สิ่งที่น่าสนใจ/การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล:
จากการที่ ข้าพเจ้าลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านประจำเดือน มีนาคม ได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมตามแบบฟอร์ม 01 ,02 และ 06 ซึ่งข้าพเจ้ารับผิดชอบในเขตพื้นที่หมู่ 8 บ้านโคกเบง มีทั้งหมด 3 คุ้มคือ 1.คุ้มโคกเบง 2.คุ้มห้วยสำราญ 3.คุ้มโคกตาสุข ตั้งอยู่ ตำบลโคกย่าง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พบข้อมูลว่าจำนวนครัวเรือนรวมกันทั้งหมดเพียง 97 ครัวเรือน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนข้อมูลที่มีก่อนการลงสำรวจพื้นที่ ข้อมูลเดิมคือ 146 ครัวเรือน ได้สอบถามกับทางผู้ใหญ่บ้านได้ข้อมูลว่า จำนวนบ้านเลขที่หลายหลังมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน เป็นการขอบ้านเลขที่เพื่อขอไฟฟ้าลงไปที่ทุ่งนา ทุรกันดารเพื่อทำการเกษตรเลี้ยง วัว ควาย และทำนา จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักทำเกษตร และอาชีพรับจ้างทั่วไปจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมหมู่ 8 บ้านโคกเบง ระหว่าง วันที่1- 15 มีนาคม 2564 โดยพบว่า ส่วนใหญ่จะทำนา ปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มไถหว่านเมล็ดพันธุ์เดือนพฤษภาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อใช้บริโภค/อุปโภค และจำหน่าย ในส่วนของชีวิตประจำวันนั้น แต่ละครัวเรือนจะมีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนมากในช่วงเช้ามืดจนถึงช่วงสายบางครัวเรือนจะออกไปเก็บหญ้านางนวน และดูไร่นาของตน บางครัวเรือนที่ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย และ แพะ ในช่วงสายจะนำสัตว์เลี้ยง ไปปล่อยไว้ตามสวนและทุ่งนาของตนเองเพื่อให้วัว ควายกินหญ้ากินฟาง บางครั้งมีการค้างแรมที่ทุ่งนา หลังจากนั้นชาวบ้านจะทำภารกิจประจำวันของตนเองในช่วงเย็น ส่วนชาวบ้านที่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปก็จะออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่เช้า
ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจในชุมชน:
จากการลงพื้นที่พบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจคือผลิตภัณฑ์ทอเสื่อจากกก ที่ตั้งของสถานประกอบการ เลขที่33 หมู่ที่8 บ้านโคกเบง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ผลิต นางลอบ คงประโคน ผลิตแบบรายเดี่ยวเฉพาะเวลาว่างจากงานประจำ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหลักคือ เสื่อกก อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน
สภาพปัญหาการลงพื้นที่ของชุมชน:
1.ชาวบ้านไม่อยู่บ้าน,ไปรับจ้างต่างถิ่น,เลี้ยงวัว,ควาย,เป็นอุปสรรคในการเก็บข้อมูล
2.ปัญหาการลงพื้นที่บ้านที่อยู่อาศัยห่างไกลกัน
3.ปัญหาสภาพถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ
4.ปัญหาชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ
5.ปัญหาขาดเเคลนแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคและแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร
6.ปัญหาขาดไฟฟ้าส่องสว่างในยามค่ำคืน ยังมีไม่เพียงพอ
ความต้องการในการพัฒนาชุมชน:
1.ต้องการทำถนนทางเข้า ออก ที่ชำรุด
2.ต้องการเรียนรู้อาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ ในเวลาว่างจากงานประจำ
3.ต้องการร่องระบายน้ำ ภายในชุมชน
4.ต้องการแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคและแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร
5.ต้องการไฟฟ้าส่องสว่างค่ำคืน ยังมีไม่เพียงพอ
สรุปผลจากการลงสำรวจพื้นที่:
เขตพื้นที่ หมู่ 8 บ้านโคกเบง มีทั้งหมด 3 คุ้มคือ 1.คุ้มโคกเบง 2.คุ้มห้วยสำราญ 3.คุ้มโคกตาสุข ตั้งอยู่ ตำบลโคกย่าง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ในการตอบแบบสอบถามและให้ข้อมูลที่เป็นความจริง จนทำให้ทราบถึงปัญหาหลักของคนในชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตร และอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้น้อย ยากจน สำหรับหนี้สินนั้นมีกันเกือบทุกครัวเรือน มีทั้งหนี้ในและนอกระบบ ขาดเเคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค เส้นทางการสัญจรเกิดการชำรุด เป็นหลุม เป็นบ่อตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน และไฟฟ้าส่องสว่างค่ำคืนทางเข้าหมู่บ้านและภายในหมู่บ้าน ยังมีไม่เพียงพอ
ภาพจากการลงพื้นที่:
สำรวจและเก็บข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โดยการใช้แบบสอบถาม 4 แบบฟอร์ม คือ แบบฟอร์ม(01) แบบฟอร์ม(02)แบบฟอร์ม(06) และการสำรวจศักยถาพตำบล 16 เป้าหมายกับผู้นำชุมชนเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อมูลภาคครัวเรือน รวมถึงให้ข้อแนะนำ ให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาชุมชน คุ้มห้วยสำราญ และคุ้มโคกตาสุข ภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในตำบลคือ กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดขอน โดยกลุ่มนี้จะนำเห็ดนางฟ้า มาสร้างผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น แหนมเห็ด และข้าวเกรียบเห็ด