ชีวิตที่ดิ้นรน ของคนชนบท
โดย นางสาวปรารถนา ซื่อจริง
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

          สวัสดีเดือนมีนาคม เป็นอีกเดือนที่ฉันต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ในแต่ละวันที่ได้ลงพื้นที่ จะได้เจอกับชาวบ้านมากมาย วิถีชีวิตที่เรียบง่าย แตกต่างจากในสังคมเมือง ซึ่งชีวิตของชาวบ้านในละแวกนี้ ฉันนั้นคุ้นเคยดี เพราะว่าฉันนั้นก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน ฉันเป็นคนอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์นี่เอง
หลายๆ ครั้ง ที่ฉันต้องลงพื้นที่ ในโซนหมู่ ๙ ส่วนมาก บ้านแต่ละหลังมักจะไม่มีคนอยู่เลย ฉันก็ได้ถามเพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงได้ทราบมาว่า พวกเขาไปรับจ้างตัดอ้อยกันที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะไปเป็นประจำทุกๆ ปี ครั้งละ ๔ – ๕ เดือน และจะกลับบ้านมาพักที่บ้าน แล้วถ้ามีงานตัดอ้อยที่ไหนก็สัญจรไปเรื่อยๆ ทำให้ฉันคิดว่าชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ หรือคนในชนบท มักจะมีวิถีชีวิตที่ต้องจากบ้านไกล ต้องดิ้นรนเพราะไม่มีทางเลือก บางทีลูกหลานก็ต้องตามพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายไปตัดอ้อยด้วย ไม่ได้เรียนหนังสือ ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือไม่เด็กๆ เหล่านี้ก็ต้องหาอาชีพเสริมเพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้ปกครอง

นายอุไร อินทพัฒน์ อายุ ๕๖ ปี และภรรยา ครอบครัวหนึ่งในบรรดาชาวบ้านที่เพิ่งกลับมาจากรับจ้างตัดอ้อย ที่จังหวัดระยอง กล่าวว่า ครอบครัวตนไม่มีที่ดินทำกิน ต้องไปรับจ้างตัดอ้อยทุกปี เพื่อหาเงินใช้หนี้ ถ้าหมดฤดูการตัดอ้อยก็กลับมารับจ้างทั่วไปแถวหมู่บ้าน วนเวียนเป็นประจำไปทุกๆ ปี

และสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งที่ปกติสำหรับสังคมชนบท คือ ลูกหลานจะต้องดิ้นรนหางานทำในเมืองใหญ่หรือไปทำงานจากบ้านไปไกลเช่นกัน ต้องจำใจจากบุพการี และลูกเด็กเล็กแดง เพื่อหาเงินมาส่งเสียเลี้ยงดูลูก และพ่อแม่ หวังว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ทุกคนต่างก็ไม่อยากห่างไกลจากลูก ห่างไกลจากพ่อแม่ และห่างไกลจากบ้านเกิด แต่เป็นเพราะปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ทุกคนต้องดิ้นรน
คุณก็เคยเห็น และเคยสัมผัสพบเจอใช่ไหมคะ? เวลาที่เจอพ่อแม่ปู่ย่าตายายมักจะเฝ้ารอลูกหลานอยู่ที่บ้าน รอคอยว่าเมื่อไหร่ลูกหลานจะกลับมา เป็นสิ่งที่ทุกคนก็น่าจะเคยพบเจอเช่นเดียวกัน

วิดีโอของตำบล ประจำเดือนมีนาคม

อื่นๆ

เมนู