ
– การใช้สารช่วยติดสีก่อนการย้อมสี (Pre – mordant) เป็นการนำเส้นใยไปย้อมกับสารช่วยติดสีก่อนนำไปย้อมสีธรรมชาติ
– การใช้สารช ่วยติดสีพร้อมการย้อมสี (Meta – mordant) เป็นการเติมสารช่วยติดสีลงในน้ำสีแล้วจึงนำเส้นใยลงย้อม
– การใช้สารช่วยติดสีหลังการย้อมสี (Post – mordant) นำเส้นใยลงย้อมในน้ำสีก่อนแล้วจึงนำไปย้อมกับสารช่วยติดส

                  สำหรับเทคโนโลยีการย้อมสีเส้นกกด้วยสี
ธรรมชาติของกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้และสิ่งทอฯ ใช้สารส้มและแทนนินเป็นสารช่วยติดสีผ่านกระบวนการใช้สารช่วยติดสีก่อนการย้อม มีกลไกการเกิดปฏิกิริยาเริ่มด้วยเกิดพันธะเคมีระหว่างแทนนินและอะลูมิเนียมไอออนเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนทำหน้าที่เชื่อมต่อสีธรรมชาติกับเส้นกก โดยโครงสร้างที่เป็นส่วนแทนนินจะเกิดพันธะกับเส้นกก ซึ่งมีโครงสร้างเป็นเซลลูโลส ส่วนอะลูมิเนียมไอออนจะสร้างพันธะกับโมเลกุลของสีธรรมชาติ

                      ขั้นตอนในการย้อมสีเส้นกกด้วยสีธรรมชาติ
    1. นำเส้นกกแห้ง ลงแช่ในน้ำอุ่น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนนำเส้นกกขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
    2. เตรียมสารละลายที่ช่วยทำให้สีติดโดยละลายสารส้มลงในน้ำเดือดจากนั้นปรับสภาพให้เป็นด่างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต
    3. นำเส้นกกในข้อ 1 ลงแช่ในสารละลายที่ช่วยทำให้สีติดเพิ่มความร้อนจนเดือดเบาๆเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้วนำเส้นกกขึ้นมาผึ่ง
ให้สะเด็ดน้ำ
    4. เตรียมสารละลายแทนนินในน้ำร้อน นำเส้นกกในข้อ 3 ลงแช่เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนนำเส้นกกขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
    5. เตรียมสารละลายที่ช่วยทำให้สีติด เหมือนข้อ 2
    6. นำเส้นกกในข้อ 4 ลงแช่อีก 1 ชั่วโมง ก่อนนำเส้นกกขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
    7. เตรียมสารละลายของสีย้อม (เช่น แก่นไม้ฝาง แก่นไม้ขนุน แก่นไม้ประดู่ ผงขมิ้นชัน) โดยต้มวัตถุให้สีธรรมชาติใน
น้ำร้อนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตักกากวัตถุให้สีธรรมชาติออก แล้วจึงเติมเกลือ
    8. นำเส้นกกในข้อ 6 ลงแช่ในน้ำสีต้มให้เดือดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
    9. นำเส้นกกขึ้นมาตากให้แห้ง

แหล่งอ้างอิง : file:///C:/Users/a/Downloads/Documents/2562_68_209_P21-23.pdf

        ภาพใบสบู่แดง (สบู่เลือด)

       ภาพการต้มใบสบู่เลือด

         ภาพการย้อมเส้นกก

       เส้นกกที่ย้อมเสร็จแล้ว

อื่นๆ

เมนู