ข้าพเจ้านายธนกฤต พูนวิเชียร ประเภท : นักศึกษา
การปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในเดือนมิถุนายน 2564
ข้าพเจ้ารับผิดชอบในพื้นที่ ตำบลหินลาด อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) รอบที่ 3 ในแต่ละพื้นที่ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มีเจ้าหน้าที่ อสม. คอยตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลเข้า – ออกภายในชุมชน และทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด จึงส่งผลให้การลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยาก และมีความเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ข้าพเจ้าและทีมงานได้ประชุมวางแผน เพื่อป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ฯ โดยกลุ่มนักศึกษาจำนวน 5 คน มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลลงผ่าน Application U2T ตำบลหินลาด สังกัดคณะเทคโนโลยีอุสาหกรรม หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผา อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจในกลุ่มของเกษตรกรในท้องถิ่น ตำบลหินลาด พบผู้ที่ทำอาชีพเกษตรกรเป็นจำนวนมาก และยังมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้มีผู้ที่เคยทำงานต่างจังหวัดกลับถิ่นกำเนิดของตนเอง และทำอาชีพเกษตรกร เพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ทั้งยังใช้จุนเจือในครัวเรือน
การลงข้อมูลผ่าน Application U2T
“ เกษตรกร ” มาจากคำภาษาสันสกฤต 2 คำ คือ 1. เกฺษตฺร แปลว่า ที่ดิน ที่นา 2. กร แปลว่า ผู้กระทำ ผู้สร้าง
“ เกษตรกร ” จึงมีความหมายตรง ๆ ว่า ผู้ทำงานในที่ดินหรือที่นา หมายถึง ผู้ที่อาศัยที่ดินที่นา เพื่อเพาะปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ ต่อมาขยายความรวมไปถึงผู้ที่ใช้แหล่งน้ำทำประมงด้วย เกษตรกรเป็นคำรวมที่ใช้เรียก ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อการค้า ถึงแม้ปัจจุบันเกษตรกรที่มีฐานะมักมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แต่สำหรับเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางและค่อนข้างต่ำถึงยากจนมักเช่าที่ดินทำกินมากกว่า สำหรับในประเทศไทย พบว่า ฐานะของเกษตรกรมีรายได้ลดลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี แต่อาชีพเกษตรกรก็ยังเป็นอาชีพที่จำเป็น เพราะผลผลิตจากเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา อ้อย มัน และสัตว์ต่าง ๆ เพื่อบริโภคและจำหน่าย เสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนให้ดีขึ้น
ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “ สติ ปัญญา และความเพียร ” ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 – 18 มิถุนายน 2564
ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและสาธิต Exhibition ผลงานเครื่องเคลือบดินเผาร่วมสมัย ณ อาคาร 18 ชั้น 1 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
สามารถติดตามรับชมนิทรรศการผ่านระบบออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ แฟนเพจ Facebook : กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผา อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
ผลสรุปการปฏิบัติงานประจำเดือนมิถุนายน
เป็นการประชุมอบรมการวางแผนต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในแต่ละพื้นที่ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง การป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ มีเจ้าหน้าที่ อสม. คอยตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลเข้า – ออกภายในชุมชน ซึ่งทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด จึงส่งผลให้การลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล และการจัดอบรมตามโครงการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยาก แต่ทางผู้ปฏิบัติงานทุกคนในตำบลหินลาด ได้ช่วยการแสดงความคิดเห็นในการวางแผนการรับมือ และป้องกันตนเองกับสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี