ข้าพเจ้านางสาวสุดารัตน์ มาทะวงษ์ ประเภท กพร. การปฏิบัติงานในเดือนเมษายน 2564 นี้ข้าพเจ้าทีมงานและคณะอาจารย์ได้ทำตามเป้าหมายที่ 8 ฝึกอบรมทักษะอาชีพ โดยการอบรมเชิงปฏิบัติงานเครื่องปั้นดินเผาเบื้องต้น ให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ ในวันที่ 7 – 9 เมษายน 2564 สถานที่คือศาลาประชาคม บ้านละหานทรายเก่าหมู่ 2 ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ สาเหตุที่ได้เลือกการอบรมอาชีพเรื่องเครื่องปั้นดินเผานั้นเพระว่าเครื่องปั้นดินเผาบ้านกรวด เป็นเครื่องเคลือบดินเผาโบราณที่มีอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ในแถบอีสานตอนใต้ โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก และในพื้นที่ตำบลหินลาดยังมี แหล่งเตาเผาโบราณนายเจียน ตั้งอยู่ที่บ้านถนนน้อย ต.หินลาด อ.บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเตาเผาโบราณอายุประมาณ 1,000 ปี มี 2 เตา ชื่อเตาเผานายเจียน และเตาเผาสวาย และได้พบเครื่องเคลือบโบราณจำนวนมาก คนโบราณใช้เผาเครื่องปั้นดินเผา หม้อ ไห ต่างๆ ลักษณะพื้นที่ที่พบเครื่องปั้นดินเผาพบหนาแน่นในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และยังพบกระจายตัวในเขตพื้นที่อีสานตอนใต้ ที่มีภูมิประเทศติดอยู่กับประเทศกัมพูชา ทำให้เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร หรือศิลปะลวปุระหรือลพบุรี มีลักษณะสำคัญคือ หนาและหนัก เนื้อแกร่ง นิยมตกแต่งด้วยการขูดขีดเป็นลวดลายต่างๆ และปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น นก ช้าง ไก่ เป็นต้น และนิยมเคลือบด้วยสีน้ำตาล
วัตถุดิบในการเตรียมเนื้อดินปั้นดินที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้มีส่วนประผสมของดินในตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนำมาผสมกับดินดำ (ดินคอมพาวด์เค) ในอันตราส่วน ดินพื้นบ้าน 50% ดินดำ (ดินคอมพาวดฺ์เค) 50% เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และยังได้ใช้วัตถุดิบในตำบล เพื่อต่อยอดให้ประชาชนที่สนใจในผลิตเครื่องปั้นดินเผา การขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผา นับว่ามีความจำเป็นและสำคัญมาก โดยการขึ้นรูปของเครื่องปั้นดินเผาเบื้องต้นนั้นก็ยังมีหลายวิธี ได้แก่ การขึ้นรูปแบบบีบกด การขึ้นรูปแบบเส้นขด การขึ้นรูปแบบแผ่น และการขึ้นรูปแบบแป้นหมุน
การขึ้นรูปที่ข้าพเจ้าจะมาแนะนำในครั้งนี้คือการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนนั้นเป็นการขึ้นรูปแบบทรงกลมโดยอาศัยเครื่องมือแป้นหมุน มีทั้งชนิดยืนและนั่ง ความเร็วที่ใช้ 2-3 จังหวะ ความเร็วรอของแป้นหมุนที่เป็นมาตรฐานประมาณ 80 รอบต่อนาที ดินที่นำมาปั้นต้องเป็นดินชนิดที่มีความเหนียวจึงจะช่วยให้การขึ้นรูปได้ผลดี การขึ้นรูปแบบแป้นหมุนต้องอาศัยการฝึกฝนและทักษะพอสมควร จึงจะสามารถขึ้นรูปได้ดี
หลักวิธีการขึ้นรูปบนแป้นหมุน
- การตั้งดินให้ได้ศูนย์ นับว่าสำคัญมากแล้วใช้มือทั้งสองกดและดึงดินขึ้นหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้ดินเกาะกับแป้นหมุน ข้อศอกและแขนจะต้องไม่แกว่ง ความเร็วของแป้นหมุนช่วงนี้จะต้องใช้ความเร็วสูง ใช้น้ำผสมเข้าช่วยในการตั้งศูนย์
- เมื่อตั้งดินได้ศูนย์ดีแล้ว ใช้หัวแม่มือกดดินให้ลึกลงไปเป็นรูกลวง แต่อย่าให้ลึกถึงแป้นหมุน
- การดึงดินขึ้น เทคนิคและวิธีการตอนนี้สำคัญมาก โดยใช้มือข้างซ้ายและข้าวขวาดึงดินขึ้น ให้ได้ความสูงตามต้องการ ในขณะที่ดึงดินขึ้นต้องให้อยู่ในแนวดิ่งอย่าให้เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ความเร็วที่ใช้ระดับปานกลาง
- การทำรูปทรงต่าง ๆ ใช้นิ้วมือกดและดันให้ได้รูปทรงตามต้องการหรือจะใช้เครื่องมือที่เตรียมไว้ก็ได้ ตอนปากรูปทรงไม่สม่ำเสมอควรใช้เครื่องมือตัดทิ้งเสียก่อนแล้วจึงค่อยขึ้นรูปใหม่
- ขึ้นตกแต่งหรือขั้นสำเร็จ ขึ้นนี้ต้องรอให้ดินที่ปั้นภาชนะหมาด ๆ เสียก่อน แล้วใช้เครื่องมือขูดผิวให้เรียบร้อย ใช้ฟองน้ำลูบให้เรียบอีกครั้ง
การแต่งก้น ควรแต่งบนแป้นหมุนที่มีดินรองรับ ใช้เครื่องมือมีคมแต่งแล้วใช้ฟองน้ำลูบทำให้เรียบร้อยขึ้น ส่วนการขึ้นรูปแบบบีบกด การขึ้นรูปแบบเส้นขด การขึ้นรูปแบบแผ่น การขึ้นรูปแบบจุด ก็น่าสนใจไม่แพ้การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน
สรุปผลการอบรมเชิงปฏิบัติงานเครื่องปั้นดินเผาเบื้องต้นในวันที่ 7-9 เมษายน 2564 ในครั้งนี้ได้เรียนรู้และฝึกทักษะการขึ้นรูปเบื้องต้นให้แก่ชาวบ้าน โดยการขึ้นรูปแบบบีบกด การขึ้นรูปแบบเส้นขด การขึ้นรูปแบบแผ่น และการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ข้าพเจ้าและทีมการได้ทำการสอนและถ่ายทอดเทคนิคการปั้นเครื่องปั้นดินเผาให้แกชาวบ้าน เพื่อรังสันชิ้นงานน้อยใหญ่ ตามความสนใจและความถนัดของชาวประชาชน ซึ่งประชาชนก็ให้ความสนใจและตั้งใจฝึกปั้นเครื่องปั้นดินเผา จึงได้รังสรรค์ชิ้นงานออกมามากมาย ทั้งแก้วชากาแฟ จานรองแก้ว ทั้งยังมีกระถ่างต้นไม้ แจกันใส่ดอกไม้อีกด้วย ข้าพเจ้าหวังว่าการอบรมเชิงปฏิบัติงานเครื่องปั้นดินเผาเบื้องต้นในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้ต่อยอดเพื่อสร้างเป็นอาชีพต่อไป
Video ของตำบล : https://youtu.be/L-6u0zhNsvk