สำรวจชนบทและวิถีชีวิตของชาวบ้านกับการเลี้ยงจิ้งหรีด
ข้าพเจ้า นางสาวผุษฎี บุญประเสริฐ
ประเภท : บัณฑิตจบใหม่ ตำบลหินลาด
หลักสูตร : การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผา ในอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
สังกัดคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หลักสูตร : ID : 03 การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผา ในอำเภทบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อที่จะได้สืบสานและรักษากลุ่มอาชีพและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นและเครื่องเคลือบดินเผาให้คงอยู่ต่อไปในปัจจุบัน โดยโครงการยกระดับเศรษฐกิจนี้จะเป็นโครงการที่เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดปัญหาคนยากคนจน คนว่างงาน ให้มีงานทำจากผลกระทบในสถานการณ์โควิด19
ซึ่งในเดือนมีนาคมข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจ สัมภาษณ์ชาวบ้านตำบลหินลาดเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ในส่วนที่เหลือเพิ่มเติม และได้เข้าไปเห็นถึงวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพอีกอย่างหนึ่งนอกจากการเลี้ยงวัว เลี้ยงหมูแล้ว ชาวบ้านที่นี้ยังมีการเลี้ยงจิ้งหรีดอีกด้วย โดยข้าพเจ้านั้นได้สอบถามข้อมูลในการเลี้ยงจิ้งหรีดจากคุณป้าท่านหนึ่ง โดยคุณป้าได้เล่าให้ฟังว่าในการเริ่มเลี้ยงตอนแรกนำไข่จิ้งหรีดและแผงไข่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีดมาให้ พออยู่ได้สัก 1 สัปดาห์ ไข่ก็ออกเป็นตัว จึงให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับจิ้งหรีดโดยเฉพาะ และคอยดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบ ให้อาหารเช้า-เย็น ส่วนน้ำต้องมีแกลบผสมเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตกน้ำที่สำคัญต้องดูแลให้ดี อย่าให้มีมดหรือจิ้งจกเข้ามา พวกนี้จะเข้าไปกัดไปกินจิ้งหรีด ถ้ามีมดก็นำชอล์กที่ไว้กันมดมาเขียน เลี้ยงจนครบประมาณ 1 เดือน ก็จับขายได้ ซึ่งถ้าเป็นหน้าร้อน ใช้เวลา 35 วัน จับขายได้ ส่วนหน้าหนาวใช้เวลานานกว่าคือ 45 วัน เนื่องจากจิ้งหรีดจะไม่ค่อยกินอาหาร ส่วนสะดิ้งอายุยาวกว่า อายุ 45 วันขึ้นไป ถึงจับขายได้ ถ้าหน้าหนาวต้องเลี้ยงถึง 50-60 วัน เท่าที่ดูโรงเรือนของคุณป้านั้นไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ขณะที่เกษตรกรบางรายนำเล้าหมูหรือเล้าเป็ดเล้าไก่ที่มีอยู่เดิมมาปรับเป็นโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งในแต่ละคอกจะมีฝาปิดมิดชิด กรณีคอกใหม่ ราคาคอกละ 1,500 บาท (ไม่มีแผงไข่และถาดอาหาร) ส่วนคอกมือสอง ราคาคอกละ 500-800 บาท โดยวิธีการสังเกตตัวไหนตัวผู้ ตัวเมีย ก็ไม่ยาก ถ้าเป็นตัวเมียจะมีเข็มตรงก้น ส่วนตัวผู้ไม่มี และถ้าเป็นสะดิ้งตัวเมียปีกจะสั้นกว่าตัวผู้ และมีเข็มตรงก้นเช่นกัน จากการที่ได้สอบถามคุณป้าที่เลี้ยงจิ้งหรีดมานั้น คุณป้านั้นได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ยังไม่เจอปัญหาอะไรที่หนักๆ เพราะดูแลเอาใจใส่อย่างดี แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งนอกจากจะให้อาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังนำผักบุ้งไปให้จิ้งหรีดกินด้วย ตอนอายุได้สัก 20 วัน จนทำให้ตายหลังจากกินภายในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพราะเกิดเป็นกรดเป็นแก๊สขึ้นมา เนื่องจากขับถ่ายออกไปไม่หมด เมื่อเป็นแก๊สเกิดความร้อนขึ้นมาจึงทำให้ตาย หลังจากนั้นมาก็ไม่เคยให้ผักอีกเลย ซึ่งในการอบรมเรื่องเลี้ยงจิ้งหรีดทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่า หากจิ้งหรีดอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ห้ามให้ผักเป็นอาหารแต่จะให้กินฟักทองดิบเป็นอาหารแทนโดยจะให้กินฟักทองตอนช่วงก่อนจะจับขาย เพื่อให้ได้น้ำหนักดี สีสวย และมีรสชาติอร่อยเมื่อนำไปทอดทั้งนี้ ราคาขายของสะดิ้ง หรือจิ้งหรีดขาวนั้น ขายส่ง กิโลกรัมละ 90 บาท ส่วนจิ้งหรีดทองดำและทองแดง กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขายปลีก ขายกิโลกรัมละ 150 บาท เท่ากันทุกชนิด โดยคุณป้าได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลี้ยงจิ้งหรีดว่า เริ่มแรกไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ มีเงินน้อยก็ทำตามกำลังทรัพย์ไปปเรื่อยๆ มีเงินแค่ 3,000-4,000 บาท ก็เลี้ยงได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ ขยาย ตอนแรกที่ตนเองเลี้ยงเริ่มจากคอกเดียวก่อนก็ได้ส่วนเทคนิคในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ประสบความสำเร็จนั้น คุณป้าบอกว่าต้องขยันและใส่ใจ บางคนมาดูแล้วบอกทำไม่ได้ เรื่องการเลี้ยงนี้อยู่ที่ใจ ถ้าใจคิดว่าทำได้ก็ทำได้ เพราะไม่ใช่งานหนักอะไรเลย

โรงเลี้ยงจิ้งหรีด

โรงเลี้ยงจิ้งหรีด
ในการลงสำรวจพื้นที่ตำบลหินลาดในเดือนมีนาคมนี้นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี้เพิ่มขึ้นอย่างละเอียดเพิ่มมากขึ้น และชาวบ้านที่นี้ก็ยังมีความน่ารัก ให้ความช่วยเหลือดีเหมือนเดิม เป็นกันเองเป็นอย่างมาก ทำให้การเก็บข้อมูลต่างๆ นั้นสะดวกและราบรื่นและสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

จิ้งหรีดที่เลี้ยงในโรงเลี้ยง

ภาพจิ้งหรีดตัวเล็ก